ท่ามกลางกระแสความต้องการบริโภคสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ในการเปิดงาน BioFach ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ระดับโลกที่ในปีนี้จัดในรูปแบบ ออนไลน์ระหว่างวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมานั้น Research Institute of Organic Agriculture (FiBL) ของสวิตเซอร์แลนด์ ได้เผยแพร่รายงาน “The World of Organic Agriculture” ที่ได้จัดทําร่วมกับ สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM) ระบุว่า เดนมาร์กครองสถิติเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ต่อจํานวนประชากรมากที่สุดของโลก โดยในปี 2562 ชาวเดนมาร์กบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์เฉลี่ยคนละ 2,580 โครนเดนมาร์ก (หรือประมาณ 12,500 บาท) นอกจากนี้ เดนมาร์กยังครองสถิติมีส่วนแบ่งตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศเป็นอันดับหนึ่งของโลก สูงถึงร้อยละ 12.1 โดย Organic Denmark ซึ่งเป็นองค์กรทําหน้าที่เชื่อมเครือข่ายซุปเปอร์มาเก็ตและผู้จําหน่ายสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ของเดนมาร์กเข้าด้วยกัน ได้ให้ความเห็นว่าปัจจัยหนึ่งที่ทําให้เดนมาร์กมีการบริโภคสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์สูงที่สุดในโลกอาจมาจากการที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ง่ายกว่าในหลายประเทศ โดยสามารถหาซื้อสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ได้อย่างแพร่หลายตามร้านค้าหรือซุปเปอร์มาเก็ตทั่วไป ไม่จําเป็นต้องซื้อจากร้านที่จําหน่ายสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ และอีกส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บริโภคต้องการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น ในขณะที่หัวหน้าฝ่ายเกษตรอินทรีย์ของ Danish Agriculture and Food Council ให้เหตุผล ว่าเป็นเพราะผู้บริโภคในเดนมาร์กมีความเชื่อมั่นในอาหารเกษตรอินทรีย์และตรา “Ø-label” บนสินค้าอาหารเกษตร อินทรีย์ของเดนมาร์ก
.
นอกจากนี้ รายงานของ FiBL ดังกล่าวยังระบุด้วยว่า อาหารเกษตรอินทรีย์มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมและมีศักยภาพในการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพราะนอกจากผู้บริโภคทั่วโลกได้หันมาให้ความสนใจกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศมากขึ้นแล้ว สถานการณ์ COVID-19 ในปี 2563 ยังเป็นปัจจัยที่ทําให้หลายประเทศในยุโรปมีการบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วง lockdown ที่ประชากรไม่สามารถไปรับประทานที่ร้านอาหารหรือเดินทางเพื่อท่องเที่ยวได้ จึงมีกําลังทรัพย์ในการจับจ่ายซื้ออาหารเกษตรอินทรีย์เพื่อนํามาประกอบอาหารเองที่บ้านมากขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2562 ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 106 พันล้านยูโร (3,900 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3 โดยตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ได้แก่ สหรัฐฯ (44.7 พันล้านยูโร) เยอรมนี (12 พันล้านยูโร) และฝรั่งเศส (11.3 พันล้านยูโร)
.
ในส่วนของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในเดนมาร์ก Danish Agriculture and Food Council เปิดเผยตัวเลขเบื้องต้นสําหรับปี 2563 ว่าอัตราการบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์ของเดนมาร์กมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอีกถึงร้อยละ 15 เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทําให้ผู้บริโภคจําเป็นต้องซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารเองที่บ้านเพิ่มขึ้น รวมทั้งมองว่า การขยายตัวของการบริโภคสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกเป็นโอกาสที่ดีสําหรับการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ของเดนมาร์ก ทั้งนี้ รัฐบาลเดนมาร์กตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่สําหรับทําการเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการส่งออกสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์และอัตราการบริโภคภายในประเทศเป็นสองเท่าภายในปี 2573 ปัจจุบันเดนมาร์กมีพื้นที่การเกษตรอินทรีย์ร้อยละ 12 – 13 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด และต้องการเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ภายในปี 2573
.
