ยุโรปถือเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาด้านนวัตกรรมสูง เนื่องจากภาคเศรษฐกิจนวัตกรรมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของยุโรปอย่างมาก โดยสองในสามของการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรปในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้รับแรงหนุนจากนวัตกรรมทั้งสิ้น และการวิจัยและนวัตกรรมก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยสหภาพยุโรปรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 อีกด้วย ทั้งนี้ ทุกปีคณะกรรมาธิการยุโรปจะทำการเผยแพร่ตารางคะแนนนวัตกรรมของยุโรป (European Innovation Scoreboard) ซึ่งเป็นรายงานวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขัน ด้านนวัตกรรมของประเทศสมาชิก EU เปรียบเทียบทั้งประเทศในกลุ่ม EU และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศสมาชิกและสหภาพยุโรปสามารถประเมินความพยายามที่จะต้องมุ่งเน้นพัฒนาต่อไป
[su_spacer]
[su_spacer]
ตารางคะแนนนวัตกรรมของยุโรปแบ่งระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของ 27 ประเทศสมาชิก ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) ผู้นำนวัตกรรม (Innovative Leaders) (2) ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมระดับสูง (Strong Innovators) (3) ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมระดับกลาง (Moderate Innovators) และ (4) ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมพอประมาณ (Modest Innovators) ซึ่งตารางคะแนนประจำปี 2563 หรือ “European Innovation Scoreboard 2020” เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ระบุว่า EU มีคะแนนความสามารถเฉลี่ยด้านนวัตกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 สูงที่สุดในรอบ 8 ปี (2555-2562) โดยมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านเครือข่ายสื่อสารไร้สาย (Broadband penetration) ตลอดจนเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D)
[su_spacer]
โดยที่ยุโรปมีสัดส่วนการวิจัยและพัฒนาถึงร้อยละ 20 ของการลงทุนทั้งหมดของโลก ในขณะที่มีประชากรเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจหาก EU จะเป็นประเทศชั้นนำของโลกในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นยาและเคมีภัณฑ์ วิศวกรรมเครื่องกล ฯลฯ นอกจากนี้ EU ยังได้สนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมผ่านเทคโนโลยี ที่สำคัญ อาทิ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับแสง (Photonics) และเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปจะทำการติดตามระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมกว่า 40 อุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการรายงานผลการติดตามและการประเมินทุก ๆ ปี หรือทุกครึ่งปี เพื่อนำไปสู่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปอย่างเป็นองค์รวม
[su_spacer]
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ EU มีความสามารถด้านนวัตกรรมเป็นอันดับ 5 รองจากเกาหลีใต้ แคนาดา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น โดยนำหน้าทั้งสหรัฐฯ และจีนซึ่งอยู่อันดับ 6 และ 7 ตามลำดับ ตลอดจนประเทศอื่น ๆ ใน 10 อันดับแรกของโลก ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย บราซิล หรือแอฟริกาใต้ นอกจากนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นว่าการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 ไม่ได้ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมของ EU เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลก
[su_spacer]
นอกเหนือจากการจัดทำ Innovation Scoreboard เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันแล้ว คณะกรรมาธิการฯ ยังได้จัดทำ European Design Leadership Board เพื่อชี้นำแนวทางการออกแบบที่ชาญฉลาดไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าสูงและยกระดับการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ มากขึ้น ซึ่งแต่ละโครงการก็ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญ ในการสนับสนุนการฟื้นตัวของภูมิภาคยุโรป รวมถึงการปรับตัวของ EU เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม
[su_spacer]
แม้นวัตกรรมจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจยุโรปและโลกขยายตัว แต่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำมาซึ่งปัญหาภาวะโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในปี 2030 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากระดับในปัจจุบัน ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 0.5-1.5 องศาเซลเซียสภายใน 20 ปีข้างหน้า โลกจึงต้องการนวัตกรรมที่ไม่เพียงแต่จะเพิ่มขีดความสามารถและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังต้องสนับสนุนการขยายตัวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการแข่งขันและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคต
[su_spacer]
ประเทศไทยเป็นอีกประเทศที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้ก้าวไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เห็นได้จากนโยบาย “Thailand 4.0” ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาคและยกระดับกลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง หากพิจารณาจากรายงานดัชนีนวัตกรรมโลก Global Innovation Index 2019 ซึ่งได้รับการจัดทำร่วมกันโดยมหาวิทยาลัย Cornell สถาบัน INSEAD และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization-WIPO) พบว่าไทยถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 43 จาก 129 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในลำดับที่ 3 ของภูมิภาคอาเซียน ตามหลังเพียงสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น
[su_spacer]
แม้ว่าไทยจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ไทยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรหันมาเร่งกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการบริหารจัดการภายใต้แนวคิดและรูปแบบใหม่ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและระดับท้องถิ่น โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมจำนวนมากพอที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้ไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจสังคมฐานความรู้ (knowledge-based society) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกได้อย่างยั่งยืน
[su_spacer]
พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ info@globthailand.com
[su_spacer]
ที่มารูปภาพ:
https://www.ekt.gr/en/news/23362
[su_spacer]
ที่มาข้อมูล:
http://www.kriengsak.com/Necessity-of-Innovation-On-the-growth-of-the-world-economy
http://www3.weforum.org/docs/WEF_TheGlobalCompetitivenessReport2019.pdf
https://ifi.nia.or.th/global-innovation-index-gii/
[su_spacer]
โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด