บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัทด้านพลังงานระดับนานาชาติ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการทำเหมืองถ่านหินเล็กๆ ที่เหมืองบ้านปู อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เมื่อปี 2526 ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบริษัทเพื่อแสดงถึงถิ่นกำเนิดแรกเริ่มก่อตั้ง หลังจากเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2532 บ้านปูเริ่มขยายธุรกิจถ่านหินสู่ต่างประเทศโครงการแรกที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2534 จนปัจจุบันบ้านปูดำเนินธุรกิจใน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม ธุรกิจพลังงานที่ดำเนินงานก็มีความหลากหลายขึ้น โดยประกอบธุรกิจด้านพลังงานใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ได้แก่ เหมืองถ่านหินและแหล่งก๊าซธรรมชาติ (shale gas) กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ได้แก่โรงงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์และลม ตลอดจนพลังงานความร้อนจากไอน้ำ และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ธุรกิจแบตเตอรี่ โซลูชั่นพลังงาน และ e-mobility เป็นต้น ธุรกิจของบ้านปูจึงหลากหลายทั้งในแง่จำนวนประเทศที่เพิ่มขึ้นและที่คลอบคลุมแหล่งพลังงานต่างๆ อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า พลังงานลม พลังงานแสงแดด ไอน้ำ และแบตเตอรี่ จนปัจจุบันบ้านปูมีมูลค่าสินทรัพย์ที่ราบงานต่อตลาดประมาณ 12,638 ล้านดอลลาร์ มูลค่าตลาด (market capitalization) ประมาณ 75,242 ล้านบาท
บ้านปูได้ transform ตัวเองรับกับความผันผวนอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อผลิตพลังงานที่สะอาดขึ้นตามกลยุทธ “Greener Smarter” โดยตั้งเป้าไว้ว่า ใน 5 ปีข้างหน้า รายได้ (EBITDA) 50% ของบ้านปูจะมาจากพลังงานสะอาด
อย่างที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจด้านพลังงานเป็นหนึ่งในกิจการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนค่อนข้างมาก ในการสร้างการเติบโตเข้าสู่นานาชาติ บ้านปูต้องให้ความสำคัญและจริงจังกับประเด็นความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล โดยมีการดำเนินงานใน 2 ระดับ คือระดับฝ่ายจัดการ ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อความยั่งยืน (sustainable committee) ในระดับบริหารรคือระดับ CEO และผู้บริหารในทุกหน่วยธุรกิจทั้งในประเทศไทยและหน่วยธุรกิจใน 10 ประเทศของบ้านปูทำหน้าที่ประสานพลังร่วมกันวางกลยุทธ์ในด้าน sustainability ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยยึดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติเป็นเป้าหมายของบริษัท โดย มุ่งเน้นใน 7 เป้าหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจของบ้านปู ได้แก่ ข้อที่ 6 (น้ำสะอาดและสุขาภิบาล) ข้อที่ 7 (พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้) ข้อที่ 8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) ข้อที่ 12 (การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน) ข้อที่ 13 (การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ข้อที่ 15 (ระบบนิเวศบนบก) และข้อที่ 17 (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)
ที่สำคัญคือ ในระดับคณะกรรมการบริษัท (Board of Directors) ก็มีการตั้งคณะกรรมการ ESG ประกอบด้วยกรรมการอิสระที่มีความรู้ความสามารถในหลายด้าน ที่สามารถนำเสนอข้อคิดเห็นและมุมมองที่มีความเป็นกลางและเป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและเพื่อการนำแนวคิด ESG เข้ามาปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยปณิธานที่ว่า ‘อุตสาหกรรมที่ดีจะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งบ้านปูเป็นบริษัทแรกๆ ในประเทศไทยที่มีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลด้าน ESG ทั้งในระดับกรรมการบริษัทซึ่งจะช่วยกำกับดูแลด้านนโยบายเป็นเหมือนเรดาร์ของบริษัทด้าน ESG และระดับฝ่ายจัดการซึ่งจะดูแลด้านการปฏิบัติและการดำเนินกิจกรรมตามเป้าหมาย ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการสัมภาษณ์ ‘คุณพิริยะ เข็มพล’ ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (คณะกรรมการ ESG) เกี่ยวกับความสำคัญในการนำแนวคิด ESG มาใช้ รวมถึงแนวทางในการปรับตัวสำหรับธุรกิจรายย่อย (MSMEs)
ในฐานะประธานกรรมการ ESG คุณพิริยะมองว่า
การดำเนินกิจการอย่างยั่งยืนจะมุ่งเน้นเรื่องใดเรื่องเดียวไม่ได้ต้องทำทุกเรื่อง กล่าวคือจะเน้นเฉพาะความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม (E) ซึ่งกำลังเป็นกระแสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (climate change) และการลดภาวะโลกร้อนอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องสร้างความยั่งยืนในด้านสังคม (S) และการกำกับดูแลกิจการ (G) ไปพร้อมๆ กันด้วย นอกจากนั้นการดูแล ESG ต้องคำนึงถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ (stakeholders) ที่หลากหลายได้แก่ คู่ค้า ผู้ร่วมทุน ผู้ถือหุ้น สถาบันการเงิน พนักงานบริษัท ลูกค้า และชุมชมแวดล้อม จึงจะเกิดความยั่งยืนที่แท้จริง
ตามที่กล่าวมาแล้วว่า โดยบ้านปูได้กำหนดยุทธศาสตร์ 5 ปี ของบริษัท (พ.ศ. 2563 – 2568) ‘Greener and Smarter’ โดยตั้งเป้าว่า ผลประกอบการ (EBITDA) 50% จะมาจากธุรกิจพลังงานสะอาดและธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์นี้บ้านปูจึงได้ลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น เช่น การลงทุนแหล่งก๊าซบาร์เนตต์ในรัฐเท็กซัส ในปี 2565 เป็นเงินลงทุนประมาณ 1,400 ล้านดอลลาร์ (เพิ่มจากแหล่งก๊าซในเพนซิลเวเนียที่มีอยู่ก่อนแล้ว) มีกำลังผลิต 864 ล้านลบ เมตร/วัน และมีการลงทุนซื้อโรงงานผลิตไฟฟ้าในสหรัฐฯ อีกกว่า 430 ล้านดอลลาร์ ทำให้ในขณะนี้บ้านปูเป็นผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่อันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ นอกจากนั้น บ้านปูยังลงทุนในโครงการ CCUS เพื่อดักจับก๊าซมีเทนจากกระบวนการผลิตก๊าซด้วย มีการลงทุนพลังงานลมในเวียดนาม มูลค่าเกือบ 120 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาบ้านปูเพิ่มการลงทุนในด้านพลังงานแสงอาทิตย์ใน 3 ประเทศได้แก่ ออสเตรเลียมูลค่า 70 ล้านดอลลาร์ จีน 60 ล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่น 250 ล้านดอลลาร์ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า บ้านปูมุ่งการลงทุนที่ “Greener” ตามกลยุทธ์ที่วางไว้โดยตลอด ในส่วน “Smarter” ก็มีการตั้งหน่วยธุรกิจใหม่คือ BanpuNext เมื่อ ปี 2563 เพื่อนำเทคโนโลยีมาผลิตพลังงานแห่งอนาคต เช่น การลงทุนในธุรกิจ Energy Storage ลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรีในประเทศจีน มีการศึกษาเรื่องพลังงานไฮโดรเจน การทำธุรกิจ E-mobility ธุรกิจ Solar Rooftop รวมทั้งการทำแพลตฟอร์มโซลูชั่นการประหยัดพลังงาน รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การลงทุนในกองทุน Healthcare และอื่นๆ เป็นต้น บ้านปูจึงมีการ transform อย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง
ตัวอย่างโครงการที่บ้านปูได้ดำเนินงานโดยแบ่งไปตามแนวคิด ESG ทั้ง 3 ด้าน
- ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment: E) บ้านปูมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แทนการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) ที่ใช้น้ำมันดีเซล การลด water withdrawal และ water discharge โดยร่วมมือกับลูกค้าที่เป็นโรงไฟฟ้าให้ใช้น้ำจากเหมืองใต้ดินของบ้านปูฯ ซึ่งจะมีน้ำใต้ดินออกมาทดแทนการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้มีการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการทำงานด้วย เช่น การร่วมมือกับพันธมิตรในการพัฒนาโครงการดักจับคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage – CCUS) การติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการจัดการมลพิษที่ออกจากปล่องโดยการใช้เทคโนโลยีดักจับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue Gas Desulphurization – FGD) การดักจับฝุ่นด้วยระบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator – ESP) โดยมีการตรวจวัดแบบต่อเนื่อง (Real Time) ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เข้มงวดของภาครัฐในหน่วยการลงทุนในทุกประเทศได้
บ้านปู พัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนในสหรัฐฯ
- ด้านสังคม (Social: S)บ้านปูมุ่งสร้างและขยาย Social Impact ตั้งแต่ระดับภายในองค์กรจนถึงภายนอกองค์กร สังคม ตลอดจนประเทศชาติ (Inside to Outside) เช่น บ้านปูมีวัฒนธรรมองค์กร Banpu Heart ที่เชื่อมโยงและหลอมรวมพนักงานจากหลากหลายเชื้อชาติและต่างวัฒนธรรมใน 10 ประเทศที่บ้านปูดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เกิดพลังการทำงานร่วมกันภายใต้วิสัยทัศน์และเป้าหมายเดียวกัน การทำกิจกรรม Business Camping และการจัดตั้งทีมบริหารจัดการในสภาวะวิกฤต (Incident Management Team: IMT) ที่เน้นความสำคัญกับสุขภาพของพนักงานเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังสร้างสัมพันธ์กับชุมชนและผู้คนในบริเวณโดยรอบพื้นที่ของการสร้างเหมืองหรือโรงงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจกับชาวบ้าน เช่น การสร้างถนนในหมู่บ้านการบริจาคสิ่งของจำเป็น การหางานให้กับคนในชุมชน รวมถึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ของชุมชนนั้น ๆ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 บ้านปูและมิตรผลร่วมกันจัดตั้งกองทุน 2000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือจัดหาอุปกรณ์แก่โรงพยาบาลต่างๆ เช่นการสร้างห้องความดันลบแก่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯแลพต่างจังหวัด จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ และช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด
บ้านปูช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
- ด้านการกำกับดูแลกิจการ (Governance: G) บ้านปูมีการปรับปรุงนโยบาย กฎระเบียบ และข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการทำธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการระดับประเทศและระดับสากล การจัดตั้งคณะกรรมการ ESG เป็นกระบวนการหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามและการให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลกิจการ มีกฎเกณฑ์ที่รัดกุมในการสร้างความปลอดภัยให้พนักงานและชุมชน การต่อต้านการคอรัปชัน ตลอดจนการดูแลเรื่อง cyber security ในการปกป้องข้อมูลบริษัทและข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าเป็นต้น มีกระบวนการต่างๆในการสร้างจิตสำนึกทาง ESG ทั้งในระดับบอร์ดและฝ่ายบริหาร (รวมทั้งมี KPI ให้ฝ่ายบริหารปฏิบัติตามเป้าหมาย ESG ของบริษัท) เพื่อให้ทุกฝ่ายช่วยให้ภารกิจบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมและขับเคลื่อนให้องค์กรดำเนินการด้าน ESG ไปในทิศทางที่เหมาะสม นอกจากนี้ ในด้านของการอำนวยความสะดวกในการทำงาน บ้านปูยังได้จัดตั้งหน่วยงาน DCOE หรือ Digital Center of Excellence เพื่อช่วยหาเทคโนโลยี Digital มาใช้ในการทำงาน เช่น โครงการ Mine Operation Collaboration Application (MOCA) ที่เหมืองในอินโดนีเซีย ที่เอื้อให้การติดตามงานผู้รับเหมาเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ทำให้สามารถรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ปัจจุบัน DCOE ได้ถูกรวมเข้ากับหน่วย IT เป็น Digital & Innovation (D&I) เป็นกลไกหนึ่งที่มีความสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานด้าน ESG
จากการดำเนินการในแต่ละด้าน บ้านปูมีตัวชี้วัดเพื่อประเมินความสำเร็จ ซึ่งแต่ละด้านจะประกอบด้วยเกณฑ์การประเมินที่แตกต่างกัน โดยอิงจากมาตรฐานสากลของ Global Reporting Initiative (GRI) ซึ่งตัวชี้วัดแต่ละตัวจะมีการตั้งเป้าหมายทั้งในระยะสั้น (1 ปี) และระยะกลาง (5 ปี) โดยมีการถ่ายทอดเป้าหมายเหล่านี้ไปยังแต่ละหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และมีการตรวจติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะทั้งจากฝ่ายจัดการและคณะกรรมการ ESG และบ้านปูได้จัดทำ รายงานเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Report) แจกแจงกิจกรรมต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน เป้าหมายและตัวชี้วัดอย่างละเอียด และนำเสนอเป็นรายงานประจำปีต่อตลาดหลักทรัพย์และสาธารณชนทุกปี
นอกจากนั้น ในปี 2566 จะเป็นปีแรกที่บ้านปูจะจัดทำ Climate Change report โดยบริษัทจะเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้บริหารจัดการความเสี่ยงภายในบริษัท และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้ลงทุน รายงานฉบับนี้ถือเป็นการเปิดเผยโดยความสมัครใจ (disclosure) ต่อสาธารณชน รายงานนี้เป็นสิ่งที่ คณะทำงาน TCFD (Task Force on Climate-related Financial Disclosures) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ ที่ตั้งขึ้นในปี 2015 ตามมติของ G20 ปัจจุบัน TCFD มีนาย Michael Bloomberg เป็นประธาน มุ่งหวังให้บริษัทเอกชนของทุกประเทศเสนอรายงานนี้ขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับตัวในกระบวนการ ESG ได้อย่างยั่งยืนและสมดุลเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความไร้เสถียรภาพและวิกฤตการณ์ในด้านเศรษฐกิจการเงินของโลก เพราะหากปรับตัวให้บรรลุเป้าหมายทางความยั่งยืนแล้วบริษัทต่างๆต้องอยู่ได้ หากธุรกิจล่มสลายก็อาจเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกได้
แม้ว่าการปรับตัวเข้าสู่ความยั่งยืนตามแนวคิด ESG จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร และเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนรอบและโลก อย่างไม่ต้องสงสัย แต่การดำเนินงานก็มีอุปสรรคและความท้าทายสูงในการปรับธุรกิจตามแนวคิด ESG คุณพิริยะ เผยว่า การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหรือการดำเนินงานในแต่ละครั้งจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงและบริษัทต้องมีวิสัยทัศน์และมีการวางแผนที่ดี โดยในช่วงปี 2562 – 2566 บ้านปูมีการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการยกระดับ ESG ของบริษัท เช่น การลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มการลงทุนในด้านพลังงานหมุนเวียน พลังงานแสงอาทิตย์ และการลงทุนในแหล่งก๊าซ ซึ่งล้วนต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก ในภาพรวมบ้านปูได้ลงทุนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของงบลงทุนในแต่ละปี หรือประมาณ 2.6 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตามในสภาวะปัจจุบัน ความกดดันจากสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ เช่น ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (geo-politics) โดยเฉพาะสงครามในยูเครน ที่ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนพลังงานและอาหาร โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูง ปัญหาต่างๆข้างต้นอาจทำให้บริษัทจำนวนมากมีผลประกอบการที่ขาดทุนและตอกย้ำด้วยความยากลำบากในการหาแหล่งเงินทุนกู้เพื่อลงทุน ทำให้การลงทุนเพื่อดำเนินการตามแนวคิด ESG เป็นเรื่องที่มีต้นทุนสูงและทำได้ยากมากขึ้น บริษัทต่าง ๆ รวมทั้งบ้านปูจึงต้องวางแผนอย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ธุรกิจมีความยั่งยืนและรับผิดชอบต่อ stake holders ในการบรรลุเป้าหมาย ESG นอกจากนี้ ในกรณีบ้านปู ยังมีความท้าทายในการรักษามาตรฐานของหน่วยธุรกิจใน 10 ประเทศที่หลากหลายมาตรฐาน ต้องมีการประสานงานระหว่างกันได้อย่างราบรื่นเพื่อให้สามารถดำเนินงานด้าน ESG ไปพร้อม ๆ กัน ที่ผ่านมาบ้านปูจึงต้อง transform ตัวเองอยู่เสมอ และต้องพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งที่จะนำตัวเข้าสู่มาตรฐานสากลของโลกและของภูมิภาคในทุกระดับ
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงพอจะเห็นภาพแล้วว่าการปรับธุรกิจเข้าสู่แนวคิด ESG นั้นมีข้อดี รวมถึงอุปสรรค และความท้าทายอย่างไรบ้าง สำหรับธุรกิจรายย่อยแล้วอาจมีข้อจำกัดในเรื่องการลงทุนเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี บริษัทต่างๆ ต้องตื่นตัวด้าน ESG จริงจัง ต้องมีการวางแผนและขับเคลื่อนอย่างสอดคล้องกันทั้งในระดับบอร์ด และระดับปฏิบัติ โดยอาจจะเริ่มจากการตั้งคำถามให้กับธุรกิจของตัวเองแบบง่าย ๆ เช่น ‘ธุรกิจของเราสามารถรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีได้มากน้อยแค่ไหน? นอกจากนั้น ต้องพิจารณาด้วยว่า การปรับตัวตามแนวคิด ESG นั้นสามารถตอบสนองต่อ stakeholders ทุกฝ่ายได้อย่างสมดุลและยั่งยืนหรือไม่ รวมทั้งต้องยึดหลักว่า “ธุรกิจจะอยู่ได้และสังคมต้องอยู่ได้” หากพยายามหาตอบให้กับคำถามเหล่านี้ได้ การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้นก็น่าจะเป็นไปได้แน่นอน