หลังจากได้ทราบถึงนโยบายในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เดนมาร์กเน้นในเรื่องการจัดการอากาศแล้ว ในตอนนี้จะพาทุกท่านมารู้จักกับมาตรการและเทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพอากาศกันบ้าง โดยเอกสาร Clean Air White Paper ของ State of Green ของเดนมาร์ก ได้ระบุตัวอย่างมาตรการและการใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมคุณภาพของอากาศของเดนมาร์กที่น่าสนใจ ดังนี้
(1) การลดมลพิษและฝุ่นควันในเมือง
เมื่อปี พ.ศ. 2562 ในการประชุม C40 World Mayors Summit ในกรุงโคเปนเฮเกน นายกเทศมนตรีเมืองจำนวน 37 เมืองได้ลงนามใน C40 Clean Air Declaration ให้คำมั่นสัญญาในการทำให้เมืองของตนสะอาดขึ้นและมีสุขภาพที่ดีขึ้นสำหรับผู้อยู่อาศัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2565 รัฐสภาเดนมาร์กได้ออกกฎควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยานพาหนะโดยมีการกำหนด low emission zones ใน 5 เมืองหลัก ได้แก่ กรุงโคเปนเฮเกน เมือง Aarhus เมือง Aalborg เมือง Odense และในย่าน Frederiksberg โดยรถบรรทุก รถโดยสาร และรถตู้ที่ขับเคลื่อนด้วยดีเซลจะต้องมีการติดตั้งตัวกรองอนุภาค (particle filter) เมื่อขับเข้าสู่เขตปล่อยมลพิษต่ำ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษและค่าปรับขึ้นอยู่กับประเภทของยานพาหนะ และบังคับใช้กับยานพาหนะทุกประเภทรวมถึงรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศด้วย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เดนมาร์กยังเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ของโลกที่กำหนดให้ใช้ท่อแคทตาไลติก (Catalytic Converter) ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกรองเปลี่ยนไอเสียในรถยนต์ให้สะอาดขึ้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ตลอดจนการควบคุมปริมาณกำมะถันในน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับปรุงการเข้าถึงการขนส่งสาธารณะและส่งเสริมการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า
นอกจากนี้ รัฐบาลเดนมาร์กยังได้เปลี่ยนระบบการทำความร้อน/ความอบอุ่นในแต่ละครัวเรือน จากเดิมที่ใช้ถ่านหินหรือน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นการใช้ district heating ที่ผลิตจากพลังงานทดแทนหรือพลังงาน ความร้อนส่วนเกินจากโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม โรงงานอุตสาหกรรมและการเผาขยะ นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2551 Danish Environmental Protection Agency ได้ออกคำสั่งตามกฎหมายฉบับแรกของโลกที่จำกัดค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับเตาเผาไม้ (wood stoves) รวมถึงส่งเสริมการใช้เตาเผาไม้ที่มีตรารับรอง Nordic Ecolabel (หรือ Swan label) ในบ้านพักครัวเรือนด้วย
(2) การลดมลพิษและฝุ่นควันจากภาคการเกษตร
ข้อมูลจาก EU ระบุว่า ฝุ่นละอองจำนวนกว่าร้อยละ 50 ของในเมืองมาจากแอมโมเนียและการปล่อยแอมโมเนียร้อยละ 95 มาจากการผลิตทางการเกษตร เดนมาร์กจึงได้ออก Action Plan on the Aquatic Environment และ Agreement on Green Growth เพื่อควบคุมการปล่อยไนโตรเจนและฟอสฟอรัสจากภาคเกษตร รวมถึงมาตรการเกี่ยวกับการจัดการปุ๋ยคอกเพื่อลดการปล่อยแอมโมเนียในคอกสัตว์ซึ่งต้องมีใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อมในการประกอบกิจการ โดยกำหนดให้ฟาร์มต่าง ๆ ต้องลดการปล่อยแอมโมเนียลงร้อยละ 30
(3) การจำกัดมลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรม
เดนมาร์กสร้างปล่องควันให้สูงขึ้นควบคู่กับการใช้ filtration solutions ที่หลากหลายครอบคลุมเกือบทุกอุตสาหกรรมและปกป้องมลพิษทางอากาศ ได้แก่ เตาเผา calciner ที่ใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ซึ่งนับว่าเป็นความพยายามด้านการวิจัยและพัฒนาในการค้นหาโซลูชั่นที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซ NOx (ไนโตรเจนออกไซด์) ลงกว่าร้อยละ 60, SCR DeNOx catalyst ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อลดการปล่อย NOx และการใช้ biomass gasification technology สำหรับโรงงานผลิตพลังงานร่วมกับความร้อน (Combined Heat and Power (CHP) plant) โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปกับความยืดหยุ่นของเชื้อเพลิง
(4) การลดมลพิษทางอากาศจากภาคการขนส่งทางน้ำ
การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางเรือ การขนส่งผู้โดยสารโดยเรือข้ามฟาก และการล่องเรือ สำราญ นับเป็นความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ รัฐบาลเดนมาร์กจึงผลักดันให้อุตสาหกรรมการเดินเรือ (maritime industry) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยการใช้เทคโนโลยีสีเขียวที่ออกแบบมาสำหรับเรือโดยเฉพาะ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ เทคโนโลยีการทำความสะอาดก๊าซไอเสียหรือ scrubbing technology ซึ่งจะทำความสะอาดมลพิษของเรือก่อนที่จะปล่อยออกสู่บรรยากาศ โดยรอบ, ระบบการฟอกไอเสีย (Exhaust Purification System) ที่เรียกว่า ExLencer ซึ่งได้ทดลองติดตั้งในเรือเฟอรี่แล้วพบว่าสามารถลดเสียงรบกวนลงกว่าร้อยละ 75 และลดอนุภาค PM2.5 ลงกว่าร้อยละ 99 และการใช้พลังงานแบตเตอรี่ในการเดินเรือโดยสารข้ามฟากระหว่างประเทศ (เดนมาร์ก – สวีเดน) ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ลงกว่าร้อยละ 65
อีกหนึ่งตัวอย่างที่โดดเด่นในปี พ.ศ. 2566 ได้แก่การเปิดตัวเรือขนส่งสินค้า carbon neutral ลำแรกของโลกของบริษัท Maersk ซึ่งนับเป็นสัญลักษณ์ของการทำให้แนวคิดเรื่อง net zero shipping sector กลายเป็นความจริงได้จากความพยายามของพันธมิตรหลายฝ่ายที่ร่วมกันเร่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย net zero ในภาคการขนส่งทางเรือ ด้วยข้อกำหนดของ IMO เกี่ยวกับการลดสารกำมะถันในเชื้อเพลิงสูงสุดไม่เกินร้อยละ 0.5 เดนมาร์กจึงได้พัฒนาระบบการติดตามตรวจสอบมลพิษทางอากาศในทะเล และกำหนดมาตรการกำกับดูแลเพื่อป้องกันมิให้เกิดการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม โดยมีการนำเทคโนโลยีเซ็นเซอร์แบบ Sealed online sensors มาติดตั้งที่ปล่องไอเสียของเรือเพื่อทำให้สามารถตรวจสอบถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างต่อเนื่อง
เดนมาร์กได้ดำเนินมาตรการควบคุมคุณภาพอากาศครอบคลุมทั้งประเทศ และคิดค้นเทคโนโลยีและโซลูชั่นอากาศสะอาดต่าง ๆ ทำให้เดนมาร์กสามารถลดมลภาวะในบรรยากาศในพื้นที่ส่วนใหญ่ในเดนมาร์กให้เหลือน้อยกว่าหนึ่งในห้าของระดับมลภาวะในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ได้สำเร็จ ส่งผลให้คุณภาพอากาศทั้งในเขตเมืองและชนบทดีขึ้น นอกจากนี้ นโยบายพลังงานเชิงรุกของเดนมาร์กที่มุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การกระจายพลังงาน และการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ส่งผลให้ระบบพลังงานของเดนมาร์กมีความยืดหยุ่นและยั่งยืนและนำไปสู่การลดมลพิษทางอากาศในเมืองได้ด้วย
ทั้งนี้ เดนมาร์กออกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานสูงแต่ยังคำนึงถึงขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมด้วยการค้นหาเทคโนโลยีและโซลูชั่นนวัตกรรมใหม่ทำให้ clean-tech / climate tech sector เป็นภาคส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดสาขาหนึ่งของเดนมาร์กและเป็นหนึ่งในฐานที่มั่นด้านการวิจัยและอุตสาหกรรมที่สำคัญในด้านนี้ของโลก โดยเมื่อปี พ.ศ. 25671 เดนมาร์กเปิดตัว Clean Air Vision ใหม่ที่มุ่งเน้นการส่งออกโซลูชันอากาศสะอาดของเดนมาร์ก (Danish exports for clean-air solutions) เป็นสองเท่าภายในปี พ.ศ. 2573
ด้านมาตรการที่อาจเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทยในการลดมลพิษทางอากาศ ได้แก่ (1) การกำหนดโซน Low emission zones ในเมืองหลวง (2) การออกกฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับการห้ามใช้รถยนต์ที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพบนท้องถนน (3) การออกใบอนุญาตสำหรับการเผาขยะพืชไร่สวน (4) การนำขยะจากเกษตรกรรมมาแปรสภาพเป็นพลังงานชีวมวล และ (5) การจัดสรรเงินทุนด้านการวิจัยค้นคว้าเพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการลดมลพิษทางอากาศ
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
