ประเทศกำลังพัฒนา 17 ประเทศ รวมถึงไทยได้มีหนังสือถึงผู้นำสูงสุดของ 4 สถาบันของ EU ได้แก่ ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ประธานคณะมนตรียุโรป ประธานสภายุโรป และ ประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป เพื่อขอให้ EU ทบทวนการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR มีใจความสำคัญ ดังนี้
- แสดงความห่วงกังวลต่อกฎหมาย EUDR ที่จะส่งผลให้ EU เป็นผู้พิจารณาเรื่องพื้นที่เสี่ยงการตัดไม้ทำลายป่าเพียงฝ่ายเดียว (unilateral benchmarking) ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ WTO
- ขอให้ EU หารือรับฟังประเทศผู้ผลิต ในการออกแนวปฏิบัติ (guideline) ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการยื่นรายงาน due diligence ของผู้นำเข้า โดยควรมีความยืดหยุ่นในเรื่องระบุข้อมูล GPS พื้นที่เพาะปลูก การตรวจสอบย้อนกลับ เป็นต้น เพื่อลดอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศของประเทศกำลังพัฒนา
- ขอให้ EU พิจารณาในมิติผลกระทบเรื่องภาระค่าใช้จ่าย ขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นเกินความจำเป็นของผู้ผลิต ผู้นำเข้า โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยซึ่งอาจได้รับผลพวงจากกฎหมาย EUDR ทั้งนี้ ประเทศกำลังพัฒนามีเป้าหมายและต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าอยู่แล้ว รวมถึงยึดมั่นพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศเช่นเดียวกับ EU
กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 กำหนดให้ผู้นำเข้า ผู้ผลิตของ EU ในสินค้า 7 ประเภท ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เนื้อวัว ไม้ กาแฟ โกโก้ ถั่วเหลือง และสินค้าปลายน้ำบางรายการต้องยื่น Due Diligence statement รับรองว่าสินค้าดังกล่าวไม่ได้มาจากพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่า โดยผู้ส่งออกจะต้องส่งข้อมูลพิกัด GPS และหลักฐานประเภทที่ดินให้แก่ผู้นำเข้าของ EU เพื่อจัดทำรายงานรับรองสินค้า ทั้งนี้ กฎหมาย EUDR ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเกษตรกรและผู้ส่งออกของไทยกว่า 1.7 ล้านครัวเรือน ซึ่งการส่งออกของสินค้ารวม 7 ประเภทไปยังตลาด EU คิดเป็น 6.2 หมื่นล้านบาทในปี พ.ศ. 2564
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลล์ / คณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป