เศรษฐกิจเดนมาร์กในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564
.
GDP เดนมาร์กในไตรมาสที่ 1/2564 หดตัวลงร้อยละ 1.3 ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 2 ในช่วงฤดูหนาวและมาตรการ Lockdown ที่ตามมา ซึ่งแม้ว่าจะหดตัวมากกว่า EU ในภาพรวม (GDP หดตัวลงร้อยละ 0.4) แต่ถือว่าไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับการระบาดระลอกแรก ในไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งหดตัวถึงร้อยละ 6.7 ถือเป็นความถดถอยทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดหลังจากวิกฤตการเงินเมื่อ 12 ปีก่อน
.
นักวิเคราะห์อาวุโสของธนาคาร Sydbank ให้ข้อคิดเห็นว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดระลอกที่ 2 มีความรุนแรงน้อยกว่าระลอกแรกเนื่องจาก (1) ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น (2) การทํางานจากบ้านมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ (3) ภาคเอกชนมีความพร้อมรับมือกับมาตรการ lockdown มากขึ้น นอกจากนี้ สำนักงานสถิติเดนมาร์กได้เปิดเผยตัวเลขผู้ว่างงานล่าสุด ในเดือนพฤษภาคม 2564 จํานวน 115,300 คน ลดลงจากเดือนก่อน 13,900 คน หรือคิดเป็นอัตราว่างงานร้อยละ 4 ลดลงร้อยละ 4.5 ในเดือนเมษายน 2564
.
การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564-2565
.
กระทรวงการคลังเดนมาร์กได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ประจําปีใน “Convergence Programme 2021” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ไว้ว่าเดนมาร์กได้เริ่มเปิดเศรษฐกิจหลังจากการ lockdown ในช่วงฤดูหนาว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นและอัตราการว่างงานลดลง โดยคาดการณ์ว่า GDP จะขยายตัวร้อยละ 2.1 ในปี 2564 และร้อยละ 3.8 ในปี 2565 ซึ่งจะเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 15 ปีของเดนมาร์ก
.
มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ของ รัฐบาลเดนมาร์กตั้งแต่การระบาด ระลอกแรกเมื่อเดือน มีนาคม 2563 ไปจนถึงสิ้นปี 2565 เป็นมาตรการความช่วยเหลือทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย มาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 135 พันล้านโครนเดนมาร์ก และมาตรการชดเชยรายได้อีกมูลค่า 35 พันล้านโครนเดนมาร์ก ซึ่ง กระทรวงการคลังประเมินว่ามาตราการดังกล่าวช่วยให้เดนมาร์กสามารถรักษาหรือสร้างงานไว้ได้ 55,000 ตําแหน่งในปี 2563 85,000 ตําแหน่งในปี 2564 และ 40,000 ตําแหน่งในปี 2565 ซึ่งมีส่วนสําคัญต่อการรักษาภาคธุรกิจและ ตลาดแรงงานให้คงอยู่และพร้อมต่อการกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น
.
เดนมาร์กมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและมีปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจด้วย เช่น การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ระดับหนี้ภาครัฐต่ำ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีความหวังจากการฉีดวัคซีนต้าน COVID-19
.
นอกจากนี้ ธนาคารกลางเดนมาร์กเผยแพร่บทวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจ เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ไว้ว่าหลังจากการเปิดเศรษฐกิจในเดือน มีนาคม 2564 การบริโภคภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นทําให้การส่งออกของเดนมาร์กเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 และคาดการณ์ว่า GDP ในไตรมาสที่ 2/2564 จะขยายตัวร้อยละ 2.5 – 3.0 จากการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก และจะฟื้นตัวต่อไปในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะมาจากการส่งออกที่ได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวในต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน การลงทุนภาคเอกชนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกก็จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน
.
ในภาพรวม คาดว่า GDP เดนมาร์กจะขยายตัวร้อยละ 3.3 ในปี 2564 และร้อยละ 3.7 ในปี 2565 โดยจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ในปี 2566 ซึ่งจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรืองอย่างอ่อน (mild boom) ธนาคารกลางเดนมาร์กจึงแนะนําให้ รัฐบาลเลิกใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว และเตรียมใช้นโยบายการคลังแบบหดตัวเร็วกว่าที่วางแผนไว้ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความต้องการภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลักได้ เริ่มมีสัญญาณการขาดแคลนแรงงานแบบคอขวด โดยเฉพาะในภาคการผลิต การก่อสร้าง และบางส่วนของภาคบริการ เช่น การสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ ยังได้แนะนําให้ รัฐบาลพิจารณามาตรการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพื่อป้องกันภาวะฟองสบู่ในตลาด และผลกระทบจากความผันผวนของราคาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและธุรกิจเดนมาร์ก ได้ออกมายืนยันว่า จะยังคงไม่เข้าแทรกแซงตลาดอสังหาริมทรัพย์ตามที่นักวิเคราะห์บางสํานักเรียกร้อง เนื่องจากเชื่อว่า ราคาที่พักอาศัยจะลดลงเมื่อมีการเปิดสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้นและจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้น
.
สถานการณ์การค้าระหว่างไทย – เดนมาร์ก
.
ตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเดนมาร์กในช่วงเดือน มกราคม – พฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 413 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยไทยส่งออกมายังเดนมาร์ก 161 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 18) และไทยนําเข้าจากเดนมาร์ก 251 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 65) ทำให้ไทยเสียเปรียบดุลการค้า 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกอันดับต้นของไทยไปยังเดนมาร์ก ได้แก่ รองเท้าและชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคของบริษัทเดนมาร์กที่ผลิตในไทยและส่งกลับไปขายที่เดนมาร์ก ซึ่งการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในช่วง 5 เดือนแรกของปีสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และความต้องการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในเดนมาร์ก ในขณะที่สินค้านําเข้าอันดับแรกจากเดนมาร์กมายังไทย คือ สัตว์และ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 6 เท่า จาก 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 122 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยร้อยละ 98 ของมูลค่าสินค้ากลุ่มดังกล่าวคือ หนังดิบและหนังฟอกจากเดนมาร์ก ซึ่งเป็นสินค้าวัตถุดิบสําหรับการผลิตรองเท้าและเครื่องหนังต่าง ๆ
.
ในภาพรวม แม้ว่าเดนมาร์กต้องเผชิญการระบาดระลอกที่ 2 และมาตรการ lockdown ในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดครั้งนี้ค่อนข้างจํากัด เนื่องจากทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการปรับตัวได้ดีขึ้น เช่น การทํางานจากบ้าน การซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ การขายอาหารและเครื่องดื่ม takeaway เป็นต้น รวมทั้งมาตรการใช้ ความช่วยเหลือของ รัฐบาลเดนมาร์กที่ครอบคลุมและทั่วถึง ทําให้สามารถรักษาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กไว้ได้ รวมทั้งรักษาการจ้างงานและกําลังซื้อซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สําคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เมื่อสถานการณ์ COVID-19 เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนที่ทั่วถึงและครอบคลุมเป็นปัจจัยสําคัญที่สร้างความเชื่อมั่นต่อการฟื้นฟูของเศรษฐกิจทั้งในเดนมาร์กเอง และต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
.
การรับมือของเดนมาร์กทางด้านเศรษฐกิจต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับว่ามีความเข้มแข็ง และมีพื้นฐานที่ดี โดยสามารถรักษางานในภาคธุรกิจและ ตลาดแรงงานไว้ได้ หากแต่ยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในหลายภาคส่วนธุรกิจ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาร่วมลงทุน หรือพัฒนาแรงงานไทยเพื่อเจาะตลาดความต้องการของเดนมาร์ก โดยเฉพาะในภาคการผลิต การก่อสร้าง และภาคการบริการ อาทิ การสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ และอาจศึกษาประเด็นการส่งออกสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ไทยที่มีแนวโน้มความต้องการสูงในยุโรป เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกแก่ประเทศ และสร้างโอกาสทางรายได้แก่เกษตกรไทย เช่น น้ำตาล ข้าวออร์แกนิค ชา กาแฟ ผลไม้ เป็นต้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน