- พัฒนาการกฎหมายภายใต้นโยบาย European Green Deal
รัฐสภายุโรปบรรลุการจัดทําท่าทีต่อร่างกฎหมายภายใต้นโยบาย European Green Deal เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2566 โดยท่าที่สําคัญของรัฐสภายุโรป ได้แก่ (1) เสนอเพิ่มสาขาการเงินในขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งจะทําให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินสามารถตอบสนองทางกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมได้ (2) กําหนดให้บริษัทจัดทํา transition plan เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ และ (3) ให้กฎหมายฯ บังคับใช้กับบริษัทที่ไม่ได้มีสัญชาติ EU
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศและสิทธิมนุษยชนของรัฐสภายุโรป ได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานในเอเชียตะวันออก โดยหยิบยกประเด็นสิทธิแรงงานสาขาสิ่งทอและการประมง โดยมองว่าควรให้ความช่วยเหลือทางการเงินและเสริมสร้างทักษะให้กับประเทศผู้ผลิตที่มีปัญหาดังกล่าว
- Nature Restoration law
กฎหมายดังกล่าวยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เนื่องจากกฎหมายนี้มุ่งเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งอาจทำให้พื้นที่ทําการเกษตรและพื้นที่สําหรับผลิตพลังงานสะอาดน้อยลง อันจะส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรยุโรปและนโยบายการใช้พลังงานสะอาดของยุโรปเอง
- Renewable Energy Directive (RED)
การแก้ไขกฎหมาย RED ล่าช้าออกไป เพราะหลายประเทศใน EU ไม่ส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ด้วยข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
- Packaging and Packaging Waste Regulation
ร่างกฎหมายฯ ของคณะกรรมาธิการยุโรปยังเป็นที่ถกเถียง เนื่องจากตั้งเป้าหมาย reuse สูงเกินไป ซึ่งอาจสร้างภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและมีความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัย หากการทําความสะอาดบรรจุภัณฑ์เพื่อนํามาใช้ใหม่ไม่ดีพอ รวมทั้งทําให้การผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีมากขึ้น เพื่อใช้แทนบรรจุภัณฑ์กระดาษแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (คล้ายปัญหาการผลิตถุงผ้าจํานวนมากซึ่งอาจเกินจําเป็น) ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการ recycle พยายามผลักดันกฎหมายให้สนับสนุนแนวทาง recycle มากกว่า เพื่อโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นสําหรับอุตสาหกรรม
- นโยบาย Economic Security Strategy ของ EU
เมื่อ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2566 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้นําเสนอนโยบายฉบับใหม่ชื่อ “Economic Security Strategy” สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างประเด็นความมั่นคงกับเศรษฐกิจที่นับวันจะเข้มข้นขึ้น โดยเอกสารดังกล่าวได้เสนอให้มี การประเมินความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจใน 4 ประเด็น ได้แก่ (1) ความเสี่ยงต่อห่วงโซ่อุปทาน (2) ความเสี่ยงต่อโครงสร้างพื้นฐานทั้งในเชิงกายภาพและความมั่นคงทางไซเบอร์ (3) ความเสี่ยงเกี่ยวกับเทคโนโลยี และ (4) ความเสี่ยงจากสภาวะการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป นอกจากนี้ ด้านเทคโนโลยีที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ AI เซมิคอนดัคเตอร์ขั้นสูง ควอนตัม ไบโอเทคเภสัชภัณฑ์ เทคโนโลยี net-zero วัตถุดิบจำพวกอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์และแร่ธาตุที่สำคัญ (critical raw materials) และ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (critical infrastructure) โดยการจัดทำนโยบายดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สําคัญของ EU เพื่อลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงและลดการพึ่งพาจีนและรัสเซีย โดย EU กำลังดำเนินการจัดทํา FTA กับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย
- พัฒนาการ FTA ของ EU กับกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา
EU พยายามอย่างมากที่จะบรรลุข้อตกลง FTA กับกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา โดยประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้เดินทางเยือนลาตินอเมริกา เมื่อวันที่ 12-15 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เพื่อหารือเรื่อง FTA รวมทั้งประกาศโครงการความร่วมมือมูลค่ารวม 10 พันล้านยูโรภายใต้ Global Gateway และการลงนาม ความตกลงความร่วมมือด้านวัตถุดิบ พลังงานสะอาด การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศกับหลายประเทศ เช่น ชิลี และอาร์เจนตินา และต่อมา EU เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด EU-CEALAC Summit เมื่อวันที่ 17-18 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ณ กรุงบรัสเซลส์
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์