เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 สหราชอาณาจักรได้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป สิ้นสุดการเป็นสมาชิกนาน 47 ปี อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรยังคงต้องเจรจาความตกลงฉบับใหม่เพื่อกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างกัน ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 ธันวาคม 2563 จึงเรียกว่าเป็น “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” หรือ “transition period” ที่ทั้งสองฝ่ายจะเข้าสู่โต๊ะเจรจาเพื่อกำหนดกฎกติกาใหม่ระหว่างกันในมิติที่หลากหลายทั้งการค้า การลงทุน การประมง สิทธิพลเมือง ความร่วมมือด้านตำรวจและยุติธรรม เป็นต้น ทั้งนี้ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน กฎหมายสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ยังคงบังคับใช้กับสหราชอาณาจักร และประชาชนยังมีเสรีภาพในการเดินทางระหว่างกันจนถึงสิ้นปี 2563
[su_spacer]
การเจรจาความสัมพันธ์สหภาพยุโรป-สหราชอาณาจักร ภายหลัง Brexit มีขึ้นแล้วรวม 4 ครั้ง โดยรอบแรกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 มีนาคม 2563 ณ กรุงบรัสเซลส์ หลังจากนั้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในยุโรป ทำให้คณะเจรจาทั้งสองฝ่ายต้องปรับมาใช้การประชุมผ่านระบบวิดีโอคอล โดยมีการจัดการเจรจาอีก 3 รอบในช่วงวันที่ 20-24 เมษายน วันที่ 11-15 พฤษภาคม และวันที่ 2-5 มิถุนายน 2563
[su_spacer]
[su_spacer]
การเจรจามาได้ครึ่งทางแล้ว…แต่ยังไร้ความคืบหน้า
[su_spacer]
สหภาพยุโรปยืนยันท่าทีว่า จะยอมเปิดตลาดให้สหราชอาณาจักรแบบปลอดภาษีและปลอดโควตา (zero tariffs, zero quotas) ก็ต่อเมื่อสหราชอาณาจักรยอมรับกฎเกณฑ์เพื่อสร้างความเสมอภาคในการแข่งขันทางธุรกิจ (level playing field) และสิทธิของชาวประมงยุโรปในน่านน้ำของสหราชอาณาจักรเท่านั้น นอกจากประเด็นเรื่องการค้าแล้ว ยังมีอีก 2 ประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายยังหาทางออกร่วมกันไม่ได้ ได้แก่ เรื่องความร่วมมือทางอาญา และเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักร (governance)
[su_spacer]
1. หลักการสร้างความเสมอภาคในการแข่งขันทางธุรกิจ หรือ “level playing field” ฝ่ายสหภาพยุโรปตั้งเป็นกฎเหล็กว่า สหราชอาณาจักรจะต้องยอมรับที่จะอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และมาตรฐานของสหภาพยุโรปต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขัน เช่น มาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาษี กฎระเบียบเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือของรัฐ และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น นาย Michel Barnier หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรปกล่าวว่า ฝ่ายสหราชอาณาจักรไม่ต้องการที่จะปฏิบัติตามกฎหมายปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล General Data Protection Regulation ค.ศ. 2018 ของสหภาพยุโรปอีกต่อไป และยังจะให้สหภาพยุโรปขัดกฎหมายและคำพิพากษาของศาลยุโรปเองอีกในเรื่องการเก็บข้อมูลผู้โดยสารเครื่องบินหรือ Passenger Name Record โดยฝ่ายสหภาพยุโรปมองว่า หากยอมให้มีการใช้มาตรฐานที่ต่างกัน ก็อาจทำให้บริษัทของสหราชอาณาจักรดำเนินธุรกิจได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าบริษัทยุโรป และได้เปรียบบริษัทยุโรปอย่างไม่เป็นธรรม
[su_spacer]
2. การประมง ตามกฎหมาย Common Fisheries Policy ของสหภาพยุโรป เรือประมงของทุกประเทศสมาชิกมีสิทธิเข้าไปทำประมงในน่านน้ำของสมาชิกประเทศอื่นได้อย่างเต็มที่ (ยกเว้นทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล) ดังนั้น ที่ผ่านมา จึงมีชาวประมงของประเทศข้างเคียง เช่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี เข้าไปทำประมงในน่านน้ำของสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นแหล่งจับปลาสำคัญและได้ประโยชน์ที่ฝ่ายสหราชอาณาจักรมองว่าไม่เป็นธรรม และต้องการใช้ Brexit เป็นโอกาสในการทวงคืน “อธิปไตย” เรื่องการประมงกลับมาจากสหภาพยุโรป โดยเสนอวิธีการจัดสรรโควตาจับปลาใหม่ เรียกว่า “zonal attachment” ที่โยงสิทธิในการจับปลากับปริมาณปลาที่มีอยู่ในน่านน้ำของแต่ละประเทศ ซึ่งจะทำให้โควตาการจับปลาของสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่โควตาการจับปลาของประเทศยุโรปอื่นจะน้อยลงอย่างมาก นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังต้องการเจรจาการจัดสรรโควตาเป็นรายปี ในขณะที่ฝ่ายสหภาพยุโรปพยายามคงโควตาปัจจุบันไว้และต้องการจัดทำความตกลงกำหนดโควตาอย่างถาวร เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้กับอุตสาหกรรมประมงของตนภายหลัง Brexit
