เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 คณะกรรมาธิการยุโรปได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย “Guidance for a fair and inclusive transition towards climate neutrality” สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกออกมาตรการเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนส่งผลกระทบต่อแรงงานและสังคมให้น้อยที่สุด โดยมีมาตรการ ดังนี้
.
มาตรการด้านแรงงาน เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงเรื่องสภาพภูมิอากาศกับตำแหน่งงาน ส่งเสริมการจ้างงานสีเขียว ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ตรงต่อความต้องการขององค์กรและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
.
มาตรการด้านภาษีและการคุ้มครองทางสังคม โดยศึกษาการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมจากผู้ประกอบการที่ปล่อยมลพิษออกสู่บรรยากาศเพื่อเป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติม เพื่อบรรเทาภาระภาษีและขยายหลักประกันความมั่นคงทางสังคมให้แก่แรงงาน
.
มาตรการด้านสวัสดิการของรัฐ เช่น ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนส่งเสริมการใช้พลังงานในภาคการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม
.
มาตรการด้านการส่งเสริมความร่วมมือ โดยการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในเชิงนโยบาย (Evidence-Based Policy) ให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดแรงงานในอนาคต
.
มาตรการจัดสรรงบภาครัฐและเอกชน โดยจัดสรรรายได้ ร้อยละ 2 จากระบบตลาดคาร์บอนเครดิตในสหภาพยุโรป (EU ETS) ในส่วนของพลังงานเชื้อเพลิงจากรถยนต์และอาคาร เพื่อนําไปสมทบทุนช่วยเหลือประชาชนที่เดือนร้อน และกลไก Just Transition Mechanism และ European Social Fund Plus (ESF+) สำหรับช่วงปี ค.ศ. 2021 – 2027 รวม 99.3 พันล้านยูโร
.
จากร่างข้อเสนอเชิงนโยบายข้างต้น จะเห็นได้ว่าสหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแรงงาน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ รวมถึงการปฏิรูปการใช้จ่ายภาษีและจัดสรรเงินจากรัฐ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมและติดตามความคืบหน้าของนโยบายด้านสังคมและแรงงานข้างต้น ว่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนในสหภาพยุโรปอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ควรเร่งศึกษาและหาแนวทางเพื่อปรับตัวตามมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเป็นกลางทางคาร์บอนและการสนับสนุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการดำเนินธุรกิจในอนาคต
.
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์/ คณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์