จากสถิติปี 2560 สหภาพยุโรปนำเข้าน้ำมันปาล์มมากเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากอินเดีย) ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มของสหภาพยุโรปมีทั้งหมดประมาณ 10 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 6,000 ล้านยูโร โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกันมากกว่า 75% ของมูลค่าการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากประเทศที่สามทั้งหมด น้ำมันปาล์มที่นำเข้าจะถูกนำไปผลิตไบโอดีเซล (46%) ใช้ผลิตอาหารคน อาหารสัตว์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรม (45%) ส่วนที่เหลือใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อน (9%) [su_spacer size=”20″]
ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซลของสหภาพยุโรปที่ผ่านมาเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากกฎระเบียบพลังงานหมุนเวียนของสหภาพยุโรปหรือ Renewable Energy Directive (RED) 2009/28/EC ที่กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนของสหภาพยุโรปไว้ที่ 20% ภายในปี 2563 และกำหนดการใช้พลังงานในภาคขนส่งของประเทศสมาชิกฯ อย่างน้อย 10% จะต้องมาจากพลังงานหมุนเวียน [su_spacer size=”20″]
กฎระเบียบ RED กระตุ้นให้ความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันไบโอดีเซล โดยปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นจาก 8% ในปี 2553 เป็น 48% ในปี 2558 แต่ถูกโจมตีว่าสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกระบวนการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 3 เท่า อีกทั้งการขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มในเขตร้อนนำมาซึ่งปัญหาการบุกรุกป่า ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ การล้มพืชอาหารเพื่อปลูกพืชพลังงาน และเป็นการละเมิดสิทธิและสวัสดิภาพแรงงาน สหภาพยุโรปจึงได้ทบทวนเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนในภาคขนส่งใหม่เมื่อปี 2558 โดยจำกัดการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชไว้ที่ 7% จากเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนในภาคขนส่งที่ 10% และกำหนดให้น้ำมันปาล์มที่นำมาผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจะต้องผ่านการรับรองว่าไม่ส่ง ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทางอ้อม (indirect land use change – ILUC) [su_spacer size=”20″]
ต่อมาสหภาพยุโรปได้ตั้งเป้าหมายยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากพืช เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 คณะกรรมาธิการยุโรป คณะมนตรียุโรป และสภายุโรปได้ตกลงเห็นชอบร่วมกันเรื่องการปรับปรุงกฎระเบียบพลังงานหมุนเวียนใหม่หรือที่เรียกกันว่า RED II โดย [su_spacer size=”20″]
- กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนของสหภาพยุโรปไว้ที่อย่างน้อย 32% ภายในปี 2573 (แทนเป้าหมายเดิม 27%) และอาจปรับเป้าหมายดังกล่าวเพิ่มขึ้นในปี 2566
- กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคขนส่งไว้ที่ 14% ภายในปี 2573 โดยประเทศสมาชิกฯ สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชต่อไปได้ แต่ต้องไม่เกิน 7% ภายในปี 2563 ส่วนที่เหลือจะต้องมาจากไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงชีวภาพที่ไม่ได้ผลิตมาจากพืชอาหาร
- เชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuels) ของเหลวชีวภาพ (bioliquids) หรือชีวมวล (biomass) ที่ผลิตจากพืชอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อการ เปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทางอ้อม (ILUC) และเพาะปลูกในบริเวณที่มี การสะสมของคาร์บอนสูงจะต้องถูกจำกัดการใช้ไว้ไม่เกินระดับในปี 2562 และค่อย ๆ ยกเลิกไปภายในปี 2573 [su_spacer size=”20″]
แม้กฎระเบียบ RED II ไม่ได้เจาะจงห้ามใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตมาจากน้ำมันปาล์ม แต่น่าจะเป็นพืชที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชชนิดอื่น ซึ่งกฎระเบียบ RED II จะส่งผลให้การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชของสหภาพยุโรปลดลงตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป และให้การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชหมดไปภายในปี 2573 โดยประเทศสมาชิกฯ ต้องให้การสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพขั้นสูง (advanced biofuels) หรือพลังงานทดแทนประเภทอื่น ๆ มาแทนที่ [su_spacer size=”20″]
ในส่วนผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันปาล์มมายังตลาดสหภาพยุโรป แม้ว่า RED II ของสหภาพยุโรปกำหนดให้ประเทศสมาชิกฯ ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชต่อไปได้อีก 12 ปี แต่ผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มไปยังสหภาพยุโรปมีแนวโน้มเผชิญกับเกณฑ์ความยั่งยืนของชีวมวลที่นำมาใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทางอ้อม (ILUC) ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลในสหภาพยุโรปจะค่อย ๆ ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้น้ำมันปาล์มมีราคาลดลงจากอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซียอาจทำการส่งออกไปยังตลาดอื่นทดแทน อาทิ อินเดีย จีน และประเทศในทวีปแอฟริกา [su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้ ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 45% ของการนำเข้าน้ำมันปาล์มทั้งหมดหรือมากกว่า 3 ล้านตัน/ปี จะได้รับประโยชน์จากราคาที่ลดลง โดยภาคอุตสาหกรรมอาจเปลี่ยนมาใช้น้ำมันปาล์มแทนน้ำมันพืชชนิดอื่นที่มีราคาสูงกว่า อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันปาล์มเพื่อผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคควรผ่านการรับรองมาตรฐานความยั่งยืน อาทิ มาตรฐาน Certified Sustainable Palm Oil (CSPO), Rainforest Alliance และ International Sustainability and Carbon Certification (ISCC) ตามรูปแบบความต้องการของผู้บริโภคในยุโรป [su_spacer size=”20″]
