เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมาธิการยุโรป (อียู) เผยแพร่เอกสาร “Towards a strong and sustainable EU algae sector” ระบุแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมสาหร่าย (Algae) 23 ข้อ เพื่อปลดล็อกศักยภาพการผลิตสาหร่ายของอียูให้แข็งแกร่ง ยั่งยืน และสอดรับกับอุปสงค์ของผู้บริโภคอียูที่เพิ่มขึ้น ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ อาหาร เครื่องสำอาง ยาและเวชภัณฑ์ และพลังงาน ปัจจุบันอียูเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าสาหร่ายรายใหญ่ที่สุดของโลกและคาดว่า ในปี 2030 อุปสงค์ของสินค้าสาหร่ายจะมีมูลค่ากว่า 9 พันล้านยูโร
ทำไมอียูถึงเร่งขยายอุตสาหกรรมสาหร่าย? นอกจากสาหร่ายจะเป็นซูเปอร์ฟู้ดที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์สูงต่อร่างกายแล้ว ยังมีสรรพคุณในการนำไปสกัดเพื่อใช้ผลิตอาหารเสริม อาหารสัตว์ เครื่องสำอาง พลาสติกชีวภาพสำหรับบรรจุภัณฑ์ กระดาษ สิ่งทอ สารกระตุ้นทางชีวภาพ (bio stimulants) และเชื้อเพลิงชีวภาพ ในมิติสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอุตสาหกรรมสาหร่ายจะสนับสนุนให้อียูบรรลุเป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 อีกทั้งช่วยอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากสาหร่ายขจัดมลพิษจากธาตุอาหารในระบบนิเวศน์แหล่งน้ำผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง ทำให้ปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง (eutrophication) ลดลง การเพาะเลี้ยงสาหร่ายในทะเลยังช่วยดูดซับ ก๊าซคาร์บอน (carbon sink) และลดปรากฏการณ์ทะเลกรด (ocean acidification)
อียูวางเป้าหมายที่จะยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจผ่านการปรับปรุงกฎระเบียบ เสริมสร้าง ความตระหนักรู้และทำให้ผู้บริโภคยอมรับสาหร่ายและผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนลดช่องว่างด้านการวิจัยและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อนึ่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อียูได้เปิดตัว “EU4Algae Forum เพื่อเป็นเวทีสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสำหรับผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมสาหร่ายของอียู อาทิ เกษตรกรเพาะเลี้ยงสาหร่าย ผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้บริโภค นักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนองค์กรสนับสนุนธุรกิจ นักลงทุน หน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา นักวิจัย และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดย Forum ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมสาหร่าย รวมถึงการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยและโครงการต่าง ๆ ข้อมูลเชิงธุรกิจ ความรู้เฉพาะทางและแนวทางปฏิบัติ ที่เป็นเลิศ เพื่อให้ผู้ที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์ได้
แนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมสาหร่ายที่น่าสนใจ ได้แก่ 1) พัฒนาเครื่องมือสำหรับเกษตรกรเพาะเลี้ยง สาหร่าย 2) อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทางทะเล การวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลและกำหนดพื้นที่ ที่เหมาะสมสำหรับการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล 3) จัดทำมาตรฐานสำหรับส่วนผสมและสารปนเปื้อนจากสาหร่าย รวมถึงเชื้อเพลิงชีวภาพจากสาหร่าย ร่วมกับคณะกรรมการด้านมาตรฐานของยุโรป (CEN) 4) ประเมิน ศักยภาพของตลาด ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้สาหร่ายเป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ย และ 5) ศึกษาโอกาสของการใช้สาหร่ายเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บทบาทของสาหร่ายทะเลในการเป็น แหล่งดูดซับคาร์บอนสีน้ำเงิน (blue carbon sink) และการกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารปนเปื้อนไอโอดีนในสาหร่าย
ทั้งนี้ การส่งเสริมอุตสาหกรรมสาหร่ายให้แข็งแกร่งและยั่งยืนขึ้น สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวและแผนยุทธศาสตร์จากฟาร์มถึงปลายส้อม (Farm to Fork) เพื่อเปลี่ยนสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยอียูคาดการณ์ว่า หากผู้ประกอบการอียูสามารถผลิตสาหร่ายได้สูงถึงหนึ่งในสามของอุปสงค์ หรือมูลค่าประมาณ 2.7 พันล้านยูโร จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 5.4 ล้านตันต่อปีและสร้างงานเพิ่มขึ้นอีก 85,000 อัตรา
สำหรับประเทศไทยมีโครงการบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวาที่บึงมักกะสัน โดยคุณสมบัติของผักชนิดดังกล่าวสามารถดูดของเสียในน้ำได้เสมือนกับเครื่องกรอง จึงอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยอาจพิจารณาต่อยอดโครงการดังกล่าวนี้โดยการประยุกต์เอาแนวทางของอียูมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทในประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของประเทศในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065
โครงการ IMEU สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
ที่มา:
- https://www.euractiv.com/section/agriculture-food/news/commission-on-quest-to-unlock-algaes-potential-in-the-eu/
- https://www.eitfood.eu/news/eit-food-welcomes publication-of-eu-algae-initiative-a-step- forward-towards-a-more-sustainable-food-system