พลังงานไฮโดรเจนสะอาดถือเป็นความหวังสำคัญของสหภาพยุโรป (European Union) ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายด้านคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2593 โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง ตลอดจนภาคการขนส่งและการผลิตไฟฟ้า แต่ในปัจจุบัน การผลิตไฮโดรเจนสะอาดในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังมีข้อจำกัดบางประการ ทั้งเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูง และความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเก็บรักษาและการขนส่ง ขณะที่ก๊าซไฮโดรเจนที่ใช้กันส่วนใหญ่สกัดมาจากก๊าซธรรมชาติที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนและก็าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศซึ่งส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อน ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในการพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาดเพื่อผลักดันให้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในยุโรปเป็นไปอย่างราบรื่น
เมื่อเดือนเมษายน 2565 นาย Frans Timmermans รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ผู้รับผิดชอบด้านนโยบาย European Green Deal ของสหภาพยุโรปได้เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือและเปิดตัว 7 โครงการขนาดใหญ่เพื่อสร้างนวัตกรรมพลังงานสะอาดมูลค่ากว่า 1 พันล้านยูโร ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมนวัตกรรม หรือ Innovation Fund เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โครงการดังกล่าวครอบคลุมการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิตพลังงานสะอาด เช่น การใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ รวมทั้งเทคโนโลยีการดักและกักเก็บคาร์บอน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรองรับการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย คือ อุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก ปูนซีเมนต์ โรงกลั่นน้ำมันและเคมีภัณฑ์ พร้อมทั้งช่วยสร้างงานในตลาดเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สหภาพยุโรป คาดหวังว่าโครงการนำร่องเพื่อผลิตพลังงานสะอาดเหล่านี้จะสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึง 76 ล้านเมตริกตัน ในช่วง 10 ปีข้างหน้า
โครงการต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปที่สำคัญ มีดังต่อไปนี้
(1) โครงการ Kairos@C ที่ท่าเรือแอนต์เวิร์ป โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการดักจับ รวมถึงการขนถ่ายและจัดเก็บก๊าซคาร์บอนอย่างครบวงจร ตั้งอยู่ที่ประเทศเบลเยียม
(2) โครงการ BECCS at Stockholm ประเทศสวีเดน ตั้งเป้าเพื่อพัฒนาระบบการกักเก็บก๊าซมีเทนที่ได้จากการย่อยสลายสารชีวมวลและนำความร้อนทิ้งกลับมาใช้ และ (3) โครงการ Hybrit Demonstration ประเทศสวีเดน เพื่อเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเหล็กปลอดคาร์บอนด้วยพลังงานทดแทน เช่น ไฮโดรเจนสีเขียว
(4) โครงการ Ecoplanta ที่ตั้งอยู่ในเมือง El Morell ประเทศสเปน เพื่อเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี Gasification ในการจัดการขยะแบบครบวงจรในระดับชุมชน หรือ Solid Waste Management เช่น การคัดแยกเพื่อนำสารเคมีกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ และการผลิตกรีนเมทานอล และก๊าซชีวภาพอื่นๆ จากของเสียในภาคอุตสาหกรรม
(5) โครงการ K6 Program ตั้งอยู่ที่เมือง Lumbres ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นโครงการผลิตซีเมนต์สะอาดแห่งแรกของโลก พร้อมตั้งเป้าพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตซีเมนต์ปลอดคาร์บอนด้วยการดักจับและจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไว้ใต้ทะเลเหนือ
(6) โครงการ TANGO ประเทศอิตาลี ผลักดันการพัฒนาโมดูล 3GW Photovoltaic และฐานการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโช่อุปทานต้นน้ำและเพิ่มกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในยุโรป
(7) โครงการ Sustainable Hydrogen and Recovery of Carbon project หรือ SHARC ที่ประเทศฟินแลนด์ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสะอาด ด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิสและเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน
ในส่วนของประเทศไทยซึ่งมีนโยบายการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) เป็นวาระแห่งชาติ และตั้งเป้าหมายในการผลักดันวาระนี้เข้าไปฐานะการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ปี 2565 ของไทย ดังนั้น ไทยสามารถที่จะแสวงหาความร่วมมือและเรียนรู้แนวทางปฏิบัติของประเทศในสหภาพยุโรปเพื่อนำมาประยุกต์กับบริบทของประเทศตนเองได้อีกด้วย นอกไปจากนี้ผู้ประกอบการไทยยังสามารถที่จะดึงดูดการลงทุนในสาขานโยบายที่สอดคล้องกับพลังงานสะอาด ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเหล่านี้ในอนาคตต่อไป