นาย Rasmus Prehn รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาหาร เกษตรและการประมงเดนมาร์กกล่าวถึงปัจจัยที่ทําให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ของเดนมาร์กและองค์ความรู้ด้านการเกษตรเป็นที่ต้องการทั่วโลกว่า สืบเนื่องมาจากความมุ่งมั่นของรัฐบาลเดนมาร์กที่ตั้งเป้าหมายและให้ความสําคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยเดนมาร์กเป็นประเทศแรกในโลกที่มีกฎหมายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในปี พ.ศ. 2530 และในปี พ.ศ. 2533 ได้เริ่มใช้ “Ø-label” เป็นสัญลักษณ์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์สีแดงที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคจวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต่อมาในปี 2552 เดนมาร์กได้ริเริ่มใช้สัญลักษณ์ Organic Cuisine tabel สําหรับร้านอาหารตามปริมาณสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ใช้ในการประกอบอาหารในร้าน แบ่งเป็นสีทอง (ร้อยละ 90-100) สีเงิน (ร้อยละ 60-90) และสีทองแดง (ร้อยละ 30-60) นอกจากนี้ ความสําเร็จดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมืออันยาวนานบนพื้นฐานของความไว้วางใจระหว่างภาครัฐ องค์กรด้านการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร ผู้ค้าปลีก และสถาบันวิจัยของเดนมาร์ก ที่ทําให้สินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ของเดนมาร์กเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดภายในประเทศและการส่งออก
.
เส้นทางการพัฒนาสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ของเดนมาร์ก ซึ่งภายในสามทศวรรษเดนมาร์กได้พัฒนา “organic mindset” มาสู่ธุรกิจที่เติบโตและได้รับความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย คุณภาพ และความยั่งยืนจากผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สามารถเป็นบทเรียนและแรงบันดาลใจที่น่าสนใจให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาคุณภาพและส่งเสริมสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ของไทย ทั้งในตลาดภายในประเทศและการส่งออก ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
.
ปัจจุบัน แนวโน้มด้านอาหารเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยกำลังได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากการหันมาใส่ใจอาหารเพื่อสุขภาพ ปลอดสารพิษและสารเคมี โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมเลือกซื้ออาหารเกษตรอินทรีย์มากขึ้นในหลายประเทศ ดังนั้นผู้ประกอบการด้านการเกษตรจึงสามารถศึกษาขั้นตอน และกรรมวิธีการปลูกเกษตรอินทรีย์จากประเทศเดนมาร์ก ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างมากในการส่งออกสินค้าประเภทนี้ และได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคและต่างประเทศอย่างสูง รวมทั้งผู้ประกอบการไทยด้านการนำเข้าอาหารเกษตรอินทรีย์ สามารถเลือกนำเข้าสินค้าเหล้านี้จากประเทศเดนมาร์กเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้ ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตในอุตสาหกรรมนี้สูงในอนาคต หรือผู้ประกอบการด้านการส่งออกสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ไทย สามารถเลือกส่งออกหรือพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยที่มีการนำเข้าประเทศแถบยุโรปสูง เช่น น้ำตาล ข้าวออร์แกนิค พืชไร่ พืชผสมผสาน ชา กาแฟ ผลไม้ ซึ่งในขณะนี้ อียูกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศไทย หากบรรลุข้อตกลง จะสามารถผลักดันการนำเข้าและส่งออกสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ไทยสู่เดนมาร์ก และประเทศในแถบยุโรปได้ง่ายดายขึ้น หากแต่ประเทศไทยควรผลักดันความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกร และพัฒนาโลจิสติกส์ประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จะเป็นการสร้างรายได้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างยิ่ง
.
สอท. ณ กรุงโคเปนเฮเกน