[su_spacer]
3. ความร่วมมือทางอาญา สหภาพยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีความร่วมมือทางอาญาระหว่างกันสูง ทั้งในระดับตำรวจและระดับศาล เช่น หมายจับ European Arrest Warrant และองค์การตำรวจของสหภาพยุโรป (Europol) การที่สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรจะมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกันต่อไปในเรื่องการปราบปรามอาชญากรรมก็น่าจะเป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปตั้งเงื่อนไขว่า หากสหราชอาณาจักรจะต้องการเข้าถึงฐานข้อมูลของ Europol ต่อไป สหราชอาณาจักรก็จะต้องยอมรับเขตอำนาจของศาล European Court of Justice เช่นกัน ซึ่งสหราชอาณาจักรไม่ต้องการ และประสงค์ทวงคืน “อธิปไตย” ด้านงานยุติธรรม นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังแสดงท่าทีที่จะลดพันธกรณีของตนภายใต้ European Convention on Human Rights เพราะไม่พอใจกับคำพิพากษาของศาล European Court of Human Rights (ซึ่งก่อตั้งโดย European Convention Human Rights และเป็นคนละศาลกับ European Court of Justice) ในหลายคดี เช่น เรื่องสิทธิการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของผู้ต้องขัง เรื่องอำนาจของตำรวจในการขอค้นตัว และสิทธิของผู้ต้องหาในคดีผู้ร้ายข้ามแดน เป็นต้น
[su_spacer]
4. โครงสร้างการบริหารจัดการความสัมพันธ์สหภาพยุโรป – สหราชอาณาจักร (governance) ฝ่ายสหภาพยุโรปยืนยันที่จะจัดทำความตกลงครอบคลุมรอบด้าน (comprehensive agreement) ฉบับเดียวซึ่งมีทั้งมิติเศรษฐกิจ ความมั่นคงและสังคม รวมทั้งให้มีข้อบททั่วไปเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทกรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิดพันธกรณี อย่างไรก็ดี ฝ่ายสหราชอาณาจักรต้องการแยกการเจรจาแต่ละเรื่องออกจากกัน ไม่นำมาโยงกัน และแยกออกเป็นความตกลงหลายฉบับ ซึ่งเป็นสิ่งที่นาย Michel Barnier หัวหน้าคณะผู้แทนของสหภาพยุโรป ยังคงยืนยันว่าจะไม่ยอมให้ฝ่ายสหราชอาณาจักรเลือกเอาแต่สิ่งที่ตัวเองได้ประโยชน์หรือ cherry-picking
[su_spacer]
[su_spacer]
Key dates ในช่วงครึ่งปีหลัง
[su_spacer]
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ผู้นำสหภาพยุโรป ได้แก่ นาย Charles Michel ประธานคณะมนตรียุโรป (European Council) นาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และนาย David Sassoli ประธานสภายุโรป ได้หารือทางโทรศัพท์กับนาย Boris Johnson นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะไม่ต่ออายุช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นี้ แต่แสดงความมุ่งมั่นที่จะเร่งรัดการเจรจาเพื่อให้สามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนสิ้นปีนี้เพื่อประโยชน์ของพลเมืองอียูและสหราชอาณาจักร นั่นหมายความว่า เหลือเวลาอีกเพียง 6 เดือนที่สหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักรจะต้องพยายามหาทางออกร่วมกันบางอย่างเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจาก Brexit ต่อภาคเอกชนซึ่งก็ตกที่นั่งลำบากอยู่แล้วจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
[su_spacer]
ในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2563 การเจรจา Brexit น่าจะเข้มข้นขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะจัดการเจรจาทุกสัปดาห์ และจะจัดให้มีการประชุมแบบได้เจอหน้ากันบ้าง หลังจากต้องประชุมวีดิโอคอลกันมาหลายเดือน
[su_spacer]
เดือนตุลาคม 2563 สหภาพยุโรปหวังว่าการเจรจาจะสิ้นสุดลงและสามารถเสนอร่างความตกลงความสัมพันธ์สหภาพยุโรป-สหราชอาณาจักร ฉบับใหม่ ต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป (European Council Summit) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 15-16 ตุลาคม 2563 ได้ หลังจากนั้น ร่างความตกลงก็จะต้องไปผ่านสภายุโรปเพื่อขอความเห็นชอบในการให้สัตยาบันให้ทันภายในสิ้นปี ในส่วนสหราชอาณาจักรก็จะต้องดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายภายในเพื่อขอความเห็นชอบในการให้สัตยาบันความตกลงเช่นกัน ก่อนที่ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563
[su_spacer]
[su_spacer]
Deal or No Deal?
