ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา เดนมาร์กได้กำหนดนโยบายและกฎระเบียบเพื่อป้องกันปัญหามลพิษ ทางอากาศหลายฉบับ ล่าสุดในปี พ.ศ. 2563 รัฐสภาเดนมาร์กได้เห็นชอบ พ.ร.บ.สภาพภูมิอากาศ (Climate Act) กำหนดเป้าหมายที่มีผลผูกพันตามกฎหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 70 (เมื่อเทียบกับปีฐานใน ปี พ.ศ. 2533) ภายในปี พ.ศ. 2573 รวมทั้งได้ตั้งเป้าหมายที่จะปลอดจากเชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี พ.ศ. 2593 พ.ร.บ. กำหนดให้ มีกลไกกำกับดูแลโดยคณะกรรมาธิการอิสระด้าน climate change และการจัดทำ Climate Action Plan ของรัฐบาล ใน 6 สาขา ซึ่งจะมีการทบทวนทุก 5 ปี ได้แก่ (1) ภาคพลังงานและอุตสาหกรรม (2) การก่อสร้างและที่อยู่อาศัย (3) การจัดการขยะ (4) การขนส่ง (5) การปฏิรูปภาษี และ (6) ภาคเกษตรกรรม เพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาทุกปี นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบที่ครอบคลุมภาคส่วนต่าง ๆ ดังนี้
- ภาคการขนส่ง เดนมาร์กออกกฎระเบียบแห่งชาติและดำเนินการตามกฎระเบียบของ EU ในการลดมลพิษทางอากาศและปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมือง ซึ่งรวมถึงกฎระเบียบ/มาตรฐานเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยานพาหนะ และการควบคุมปริมาณกำมะถันในน้ำมันเชื้อเพลิง ภายหลังจากที่ทั่วโลกยอมรับว่า สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) นั้นเป็นสารพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เดนมาร์กยังตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศแนวหน้าในการเปลี่ยนผ่านสีเขียว ด้านการขนส่งทางทะเลตามยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศของ IMO ที่มีเป้าหมายทำให้ภาคการขนส่งทางเรือมีความเป็นกลางต่อสภาพภูมิอากาศภายในหรือ ประมาณปี ค.ศ. 2050 และเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนการจัดตั้งพื้นที่ควบคุมการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ในทะเลบอลติก และทะเลเหนือ
- ภาคอุตสาหกรรม ในปี พ.ศ. 2517 เดนมาร์กได้ออก พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Act) ซึ่งกำหนดให้บริษัทที่ปล่อยมลพิษทั้งหมดจะต้องผ่านการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อม จึงจะสามารถดำเนินการผลิตได้ ซึ่งนำไปสู่การจำกัดค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมและพลังงานในปัจจุบัน
โดย พ.ร.บ. EPA เป็นเครื่องมือที่จะช่วยลดการปล่อยมลพิษในท้องถิ่นและความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนด้านการวิจัยต่าง ๆ ด้วย
- ภาคเกษตรกรรม เดนมาร์กเป็นผู้ผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ที่มีการผลิตอาหารขั้นต้น (primary food production) อย่างกว้างขวาง จึงต้องมีการควบคุมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ โดยในปี พ.ศ. 2550 เดนมาร์กได้ออก พ.ร.บ. ปศุสัตว์ (Livestock Act) โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณแอมโมเนีย ที่เป็นสาเหตุของฝุ่นละออง และนำมาซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีภายในภาคการเกษตร รวมทั้งได้ควบคุมทุกขั้นตอนที่นำไปสู่การปล่อยแอมโมเนียจากการผลิตทางการเกษตร เช่น ฟาร์มขนาดใหญ่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อมในการดำเนินงานเพื่อรับประกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่ปลอดภัย และมีการนำเทคโนโลยีที่ดีที่สุด หรือ Best Available Technology (BAT) มาประยุกต์ใช้
- ภาคการก่อสร้าง เมื่อปี พ.ศ. 2564 รัฐบาลเดนมาร์กได้ออก ยุทธศาสตร์ระดับชาติสำหรับการ ก่อสร้างที่ยั่งยืน และได้เริ่มบังคับใช้ข้อกำหนดด้านสภาพอากาศในปี พ.ศ. 2566 เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากภาคการก่อสร้าง โดยกำหนดให้อาคารใหม่ทั้งหมดต้องมีการประเมินวงจรชีวิตของอาคาร (Life Cycle Assessments: LCA) และต้องบันทึกผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดอายุการใช้งาน 50 ปี นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้ใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ การลดของเสียและมลภาวะในสถานที่ก่อสร้างให้เหลือน้อยที่สุด และการใช้พลังงานสีเขียวในไซต์การก่อสร้างแทนการใช้พลังงานจากก๊าซและดีเซล
- ภาคครัวเรือน รัฐบาลเดนมาร์กส่งเสริมให้ผู้คนตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มตั้งแต่การคัดแยกขยะภายในบ้านและนำไปทิ้งที่ถังขยะจำแนกประเภท เพื่อให้ง่ายต่อการกำจัดรีไซเคิล และนำไปผลิตพลังงานชีวมวลต่อไป ในขณะที่ภาคเอกชนส่งเสริมให้ประชาชนลดการใช้ถุงพลาสติกโดยการคิดค่าถุงพลาสติกขั้นต่ำราคา 4 โครนเดนมาร์ก (ประมาณ 20 บาท) และเรียกเก็บค่ามัดจำขวดพลาสติกและขวดแก้วเพื่อทำให้ประชาชนนำขวดมาคืนเพื่อแลกเงินกลับไป โดยจะนำขวดเหล่านั้นกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้พัฒนาพื้นที่สีเขียวและเส้นทางจักรยานเพื่อลดปริมาณการสัญจรทางรถยนต์ในตัวเมืองต่าง ๆ ลง รวมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานท้องถิ่นสนับสนุนให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการมลพิษทางกาศในเมือง
แนวทางข้างต้น ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ โดยในตอนหน้าจะกล่าวถึงเรื่องเทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนาให้คุณภาพอากาศ โปรดติดตาม
******************
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์