ทั้งนี้ จะเห็นได้จากบริษัทผลิตอาหารขนาดใหญ่อย่างช็อคโกแลต Nutella, Ferrero Roche, Kinder, Mars, m&m, รวมถึงอาหารสัตว์ Pedigree, whiskas, Royal Canin และอื่น ๆ ต่างใหัคำมั่นว่าบริษัทจะใช้วัตถุดิบจากน้ำมันปาล์มที่มีมาตรฐานความยั่งยืนเท่านั้น โดยตัวเลขการนำเข้าน้ำมันปาล์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานความยั่งยืนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารของสหภาพยุโรปก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 300,000 ตันในปี 2555 เป็น 2.5 ล้านตันในปี 2559 [su_spacer size=”20″]
ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกและมีผลผลิตปาล์มมากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีผลผลิต 13.5 ล้านตัน และสกัดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 2.5 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 3.8% เมื่อเทียบกับผลผลิตน้ำมันปาล์มทั่วโลกแล้วหมายถึงไทยถือว่าไม่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางราคาในตลาดโลกเลย ผลผลิตส่วนใหญ่เป็นการใช้ในประเทศ อาทิใช้ผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เคมีภัณฑ์ ไบโอดีเซล ฯลฯ สำหรับการส่งออกไทยเน้นส่งไปตลาดอาเซียนเป็นหลัก ในขณะที่การส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรปคิดเป็นสัดส่วนเล็กน้อย และมีแนวโน้มลดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา [su_spacer size=”20″]
การส่งออกน้ำมันปาล์มจากไทยไปสหภาพยุโรป | ปี 2556 | ปี 2557 | ปี 2558 | ปี 2559 | ปี 2560 |
ปริมาณ (ตัน) | 226,043 | 107,956 | 5,491 | 5,275 | 2,515 |
มูลค่า (ล้านยูโร) | 146.9 | 74.8 | 4.6 | 5.6 | 2.4 |
ในด้านการส่งออกน้ำมันปาล์มไปตลาดสหภาพยุโรป กฎระเบียบ RED II อาจไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทย เนื่องจากไทยมีส่วนแบ่งการตลาดในสหภาพยุโรปเพียงเล็กน้อย ไม่สามารถแข่งกับอินโดนีเซียหรือมาเลเซียที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าได้ อย่างไรก็ตาม ไทยควรมุ่งไปที่ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและอื่น ๆ เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่มีความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานหรืออาหารสำเร็จรูปที่ล้วนมีน้ำมันพืชเป็นส่วนประกอบ นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการอาหารและร้านค้าปลีกในสหภาพยุโรปได้ตั้งเป้าหมายให้มีการใช้วัตถุดิบจากน้ำมันปาล์มที่มีมาตรฐานความยั่งยืนทั้งหมดภายในปี 2563 (Toward 100% sustainable palm oil in Europe by 2020) ซึ่งจะกระตุ้นให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้นในอนาคต [su_spacer size=”20″]
ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบหรืออาหารที่ส่วนผสมของน้ำมันปาล์มควรปฏิบัติตามมาตรฐานความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มา ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคว่าธุรกิจมีส่วนสนับสนุนความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและลดการบุกรุกผืนป่า [su_spacer size=”20″]
แม้ว่ากฎหมายไม่ได้บังคับเรื่องการใช้น้ำมันปาล์มจากกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน แต่จากกระแส ความต้องการของผู้บริโภคและความมุ่งมั่นของภาคธุรกิจเป็นส่วนขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งเสริมให้น้ำมันปาล์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานความยั่งยืนมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนครอบคลุมหลายด้าน [su_spacer size=”20″]
- สิ่งแวดล้อม : ไม่บุกรุกป่าหรือพื้นที่มีการ สะสมของคาร์บอนสูง ห้ามเผาป่า ลดการปล่อย GHG ก๊าซมีเทน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ใช้ ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รู้จักนำกลับมาใช้ใหม่
- การตลาด : กระบวนการผลิตต้องสามารถ ตรวจสอบย้อนกลับได้ มีความโปร่งใส
- สิทธิมนุษยชน : สนับสนุนสิทธิและเสรีภาพแรงงาน มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยปราศจากการบังคับใช้แรงงาน แรงงานทาสและแรงงานเด็ก มีสัญญาจ้างงานที่ชัดเจน เป็นธรรม
- ด้านสังคม : ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อย เข้ามามีส่วนร่วมในมาตรฐานความยั่งยืน เคารพ ในสิทธิการถือครองที่ดิน สิทธิของชุมชน [su_spacer size=”20″]
การสนับสนุนการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน จะก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ช่วยยกระดับ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มให้ดีขึ้น ส่วนภาคธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบจากน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนก็มีส่วนเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และแสดงถึงจริยธรรมขององค์กร [su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป