นโยบายอีคอมเมิร์ชข้ามพรมแดนของจีน
ปัจจุบัน จีนถือเป็นตลาดอีคอมเมิร์ชที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 2565 มีผู้ใช้บริการซื้อขายสินค้าออนไลน์กว่า 812 ล้านคน และมูลค่าการซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ชกว่า 40.2 ล้านล้านหยวน ในจำนวนนี้ การค้าผ่านอีคอมเมิร์ชข้ามพรมแดนมีมูลค่ากว่า 2.11 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของมูลค่าการค้าต่างประเทศของจีน แบ่งเป็นการส่งออกผ่านอีคอมเมิร์ชข้ามพรมแดน 1.55 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 หรือร้อยละ 6.4 ของมูลค่า การส่งออกทั้งประเทศ และการนำเข้าผ่านอีคอมเมิร์ชข้ามพรมแดน 5.6 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 หรือร้อยละ 3 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งประเทศ
สำหรับคู่ค้าของจีนที่มีการส่งออกสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 34.3 ของการส่งออกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทั้งหมดของจีน และสหราชอาณาจักร คิดเป็นร้อยละ 6.5 และ ประเทศนำเข้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 21.7 และสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 17.9 โดยสินค้าส่งออกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนหลัก ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้าและกระเป๋าซึ่ง คิดเป็นร้อยละ 33.1 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ คิดเป็นร้อยละ 17.1 และสินค้านำเข้าอีคอมเมิร์ซข้าม พรมแดนหลัก ได้แก่ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย คิดเป็นร้อยละ 28.4 ของสินค้านำเข้าทั้งหมด และอาหารสด คิดเป็นร้อยละ 14.7


สถานการณ์โควิด-19 ส่งเสริมการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจขายสินค้าผ่านไลฟ์สตรีมในจีน และกลายเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนมากขึ้น โดยในปี 2565 ขนาดของตลาดธุรกิจไลฟ์สตรีมของจีนเติบโต สูงกว่า 3.4 ล้านล้านหยวน และคาดว่าจะเติบโตสูงกว่า 4.9 ล้านล้านหยวนในปี 2566
รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในทุกระดับเข้าสู่การจำหน่ายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเป็นแรงขับเคลื่อนภาคการส่งออกของจีนให้สามารถเติบโตได้ในยุคหลังโควิด-19 จนสามารถสร้างมูลค่าส่งออกสูงกว่า 24 ล้านล้านหยวน เติบโตร้อยละ 10.5 ในปี 2565
จนถึงสิ้นปี 2565 คณะรัฐมนตรีจีนได้จัดพื้นที่ทดลองอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross-Border E-Commerce Pilot Zone) จำนวน 165 แห่ง ครอบคลุม 31 มณฑลทั่วประเทศ รวมนิคมอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนกว่า 690 แห่ง และผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนมากกว่า 200,000 ราย โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ ได้แก่ (1) ส่งเสริม “การส่งออก” สินค้าของผู้ประกอบการจีน เพื่อจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ในต่างประเทศ และ (2) ส่งเสริม“การนำเข้า” สินค้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในจีน ล่าสุด ในงานนิทรรศการ China Cross-Border E-Commerce Trade Fair ประจำปี 2566 ที่นครฝูโจว รัฐบาล จีนได้เผยแพร่เอกสารสมุดปกสีน้ำเงิน (Blue Book) ว่าด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน “ก้าวออกไป” (Going out) โดยเน้นการสนับสนุนให้วิสาหกิจอีคอมเมิร์ซออกไปลงทุนดำเนินธุรกิจแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้า และการสร้างคลังสินค้าในต่างประเทศมากขึ้น โดยที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ดำเนินแผนปฏิบัติการและออกนโยบาย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจำนวนมาก ดังนี้


จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า จีนได้วางแผนผลักดันอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอย่างมีระบบ เริ่มต้นจากการพัฒนาโครงสร้างอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนโดยเน้นการก่อสร้างเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อดึงดูดการส่งออกและนำเข้าสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน รวมทั้งมีนโยบายการก่อสร้างคลังสินค้าต่างประเทศในการพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนซึ่งเป็นกลไกสำคัญเพื่อช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายสินค้า
ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะนำสินค้าเข้ามาตีตลาดจีนนั้น สามารถเลือกใช้ประโยชน์จากช่องทางอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนซึ่งเป็นอีกช่องทางจำหน่ายสินค้าที่ง่ายและสะดวกกว่าช่องทางอื่น อย่างไรก็ดี แต่ละเมืองของจีนก็มีศักยภาพด้านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ที่แข็งแกร่งแตกต่างกัน การเลือกเมืองที่จะมาเป็นฐานการค้าต้องพิจารณาปัจจัยหลายประการ
แหล่งที่มา
- https://m.ebrun.com/511085.html
- https://fdi.swt.fujian.gov.cn/show-16202.html
- https://fj.china.com.cn/news/202303/27998.html
- http://www.zohi.tv/page_news_list/p/308958.html
- https://news.cnstock.com/news,bwkx-202305-5056098.htm
- http://www.news.cn/fortune/2023-02/02/c_1129329844.htm
- http://paper.people.com.cn/rmrbhwb/html/2023-07/03/content_26002643.htm
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์