เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 สหภาพยุโรป (EU) ได้ผ่านกฎหมายบังคับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กที่จะจำหน่ายใน EU ตั้งแต่ปี 2035 เป็นต้นไปต้องเป็นรถยนต์ไร้มลพิษ (Zero-emission vehicle: ZEV) เท่านั้น อย่างไรก็ดี หลายค่ายบริษัทรถยนต์กังวลว่าจะปรับตัวไม่ทันจึงเรียกร้องให้ EU ขยายเวลาการทยอยเลิกจำหน่ายรถยนต์เชื้อเพลิงสันดาป รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ e-fuels ออกไปเป็นหลังปี 2035
รถยนต์ไร้มลพิษ (Zero-emission vehicles: ZEV)
รถยนต์ไร้มลพิษ (ZEV) หมายถึง รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) และรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) ซึ่งกฎหมายจะกำหนดให้รถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กประเภท ZEV เท่านั้นที่สามารถขายได้ในปี 2035 เท่ากับว่า บริษัทรถยนต์ไม่สามารถขายรถยนต์เชื้อเพลิงสันดาป หรือรถยนต์ไฮบริดที่ใช้เชื้อเพลงสันดาปได้อีกต่อไป อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับนี้จะไม่กระทบการใช้รถยนต์เชื้อเพลิงสันดาปที่ได้วิ่งอยู่บนท้องถนนแล้วก่อนปี 2035
การผ่านกฎหมายดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการช่วงเปลี่ยนผ่านของ EU ที่พยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานไฮโดรเจน และพยายามบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ซึ่งปรากฏความพยายามของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่เกี่ยวกับการจัดหาพลังงาน เช่น การพัฒนาโครงการจัดหาพลังงานไฮโดรเจนร่วมกันระหว่างโครเอเชีย-สโลวีเนีย-ออสเตรีย ภายใต้กฎระเบียบของ EU
ทั้งนี้ ภาคการขนส่งเป็นอีกหนึ่งคลัสเตอร์ที่ EU มีความพยายามอย่างจริงจังในการบรรลุเป้าหมาย โดยได้กำหนดเป้าหมายระยะกลางว่า จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ใหม่ให้ได้ 55% และจากรถตู้ใหม่ให้ได้ 50% ภายในปี 2030 โดยมุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมการขายรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์เชื้อเพลิงสันดาป โดยพยายามทำให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้ามีราคาถูกกว่า เช่น การส่งเสริมการขายรถยนต์ zero-and low-emission vehicles (ZLEV) รถยนต์ไฮบริดและ e-fuels ไปจนถึงปี 2030 ในขณะที่กำหนดค่าปรับ 95 ยูโรต่อ 1 กรัมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อกิโลเมตร (g Co2/km) สำหรับบริษัทรถยนต์ที่จำหน่ายรถยนต์เชื้อเพลิงสันดาปเกินเพดาน เป็นต้น
ข้อห่วงกังวลของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหภาพยุโรป
ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ของ EU ยังมีข้อห่วงกังวลหลายประการว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ zero-emission vehicles ภายในปี 2035 อาจเป็นเป้าหมายที่สูงเกินไป และหากขาดการเตรียมพร้อมที่ดีอาจส่งผลเสียต่อ EU เอง เช่น
1. การบังคับให้จำหน่ายเฉพาะรถยนต์ ZEV จะทำให้รถยนต์ใหม่มีราคาแพง อาจผลักดันให้ประชาชนไปซื้อหารถยนต์มือสองซึ่งจะทำให้มีรถยนต์เก่าวิ่งบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้น
2. ผลกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ของ EU ที่มีการประเมินว่า อาจมีคนตกงานกว่า 600,000 คนจากการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจำเป็นต้องมีการฝึกทักษะใหม่ให้กับแรงงานกลุ่มนี้ก่อน (upskill และ reskill)
3. ความต้องการใช้แร่ธาตุหายากของ EU จะเพิ่มขึ้นมาก เช่น ลิเธียม โคบอลท์ กราไฟท์ นิกเกล ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ ในขณะที่ EU ไม่มีแหล่งแร่ธาตุเหล่านี้จึงจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาก เช่น จีน ซึ่งมีแหล่งแร่ธาตุหายากสำรองมากที่สุดในโลก
4. ความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น สถานีชาร์จรถไฟฟ้า เป็นต้น
EU วางแผนทบทวนกฎหมายในปี ค.ศ. 2026
โดยคำนึงถึงข้อห่วงกังวลของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ EU จึงได้กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับดังกล่าวว่าจะมีการทบทวนอีกครั้งในปี 2026 โดยคำนึงถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไฮบริดและ e-fuels ที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนตัวแปรอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเดินหน้าของ EU เช่น ประเด็นเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์
ภาคขนส่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 25% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดใน EU (เป็นรองเพียงภาคพลังงาน) และรถยนต์เป็นยานพาหนะที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ดังนั้น กฎหมายห้ามจำหน่ายรถยนต์เชื้อเพลิงสันดาปตั้งแต่ปี 2035 ฉบับนี้จึงเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนของ EU ที่ต้องการมีบทบาทนำเพื่อเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือศูนย์ภายในปี 2050
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ / คณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป
และ สถานเอกอัครราชทูต / คณะผู้แทนถาวรฯ ณ กรุงเวียนนา
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์