นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank – ECB) และภาพรวมเศรษฐกิจของ EU จากการประชุมสภากรรมการ (Governing Council) เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์เล็งเห็นข้อมูลดังกล่าวสามารถเป็นโยชน์ต่อผู้ท่านทุกท่าน ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
[su_spacer]
ECB ยังคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำตามลําดับ ดังนี้ (1) เงินสํารองของธนาคารพาณิชย์ที่ฝากไว้กับ ECB (Deposit Facility Rate) ที่อัตราติดลบร้อยละ 0.50 (2) อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ใช้สําหรับการปล่อยสภาพคล่องให้ ระบบธนาคาร (Main Refinancing Rate) ที่อัตราร้อยละ 0.00 และ (3) อัตราดอกเบี้ยข้ามคืนที่ให้สถาบันการเงินกู้ยืม (Marginal Lending facility rate) ที่อัตราร้อยละ 0.25 ซึ่ง ECB คาดการณ์ว่า จะยังคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ เช่นนี้หรือต่ำลงกว่านี้ในอนาคตไปจนกว่าจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงขยายตัวต่อไปตามเป้าหมายระยะกลางที่ระดับร้อยละ 2
[su_spacer]
โดย ECB ยังคงดําเนินโครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินสําหรับโรคระบาดใหญ่ (Pandemic Emergency Purchase Programme – PEPP) จํานวน 1,350 พันล้านยูโร ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 หรือจนกว่าวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะหมดไป เพื่อช่วยผ่อนคลายการดําเนินนโยบายการเงินโดยรวม ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติการแพร่ระบาดฯ และอัตราเงินเฟ้อ โดย ECB จะดําเนินการลงทุนใหม่จากเงินต้นที่ได้รับการชำระคืนจากหลักทรัพย์ที่ครบกำหนดไถ่ถอนภายใต้โครงการ PEPP ไปจนถึงสิ้นปี 2565 เป็นอย่างน้อย
[su_spacer]
โครงการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (Asset Purchase Program – APP) ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2562 ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing-QE) จํานวน 20,000 ล้านยูโร ต่อเดือน ECB ยังคงดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีการประกาศปรับขึ้นนโยบายอัตราดอกเบี้ยหลักควบคู่ไปกับการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน เพิ่มเติมชั่วคราวจำนวน 120,000 ล้านยูโร ไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดย ECB จะลงทุนใหม่อย่างเต็มรูปแบบจากเงินต้นที่ได้รับการชําระคืนจากหลักทรัพย์ที่ครบกําหนดไถ่ถอนภายใต้โครงการ APP โดยจะดําเนินมาตรการดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะมีการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลัก หรือตราบเท่าที่มีความจําเป็นเพื่อรักษาสภาพคล่องที่ดีและระดับเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้เพียงพอ
[su_spacer]
นอกจากนี้ ECB จะดำเนินการรีไฟแนนซ์ในรูปแบบการรีไฟแนนซ์ระยะยาวที่กําหนดเป้าหมายรายไตรมาส (quarterly targeted longer-term refinancing operations – TLTRO III) เพื่อสนับสนุนให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อระบบเศรษฐกิจและสนับสนุนให้เกิดการปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคารให้กับภาคเอกชนและภาคครัวเรือน ทั้งนี้ อัตราการเติบโตของการปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจในเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 7 ซึ่งต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดฯ
[su_spacer]
ในขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจของ EU มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติแท้จริง (Real GDP): ไตรมาส 2 ปี 2563 มีอัตราการหดตัวร้อยละ 11.8 และมีอัตราการหดตัวสะสมร้อยละ 15.1 ในครึ่งแรกของปี 2563 โดยมีการคาดการณ์ Real GDP รายปีดังนี้ (1) ปี 2563 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 0.8 (2) ปี 2564 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 5.0 และ (3) ปี 2565 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 3.2
[su_spacer]
อัตราเงินเฟ้อ: เดือนสิงหาคมปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 ลดลงจากร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้าและมีการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อรายปีดังนี้ (1) ปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 (2) ปี 2564 อยู่ที่ ร้อยละ 1 และ (3) ปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.3
[su_spacer]
ECB ก็ได้เน้นย้ำว่า ประเทศในเขตยูโรจําเป็นที่จะต้องดําเนินนโยบายด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปกับนโยบายการเงินของ ECB ด้วย เพื่อให้การดำาเนินนโยบายของ ECB เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการดำเนินการตามนโยบายเชิงโครงสร้าง (Structural policies) เพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤติได้อย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการคลังยังคงมีความสําคัญต่อการตอบสนองต่อภาวะวิกฤติ โดยสภายุโรปได้อนุมัติเงินช่วยเหลือสําหรับแรงงานและภาคธุรกิจมูลค่ารวม 540,000 ล้านยูโร นอกจากนี้ สภายุโรปยังสนับสนุนการจัดสรรกองทุน “Next Generation EU” จํานวน 750,000 ล้านยูโร ซึ่งมีศักยภาพในการสนับสนุนภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการแพร่ระบาดฯ และสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการเป็นตลาดเดียวของ EU และสร้างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
[su_spacer]
ทั้งนี้ ECB คาดการณ์ว่า การดําเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.5 ของ GDP เป็นร้อยละ 4.5 ของ GDP จะส่งผลให้ GDP สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.5 เป็นร้อยละ 2.8 ได้
[su_spacer]
โดยข้อมูลทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ของปี 2563 บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในเขตยูโรเริ่มมีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสําคัญ โดยเฉพาะการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ รวมไปถึงการฟื้นตัวของภาค การบริโภคและภาคการลงทุนของเอกชนในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2563 อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีความไม่สมมาตรในทุกภาคส่วนและมีความไม่แน่นอนสูง โดยการฟื้นตัวของภาคการผลิตอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าภาคบริการ ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความอ่อนไหวและได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ มากที่สุด
[su_spacer]
นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นยังคงมีปริมาณน้อยกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดฯ ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ดังนั้น ภาคการบริโภคและภาคการลงทุนทางเศรษฐกิจในเขตยูโรควรได้รับการสนับสนุนจากเงื่อนไขทางการเงินที่เอื้อประโยชน์การขยายตัวของการดําเนินนโยบายการคลัง และการเสริมสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับโลกโดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนภาคเอกชนต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะเลื่อนหรือยกเลิกแผนการใช้จ่ายบางส่วนลง เนื่องจากมีความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นเกี่ยวกับความต้องการผลิตภัณฑ์ในอนาคต กําลังการผลิตสํารอง และงบดุลที่เปราะบาง
[su_spacer]
และจากการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของ ECB ในช่วงปี 2563 – 2565 ซึ่งอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 1 หรือต่ำกว่า แสดงให้เห็นว่า การมุ่งไปสู่เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อระยะกลางที่ระดับร้อยละ 2 น่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงมีความเป็นไปได้ว่า ECB จะยังคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องต่อไปอีกเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี รวมไปถึงการขยายระยะเวลาดําเนินโครงการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (Asset Purchase Program – APP) ต่อไปอีกด้วย
[su_spacer]