จากการประเมินของนาย Garbis Iradian หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ Institute of International Finance – IIF ในรัฐวอชิงตัน ระบุว่า ยูเออี และซาอุดีอาระเบียจะกลายเป็นผู้นําประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council – GCC) ซึ่งเศรษฐกิจจะเติบโตได้ดีภายหลังการระบาดของ COVID-19 โดยปัจจัยการฟื้นตัวที่ดีของยูเออีมาจากราคาน้ํามัน อัตราการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่เพิ่มขึ้น และการปฏิรูปต่าง ๆ โดยคาดว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2022 จะสูงขึ้นภายหลังการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งขณะนี้ได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันจำนวนมากใน GCC และการระงับการผลิตน้ํามันให้ลดลงตามโควตาที่ได้ตกลงกันใน OPEC+ ทําให้ GCC จะเติบโตในระดับ 1.7% ในปี 2021 และ 4.2% ในปี 2022 ซึ่งในปัจจัย จาก Purchasing Managers’ Index – PMI และด้านเครดิตต่างบ่งบอกถึงการเติบโตในภาคธุรกิจของ GCC
.
สําหรับธุรกิจไฮโดรคาร์บอนต่อการเติบโตของ GDP ใน GCC คาดว่าจะอยู่ในระดับ 5% ในปี 2022 บนสมมติฐานว่า ข้อตกลง OPEC+ จะสิ้นสุดลงกลางปี 2022 ซึ่งเศรษฐกิจยูเออีจะเติบโตจากราคาน้ํามันที่ยังสูง อัตราการฉีดวัคซีน และความคืบหน้าในการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่ง PMI ในเดือนกรกฎาคม ของยูเออีอยู่ที่ระดับ 54 ซึ่งสูงสุดในรอบ 2 ปี และ IIF คาดว่า การที่การท่องเที่ยวกลับมาดีขึ้นในยุโรปและที่อื่น ๆ จะทําให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้น และเงินเฟ้อยูเออีจะอยู่ในระดับ 1.1% ในปี 2022 เนื่องจากอาหารมีราคาสูง ค่าขนส่งสูง แต่เศรษฐกิจยูเออีในปี 2021 จะขยายตัวได้ในระดับปานกลางจากราคาน้ํามันที่ดีขึ้น ทําให้ธุรกิจ และภาคการธนาคารจะมีสภาพคล่องมากขึ้น และทําให้ความต้องการเครดิตในภาพเอกชนดีขึ้น
.
ในส่วนของ GDP ชุดีอาระเบีย ในปี 2022 จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 4.6% เพิ่มจาก 4.1% ในปี 2020 และ 1.9% ในปี 2021 โครงการฉีดวัคซีนของซาอุดีอาระเบียมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยฉีดให้ประชากรแล้วกว่า 50% ด้านราคาน้ํามันที่สูง การลดการผลิต และส่งออกน้ํามันลง จะทําให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโต สามารถปรับปรุงสถานะทางการเงินของประชาชนให้ดีขึ้น ส่วนการเพิ่ม VAT และการเพิ่มราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่น้ํามันจะทําให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับมากกว่า 3% ในปี 2021
.
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของ GCC
.
สําหรับนโยบายของธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ GCC มีแนวโน้มทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจนถึงปี 2022 เพราะยึดตามอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาในการผูกติดกับค่าเงิน ดอลลาร์สหรัฐ และภาคธนาคารยังคงสนับสนุนสภาพคล่องในประเทศเพื่อสนับสนุนการทําธุรกิจของภาคเอกชนอยู่ โดยเฉพาะ SME ที่อนุญาตให้เลื่อนการชําระหนี้เงินกู้ต่างๆ ออกไปได้ และยังเพิ่มความสามารถในการกู้ยืมเงินได้เพิ่มเติมต่อธุรกิจต่าง ๆ
.
IIF คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อในดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI inflation) จะเพิ่มจาก 1% ในปี 2020 เป็น 2.3% ในปี 2021 เนื่องจากราคาอาหารและราคาน้ํามันที่สูงขึ้น ซึ่งอัตราเงินเฟ้อใน GCC เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.1% ในซาอุดีอาระเบียและ – 0.2% ในยูเออี สําหรับภาคการเงิน การคลังสาธารณะ จะมีภาพรวมดีขึ้นในภาครายได้จาก non-hydrocarbon และการปฏิรูประบบภาษีทั้งในซาอุดีอาระเบียและโอมาน และการตัดโครงการลงทุนต่าง ๆ ที่ไม่จําเป็นในซาอุดีอาระเบีย โอมาน และกาตาร์
.
นอกจากนี้ IIF ยังประเมินว่า ราคาน้ํามันดิบ Brent oil จะอยู่ในระดับ 67 ดอลลาร์สหรัฐ/ บาร์เรล และระดับการขาดดุลทางการคลังของ GCC อยู่ในระดับ 8.5% ของ GDP ในปี 2020 และลดลงเป็น 1% ในปี 2021 และคาดว่ารายได้จากน้ํามันของกลุ่มประเทศ GCC จะเพิ่มจาก 221 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 เป็นระดับ 326 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2021 และการประกาศแผนการปรับปรุงทางการคลังของ GCC จะเป็นไปด้วยดี แต่ในส่วนของบาห์เรนอาจต้องพยายามมากขึ้น เพื่อให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนในการหารายได้จากแหล่งที่ไม่ใช่ด้านน้ํามัน และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐลง ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และยูเออียังมีทรัพย์สินของรัฐในต่างประเทศจํานวนมาก ซึ่งจะมีการใช้จ่ายต่าง ๆ ของรัฐได้มากกว่าบาห์เรน และโอมาน
.
GCC นับเป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังการซื้อสูง เป็นตลาดนำเข้าที่สำคัญ และยังติด 1 ใน 10 กลุ่มประเทศส่งออกหลักของไทยอีกด้วย ซึ่งการที่กลุ่มประเทศ GCC เริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีนั้น จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทยที่ลงทุนใน GCC และห่วงโซ่อุปทานด้านการนำเข้า ส่งออก โดยเฉพาะ นโยบายสนับสนุนภาคเอกชน และ SMEs ในการเลื่อนชำระเงินกู้หรือกู้ยืมเงินเพื่อพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรติดตามการหารือเพื่อเปิดเขตการค้าเสรี ASEAN-GCC ในอนาคต เนื่องจาก หากข้อตกลงได้รับการเห็นชอบแล้ว จะสามารถเพิ่มโอกาสการเติบโตในตลาดสินค้าและอาหารฮาลาล เครื่องจักรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์จากยาง โดยเฉพาะ ตลาดพลังงาน และแรงงาน ที่สามารถตอบสนองความต้องการของ GCC ได้อย่างมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ไทยได้ลงนาม MoU ความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านอาหาร การค้า และ การลงทุนในผลิตภัณฑ์และโภคภัณฑ์การเกษตรร่วมกับบาห์เรนแล้ว ซึ่งอาจเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดประตูส่งออกสินค้าไปยังประเทศใกล้เคียงของบาห์เรนเพื่อขยายการรับรู้ถึงสินค้าไทยในอนาคตได้
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