ประเทศสมาชิกอียูขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปปรับปรุงร่างแผนการปฏิรูปกฎหมายแบตเตอรี่ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2554 ที่ประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอียูทั้ง 27 ประเทศ พิจารณาแผนการปฏิรูปกฎหมายแบตเตอรี่ฉบับใหม่ ของสหภาพยุโรป ซึ่งมุ่งยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วให้สูงขึ้นอย่างครบวงจร ทั้งการรวบรวม จัดเก็บ รวมถึงการคัดแยกและนําซากผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี หลายประเทศมองว่าแผนการฯ ดังกล่าวเป็นการตั้งเป้าหมายที่สูงเกินไปจนอาจอยู่ในวิสัยที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ และ ยังเป็นการสร้างภาระเกินสมควรต่อภาครัฐและผู้ประกอบการ จึงขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปมีความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ กลับไปทบทวนอีกครั้งก่อนเสนอร่างกฎหมายเข้าที่ประชุมฯ เพื่อพิจารณาต่อไปในช่วงปลายปีนี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565
.
สําหรับ 3 ประเด็นสําคัญของการปฏิรูปกฎหมายที่ชาติสมาชิกอียูให้ความสําคัญ มีดังนี้
.
1) กําหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน โดยให้ผู้ผลิตรายงานข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของแบตเตอรี่ที่จะวางจําหน่ายในยุโรป เพื่อสื่อสารเรื่องผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศไปยังผู้ซื้อและผู้บริโภคด้วยฉลากคาร์บอน โดยให้เริ่มมีผลตั้งแต่ปี 2567
.
2) กําหนดมาตรฐานการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว โดยเพิ่มอัตราการเก็บรวบรวมแบตเตอรี่แบบพกพาเมื่อหมดอายุการใช้งานไปรีไซเคิลเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันร้อยละ 45 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 65 ในปี 2558 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70 ในปี 2573
.
3) กําหนดอัตราการกู้คืนวัสดุที่มีค่า เช่น โคบอลต์ ลิเธียม นิกเกิล และตะกั่ว เพื่อนํามาใช้ประโยชน์ใหม่ในปริมาณที่สูงขึ้น
.
ประเด็นสําคัญของการปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ประเทศอิตาลีระบุว่าการกําหนดนโยบายและมาตรการทางกฎหมายที่ใช้บังคับกับภาคธุรกิจควรต้องคํานึงว่ากฎหมายใหม่นั้นจะสร้างปัญหาในการปฏิบัติจริงหรือไม่ และไม่สร้างภาระจนเกินควรต่อทั้งผู้ประกอบการและภาครัฐ ขณะที่เดนมาร์กและ เอสโตเนียแม้จะเห็นด้วยกับแผนการปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวในหลักการ อย่างไรก็ตาม ได้แสดงความกังวลถึงบทบัญญัติดังกล่าวว่าจะเพิ่มภาระ ทางด้านต้นทุนในการดําเนินธุรกิจ และทําให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs เผชิญกับอุปสรรคในการบริหารงานและการเติบโตของธุรกิจ ด้านสาธารณรัฐเช็ก เบลเยียม และลัตเวีย เสริมว่าภาระที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยุโรปในเวทีการค้าโลกอีกด้วย ทั้งยังอาจทําให้เกิดการผลักภาระไปยังผู้บริโภคด้วยการเพิ่มราคาสินค้า หรือบริการให้สูงขึ้น รวมถึงทําให้ต้นทุนในการดําเนินงานและการให้บริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่จําเป็น
.
นอกจากนี้ บัลแกเรียไม่เห็นด้วยกับการปรับเพิ่มเป้าหมายการเก็บรวบรวมแบตเตอรี่แบบพกพาเมื่อหมดอายุการใช้งานให้ไปรีไซเคิลขึ้นอีกร้อยละ 20 ในปี 2568 เนื่องจากมองว่าเป็นการกําหนดเป้าหมายที่สูงเกินไปจนทําให้ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้ เยอรมนีเห็นว่าการยกระดับมาตรฐานและการกํากับดูแลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วในภูมิภาคยุโรปควรคํานึงถึงขีดความสามารถในการบริหารจัดการของแต่ละประเทศสมาชิกด้วย และต้องไม่กระทบต่อทิศทางการดําเนินงานในปัจจุบันของประเทศนั้นๆ ขณะที่บางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ประสงค์ให้มีการขยายขอบเขตการใช้บังคับกฎหมายให้ครอบคลุมแบตเตอรี่ที่ใช้งานในสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าและจักรยานไฟฟ้าอีกด้วย
.
จากบทความข้างต้น ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนหรือเข้าทำธุรกิจด้านแบตเตอรี่ หรือทำการส่งออกแบตเตอรี่ให้กับสหภาพยุโรป ควรติดตามและศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับปรุงร่างแผนการปฏิรูปกฎหมายแบตเตอรี่ของคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อเตรียมพร้อมและปรับธุรกิจให้เข้ากับกฎหมายของประเทศที่เข้าไปทำกิจการต่าง ๆ
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลล์