GDP ของสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 2/2566 (ช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2566) เติบโตร้อยละ 0.5 แบบปีต่อปี (YoY) โดยยังหดตัวเมื่อเทียบกับ GDP เฉลี่ยในปี 2565 ที่เติบโตเฉลี่ยตลอดปีอยู่ที่ร้อยละ 3.6 โดยเป็นผลจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น สถานการณ์เงินเฟ้อ การลดลงของตลาดแรงงานที่กระทบต่อการบริโภคส่วนบุคคล และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ยังส่งผลให้เศรษฐกิจสิงคโปร์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะเริ่มปรับขึ้นในทางบวกในช่วงปลายปี
อีกทั้งภาคเศรษฐกิจที่หดตัวสูง ได้แก่ (1) ธุรกิจการเงินและการประกันภัย หดตัวร้อยละ 1.7 ต่อเนื่องจากไตรมาสแรก โดยเป็นสาขาที่หดตัวมากที่สุด และ (2) การผลิต หดตัวร้อยละ 7.3 ต่อเนื่องจากไตรมาสแรก เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงในทุกสาขาการผลิต
อย่างไรก็ดี ภาคเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดี ได้แก่ (1) ธุรกิจโรงแรมและที่พักชั่วคราว เติบโตร้อยละ 13 ต่อเนื่องจากไตรมาสแรก เนื่องจากมีผู้เดินทางเข้าประเทศมากขึ้นหลังการเปิดประเทศ (2) อสังหาริมทรัพย์ เติบโตร้อยละ 12 ซึ่งอุปสงค์และอุปทานยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และ (3) การก่อสร้าง เติบโตร้อยละ 6.8 ต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ซึ่งเป็นผลจากผลผลิตการก่อสร้างจากภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้านอัตราการว่างงาน อยู่ที่ร้อยละ 1.9 โดยมีปริมาณการจ้างงานเพิ่มขึ้น 26,000 ตำแหน่ง โดยเป็นการจ้างงานชาวต่างชาติ (Non-Residents) สูงถึง 23,700 ตำแหน่ง ทั้งนี้ การจ้างงานเติบโตในสองภาคธุรกิจสำคัญ ได้แก่ (1) ภาคบริการ จำนวน 14,900 ตำแหน่ง และ (2) ภาคการเงินและการประกันภัย จำนวน 1,900 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเศรษฐกิจสิงคโปร์และแนวโน้มดังนี้ ปัจจุบัน อัตราการเติบโตของ GDP สิงคโปร์ยังอยู่ในช่วงขาลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดย MTI ได้ประกาศปรับลดอัตราคาดการณ์การเติบโตของ GDP สิงคโปร์ในปีนี้จากร้อยละ 0.5-2.5 เป็นร้อยละ 0.5-1.5 ทั้งนี้ การปรับตัวลงของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อในประเทศคู่ค้าใหญ่ของสิงคโปร์ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) มีแนวโน้มผ่อนคลายลง ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าของสิงคโปร์ลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยเมื่อพิจารณาจากปัจจัยทั้งหมด เช่น ต้นทุนนำเข้าที่เริ่มทยอยลดลง ตลาดแรงงานในประเทศที่ผ่อนคลายมากขึ้น และปริมาณอุปสงค์/อุปทานที่พักอาศัยที่เพิ่มขึ้น คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสิงคโปร์จะลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลัง และในระยะยาวเศรษฐกิจสิงคโปร์จึงมีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วยนโยบายและกลยุทธ์ทางด้านการค้าและการผลิตที่ผลักดันให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการค้าระดับโลก
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์