ปัจจุบันประเด็นความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) คือนโยบายหลักของสหภาพยุโรป โดย EU ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินการเพื่อบรรลุ climate neutrality ในปี พ.ศ. 2593 และยังมีเป้าหมายระยะกลางที่กำหนดการปล่อยก๊าซเรือกกระจกไว้ที่ 55% ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยมีชุดร่างกฎหมาย Fit for 55 ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเป้าหมายระยะกลางนี้
.
การดำเนินงานของสหภาพยุโรปด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนแบ่งออกเป็น 6 สาขา ได้แก่
Renewable Energy: มีการตั้งเป้าเพิ่มอัตราส่วนพลังงานทดแทน 40% ภายในปี พ.ศ. 2573 เพิ่มมาตรฐานความยั่งยืนของชีวภาพ ปรับปรุงอัตราภาษีพลังงาน และยกเลิกการงดเว้นภาษีพลังงานเชื้อเพลิง
.
Smart Mobility: เพิ่มเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถตู้และรถยนต์ ผลักดันการใช้รถพลังงานไฟฟ้าและพลังงานไฮโดรเจน เพิ่มมาตรฐาน Post-Euro 6 และปรับปรุงระบบ Emissions Trading System สำหรับการบินและการเดินเรือ
.
Forestry: เลี่ยงแหล่งพลังงานหมุนเวียนทีเสี่ยงต่อการทำลายป่า แก้ไขและออกกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการทำลายป่าไม้
.
Taxonomy: จัดทำหลักเกณฑ์ว่ากิจกรรมใดเป็นกิจกรรมสีเขียว ซึ่งจะมีผลต่อการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
.
Due Diligence: EU จะออกกฎร่างหมายเพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และธรรมภิบาลตลอดห่วงโซ่การผลิต
.
Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM): การเก็บค่าคาร์บอนจากสินค้านำเข้าเพื่อป้องกันการย้ายฐานการผลิตจากยุโรปไปยังประเทศที่มีมาตรการด้านการป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำกว่า
.
ภายใต้มาตรการ CBAM ผู้ที่นำเข้าสินค้าจากนอก EU จะต้องแจ้งปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้าที่ได้รับการรับรองโดย accredited verifier เพื่อใช้ในการคำนวณค่าคาร์บอนที่ผู้นำเข้าต้องจ่าย โดยใช้อัตราค่าคาร์บอนจากระบบ ETS ของ EU โดยมาตรการ CBAM จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2566 อย่างไรก็ดี EU จะเริ่มเก็บค่าคาร์บอนจริงในปี พ.ศ. 2569
.
มาตรการที่เป็นรูปธรรมของ EU นั้นจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นภาคเอกชนและผู้ประกอบการไทยจึงควรยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมให้ทันท่วงที เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและตลาดในภูมิภาคยุโรปเพื่อการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
.
กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