[su_spacer]
ในกรณีที่สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใด ๆ กันได้เลยก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ความสัมพันธ์ทางการค้าสหภาพยุโรป-สหราชอาณาจักร ก็จะเปลี่ยนจากระบบตลาดเดียว (single market) กลับไปสู่การทำการค้าภายใต้กฎเกณฑ์ WTO กล่าวคือ จากที่สินค้าสามารถเคลื่อนย้ายระหว่างสองโซนได้โดยปลอดภาษี ปลอดโควตาและปลอดพิธีศุลกากร ก็จะกลายเป็นว่ามีกำแพงภาษีเกิดขึ้น สินค้าต้องผ่านพิธีการศุลกากรที่ด่านพรมแดน มีกระบวนการขอใบรับรองและใบอนุญาตเพื่อส่งออก-นำเข้า รวมทั้งอาจมีการใช้มาตรการอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอื่น ๆ ด้วย เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เป็นต้น
[su_spacer]
สถานการณ์ข้างต้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทวีปยุโรปก็ต้องเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งประวัติการณ์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาอยู่แล้ว และไม่ต้องการให้ Brexit มาซ้ำเติมแผลทางเศรษฐกิจอีก
[su_spacer]
สื่อรายงานว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรอาจจะเปลี่ยนใจไม่ตั้งด่านศุลกากรอย่างเต็มรูปแบบสำหรับสินค้าที่มาจากสหภาพยุโรปเพื่อเข้าสหราชอาณาจักรเมื่อช่วงเปลี่ยนผ่านสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 อีกต่อไป โดยอ้างคำกล่าวของนาย Michael Gove เลขาธิการคณะรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรที่ยอมรับว่า ภาคธุรกิจอาจจะไม่สามารถปรับตัวกับกระบวนการใหม่ ๆ ได้ทัน ในขณะที่ยังต้องต่อสู้กับวิกฤตไวรัสโคโรนาอยู่
[su_spacer]
ในส่วนของสหภาพยุโรป นาย Michel Barnier หัวหน้าคณะเจรจากล่าวว่า ฝ่ายสหภาพยุโรปพร้อมที่จะประนีประนอม (compromise) ในบางประเด็น แต่ก็ย้ำหนักแน่นเรื่องการไม่ยอมให้สหราชอาณาจักรเลือกเอาแต่เรื่องที่ได้ประโยชน์กับตน (cherry picking) และไม่ได้ระบุว่า สหภาพยุโรปจะยอม compromise ในประเด็นใด
[su_spacer]
แม้จะไม่สามารถตกลงกันได้ทุกเรื่องก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2563 แต่ทั้งสองฝ่ายก็น่าจะพยายามเจรจาตกลงในบางประเด็นสำคัญให้ได้โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการค้า เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ซึ่งมองในแง่ดี วิกฤตโควิดก็ดูเหมือนจะเป็นตัวแปรพิเศษที่เข้ามาบังคับให้ทั้งสองฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากันมากขึ้น และยอมประนีประนอมท่าทีเพื่อหลีกเลี่ยง hard Brexit โดยต้องพยายามประคับประคองให้เครื่องบิน Brexit ลำนี้ลงจอดอย่างนุ่มนวลที่สุด
[su_spacer]
[su_spacer]
นัยของ Brexit ต่อเศรษฐกิจไทย
[su_spacer]
สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าอันดับที่ 21 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวมเมื่อปี 2562 ประมาณ 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปสหราชอาณาจักร 3.8 พันล้านดอลลารณ์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.5 ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด (ไทยได้ดุลการค้าเล็กน้อย) สินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปสหราชอาณาจักร เช่น ไก่แปรรูป รถยนต์และอุปกรณ์ อัญมณี แผงวงจรไฟฟ้า โดยที่มูลค่าการค้าระหว่างกันค่อนข้างน้อย ไทยจึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบใดมากจาก Brexit นอกจากนี้ การค้าระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรไม่ว่าจะก่อนหรือหลัง Brexit ก็ยังอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันขององค์การการค้าโลก
[su_spacer]
อนึ่ง ในประเด็นเรื่องโควตาภาษี ที่ผ่านมา ไทยได้รับโควตาส่งออกไปสหภาพยุโรปในอัตราภาษีต่ำรวม 31 รายการ ภายหลัง Brexit สหภาพยุโรปจะปรับลดโควตาลงเพราะอังกฤษก็จะมีโควตาของตนเองด้วย ในการนี้ ไทยจึงอยู่ระหว่างเจรจาโควตาภาษีกับสหภาพยุโรปและอังกฤษใหม่สำหรับสินค้า เช่น มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ปลากระป๋อง ปีกไก่ เป็นต้น โดยเป้าหมายคือให้โควตารวม (ของสหภาพยุโรปกับอังกฤษ) ไม่ลดลงจากที่สหภาพยุโรปเคยจัดสรรให้ไทยก่อน Brexit นอกจากนี้ หน่วยงานของไทยและสหราชอาณาจักรก็กำลังจัดทำรายงานเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ เพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันในอนาคตต่อไป
[su_spacer]
โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ / คณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป