สถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อราคาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงด้านพลังงานในยุโรปจากการมีสัดส่วนนำเข้าที่สูงทำให้ EU ดําเนินการเพื่อรับมือปัญหาราคาพลังงานดั้งเดิมนี้ในระยะยาว
.
โดยเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอแผน “REPowerEU” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดและเลิกการนําเข้าก๊าซธรรมซาติและน้ํามันจากรัสเซียภายในปี ค.ศ. 2030 โดยจะเร่งสรรหาพลังงานสํารองจากแหล่งอื่นเพื่อรักษาเสถียรภาพในระยะสั้น และนำไปสู่การใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะไฮโดรเจนสะอาดและไบโอมีเทนทดแทน ซึ่งสอดคล้องกับแผนนโยบาย European Green Deal ที่ให้ความสําคัญกับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายด้านคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050 โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง ตลอดจนภาคการขนส่งและการผลิตไฟฟ้า
.
ในปัจจุบัน ก๊าซไฮโดรเจนที่ผลิตในอียูร้อยละ 95 จัดเป็นก๊าซ “ไฮโดรเจนสีเทา” ที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ โดยมีการปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนและนิยมใช้ในกระบวนการกลั่นน้ำมัน และการผลิตปุ๋ยและเหล็ก ในขณะที่ “ไฮโดรเจนสะอาด” (decarbonized hydrogen) เป็น “ไฮโดรเจนสีเขียว” ที่ผลิตโดยไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ผ่านการแยกน้ำด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส นอกจากนี้ยังมี “ไฮโดรเจนสีฟ้า” ที่ใช้วิธีกักเก็บคาร์บอนที่เกิดจากกระบวนการผลิตไม่ให้ออกสู่ชั้นบรรยากาศ
.
อย่างไรก็ดี การผลิตไฮโดรเจนสะอาดยังมีข้อจํากัดด้านความต้องการของตลาด ต้นทุนการผลิตที่สูง โครงสร้างพื้นฐาน การเก็บรักษาและการขนส่ง และศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนของภูมิภาคที่ยังไม่เพียงพอต่อการผลิตไฮโดรเจนสะอาดอย่างเต็มรูปแบบ ทําให้มีราคาแพง (5.5 ยูโร/กิโลกรัม) เมื่อเทียบกับไฮโดรเจนที่ได้จาก วัตถุดิบประเภทอื่น ซึ่งมีราคาเพียง 1.5 – 2 ยูโร/กิโลกรัม แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทําให้กระบวนการผลิตก๊าซไฮโดรเจนสะอาดมีแนวโน้มที่จะประสบความสําเร็จก่อนสิ้นศตวรรษนี้
.
นโยบายการพัฒนาไฮโดรเจนของอียู
.
เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2563 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาไฮโดรเจนสีเขียวระยะ 30 ปี เพื่อผลักดันการใช้ไฮโดรเจนสีเขียวให้กลายเป็นหนึ่งในพลังงานหลักของอียู โดยในระยะแรก (ค.ศ. 2020-2024) อียูให้ความสําคัญกับการติดตั้งอิเล็กโทรไลเซอร์ (electrolyzer) เพื่อผลิตไฮโดรเจนสีเขียวให้ได้ 1 ล้านตัน สําหรับระยะที่ 2 (ค.ศ. 2024-2030) อียูตั้งเป้าเพิ่มกําลังผลิตไฮโดรเจนสีเขียวให้ได้ 10 ล้านตัน เพื่อนําไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม มุ่งเน้นอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและภาคการขนส่ง และในระยะที่ 3 หลังปี ค.ศ. 2030 ตั้งเป้าขยายไปสู่ภาคการผลิตไฟฟ้าและปิโตรเคมีและปุ๋ย ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ยากต่อการลดคาร์บอน
.
แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังครอบคลุมเรื่องกฎระเบียบ การส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม และการก่อตั้ง “European Clean Hydrogen Alliance” เพื่อสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วน โดยอียูได้ตั้งงบประมาณไว้ถึง 470 พันล้านยูโรจากกองทุนฟื้นฟูยุโรปสําหรับพัฒนาธุรกิจไฮโดรเจนสีเขียว และอีก 18 พันล้านยูโรสําหรับพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนให้สะอาดขึ้น โดยเฉพาะการผลิตไฮโดรเจนสีฟ้า ไบโอมีเทนและก๊าซคาร์บอนต่ำอื่น ๆ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจไฮโดรเจนในช่วง 10-20 ปีข้างหน้าอย่างยั่งยืน
.
นอกจากนี้ ได้มีการเสนอร่างกฎหมายเพื่อปฏิรูปด้านพลังงาน (Hydrogen and Decarbonised Gas Package) เพื่อพัฒนาตลาดไฮโดรเจนใน อียู การทยอยลดการใช้ฟอสซิล และส่งเสริมการลงทุนการผลิตไฮโดรเจนสะอาด โดยใช้นโยบายยกเว้นภาษี รวมทั้ง กําหนดมาตรฐานการรับรองคุณภาพการผลิตเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดและสร้างความสามารถในการแข่งขันของยุโรปในระยะยาว เพื่อพัฒนาให้ยุโรปเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายไฮโดรเจนของภูมิภาคต่อไป
.
อีกประเด็นที่สําคัญของร่างกฎหมายคือ การวางมาตรการควบคุมการปล่อยมีเทนในภาคพลังงาน โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากภาคพลังงานให้ได้ร้อยละ 80 ภายในปี ค.ศ. 2030 ตลอดจนเตรียมแผนรับมือวิกฤตพลังงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
.
ทั้งนี้ อียูได้ประกาศเปิดตัวโครงการพัฒนาเศรษฐกิจไฮโดรเจนไปแล้วกว่า 120 โครงการทั้งในยุโรปและประเทศ ใกล้เคียง เช่น โมร็อกโก และยูเครน ซึ่งมีพลังงานหมุนเวียนที่อุดมสมบูรณ์และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ํา โดยโครงการ เหล่านี้ครอบคลุมการบริหารจัดการ value chain ทั้งระบบ อาทิ โครงการ Hydrogen Import Coalition (พัฒนาระบบโลจิสติกส์) ที่ท่าเรือแอนต์เวิร์ปและท่าเรือ Zeebrugge ของเบลเยียม โครงการ NorthH2 (การผลิต กักเก็บและขนส่งพลังงาน และปิโตรเคมีด้วยเซลล์เชื้อเพลิง ร่วมกับพลังงานลม) และโครงการ Porthos (เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนและกัก เก็บใต้ทะเล) ใกล้ท่าเรือ Rotterdamiของเนเธอร์แลนด์ และโครงการ H2FUTURE (เทคโนโลยีการผลิตเหล็กปลอดคาร์บอน) ของออสเตรีย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์