จากการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU) และกลุ่มประเทศ Eurozone ประจำเดือนธันวาคม 2564 – มกราคม 2565 พบว่า ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตรา GDP อัตราการจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อ ดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ มีสัญญาณเชิงบวกจากอัตราการว่างงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และการคลังของรัฐบาลมีสถานะดีขึ้นจากดุลงบประมาณและสัดส่วนหนี้สาธารณะที่ลดลง แต่ดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ปริมาณการค้าปลีก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ PMI ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ทั้งความเชื่อมั่นด้านการก่อสร้าง อุตสาหกรรม ผู้บริโภค และบริการ กอปรกับการขาดดุลการค้าระหว่าง Eurozone และ EU กับประเทศที่สาม โดยดัชนี PMI ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจ Eurozone มีทิศทางชะลอตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ ทั้งนี้ สำหรับภาคการผลิตยานยนต์และส่วนประกอบเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น การจ้างงานเพิ่มขึ้นในระดับสูง และปัญหาความล่าช้าในห่วงโซ่อุปทานที่บรรเทาลง
.
สำหรับการค้าระหว่างประเทศของสหภาพฯ ในเดือนธันวาคม 2564 มีมูลค่า 406.4 พันล้านยูโร โดยมีการส่งออก 198.2 พันล้านยูโร และนำเข้า 208.2 พันล้านยูโร ทั้งปี 2564 สหภาพยุโรปมีมูลค่าส่งออกไปยังทุกประเทศคู่ค้าหลักเพิ่มขึ้น โดยส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย นอร์เวย์ และเกาหลีใต้ ขณะที่นําเข้าเพิ่มขึ้นจากหลายประเทศ โดยนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นอร์เวย์ รัสเซีย อินเดีย เกาหลีใต้
.
สำหรับการค้ากับไทยในปี 2564 มีมูลค่ารวม 35,261.1 ล้านยูโร นําเข้าจากไทย 21,990.5 ล้านยูโร ส่งออกไปไทย 13,270.6 ล้านยูโร สหภาพยุโรปขาดดุลการค้าต่อไทยมูลค่า 8,719.9 ล้านยูโร โดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่เป็นคู่ค้าสำคัญมีการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ ได้แก่ อิตาลี สเปน เยอรมนี โปแลนด์ และ ฝรั่งเศส ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่สหภาพยุโรปนําเข้าจากไทย ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและเครื่องมืออุตสาหกรรมเบ็ดเตล็ด รวมถึงกลุ่มอาหารและสัตว์มีชีวิต
.
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์