แม้ว่าฟินแลนด์จะเป็นตลาดขนาดเล็ก แต่มีมูลค่าการบริโภคกว่า 2 หมื่นล้านยูโร และจากตัวเลขการบริโภคดังกล่าว ทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮลซิงกิเห็นว่า จะเป็นโอกาสสำหรับภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการสินค้าบริโภค ที่สนใจจะเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดสินค้าบริโภคของฟินแลนด์มากขึ้น
แนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคของคนฟินแลนด์
ซึ่งการจะเข้าสู่ตลาดฟินแลนด์ ต้องทำความรู้จักตลาดและพฤติกรรมการบริโภคสินค้าบริโภคของคนฟินแลนด์กันก่อน โดยในช่วง 10-20 ปี ที่ผ่านมา อาหารหรือสินค้าจากอิตาลีและสเปนเป็นที่นิยมของคนฟินแลนด์ ต่อมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคสินค้าบริโภคของคนฟินแลนด์ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยสินค้าจากเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น และไทย ได้รับความนิยมสูงมากขึ้น และปัจจุบัน สินค้า vegan เป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดฟินแลนด์ จากแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคสินค้าบริโภคของคนฟินแลนด์ข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า “สินค้าบริโภคไทย รวมถึงสินค้า vegan” จะเป็นโอกาสสำคัญของการเจาะตลาดฟินแลนด์ในยุคนี้
วิธีการเข้าสู่ตลาดฟินแลนด์
จากข้อมูลข้างต้น ทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ได้เสนอแนะวิธีการเข้าสู่ตลาดฟินแลนด์สำหรับผู้ประกอบการไทย 2 วิธี ประกอบด้วย วิธีที่ 1 มีความร่วมมือกับบริษัทจัดจำหน่ายรายใหญ่ ได้แก่ (1) เครือ S หรือ S Group (S Market/ Prismar และ Alepa) ครองตลาดทั่วฟินแลนด์ร้อยละ 47 โดยสินค้าไทยที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตของกลุ่มบริษัท S Group เช่น อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน (Kitchen Joy) แกงบรรจุกระป๋องพร้อมรับประทาน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าว ซอสปรุงรส เป็นต้น (2) Kesko หรือ K Group มีสัดส่วนในตลาดฟินแลนด์ร้อยละ 36 (สินค้ามีราคาสูงกว่า S Group) ทั้งนี้ ทั้งสองบริษัทดังกล่าว ยังให้ความสำคัญกับเรื่อง food waste และ product shelf life ซึ่งบริษัทผู้นำเข้าที่สนใจร่วมธุรกิจต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการกำจัดสินค้าที่หมดอายุด้วยตนเอง และ (3) บริษัท Lidl มีสัดส่วนตลาดประมาณร้อยละ 10 (สินค้าบริโภคจากเอเชีย รวมทั้งไทย สั่งตรงมาจากเยอรมนีหรือยุโรปกลาง ซึ่งเป็นฐานกระจายสินค้า) และวิธีที่ 2 เข้าร่วมงานจัดแสดงสินค้าอาหาร Gastro Helsinki ของฟินแลนด์ เนื่องจากเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการประชาสัมพันธ์สินค้าบริโภคของตนเองได้โดยตรง
ความท้าทายของการเข้าสู่ตลาดฟินแลนด์
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการและผู้ส่งออกสินค้าไทยที่เกี่ยวข้อง หากสนใจหรือประสงค์ที่จะส่งออกสินค้าบริโภคไปยังฟินแลนด์เพื่อเจาะตลาดเพิ่มเติม ควรศึกษากฎระเบียบการนำเข้าของฟินแลนด์อย่างละเอียด ทั้งนี้ การนำสินค้าบริโภคใหม่ ๆ และผลิตภัณฑ์ vegan เพื่อจัดจำหน่ายในฟินแลนด์ควรจะมีการทดลองตลาด (market testing) ก่อนการขยายผลเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ (scale up) เพื่อดูกระแสและแนวโน้มการบริโภคสำหรับความสามารถในการจัดจำหน่ายได้ในระยะยาว รวมถึงการสำรวจแนวโน้มตลาดและพฤติกรรมการบริโภคโดยรวมของฟินแลนด์อย่างต่อเนื่อง เพื่อโอกาสในการจำหน่ายสินค้าในอนาคต
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์