เดนมาร์กเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 โดย GDP ในช่วง 2 ไตรมาสของปี 2563 (quarter-to-quarter) หดตัวลงร้อยละ 1.6 และร้อยละ 7.0 ตามลําดับ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกและมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ดี เมื่อคลายมาตรการล็อกดาวน์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่สภาวะเกือบปกติทําให้ GDP เดนมาร์กในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5.2 โดยมีการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งการบริโภคขยายตัวในภาคที่ได้รับผลกระทบหนักจากมาตรการล็อกดาวน์ เช่น การค้าปลีกเครื่องนุ่งห่มและร้านอาหาร ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า GDP เดนมาร์กในปี 2563 จะหดตัวลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน (IMF คาดการณ์ว่า GDP ของ EU โดยรวมในปี 2563 จะติดลบ 7.6)
.
สภาวะเศรษฐกิจเดนมาร์กในปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็น “two-speed economy” เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลทําให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายในบางภาคส่วนของ เศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว ร้านอาหาร และกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ แต่เพิ่มการใช้จ่าย ในภาคส่วนอื่นแทน เช่น การค้าปลีก (เสื้อผ้า DIY การปรับปรุงที่พักอาศัย) โดยในเดือนกันยายน 2563 เกือบร้อยละ 50 ของภาคเศรษฐกิจมีรายได้เพิ่มขึ้นเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ในขณะที่อีกร้อยละ 40 มีรายได้ลดลง
.
การส่งออก ได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจทั่วโลกและในตลาดส่งออกหลักของเดนมาร์ก โดยการส่งออกภาคบริการได้รับผลกระทบมากที่สุด ลดลงร้อยละ 20 ในช่วงสิ้นสุดไตรมาส 3/2563 เทียบกับเมื่อสิ้นปี 2562 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคการท่องเที่ยวและการบิน ส่วนการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบน้อยกว่า โดยมีมูลค่าลดลงร้อยละ 3 ในช่วงดังกล่าว ทั้งนี้ เดนมาร์กมีโครงสร้างสินค้าส่งออกที่เป็นสิ่งรองรับแรงปะทะ (buffer) ต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากสินค้าส่งออกหลัก เช่น สินค้าเกษตร ยาและเวชภัณฑ์ และกังหันลม มีอุปสงค์ที่ไม่ผันผวนตามเศรษฐกิจโลกมากนัก และแม้ว่าอุตสาหกรรมขนมิ้งค์ของเดนมาร์กจะได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤต COVID-19 แต่คิดเป็นสัดส่วนเล็กน้อยของการส่งออกทั้งหมดจึงไม่มีผลกระทบมากในภาพรวม
.
สำหรับการจ้างงานกลับฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูร้อนหลังคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยในช่วงฤดูใบไม้ร่วงกลับสู่ 2 ใน 3 ของระดับการจ้างงานก่อนสถานการณ์ COVID-19 อัตราการว่างงานเดือนตุลาคม 2563 อยู่ที่ 131,200 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 4.6 ทั้งนี้ วิกฤต COVID-19 ส่งผลต่อการจ้างงานในแต่ละภาคส่วนของเศรษฐกิจต่างกัน เช่น ภาคขนส่ง โรงแรม ร้านอาหารและกิจกรรมด้านวัฒนธรรมยังคงมีอัตราการจ้างงานต่ําอยู่ ในขณะที่การจ้าง งานในอุตสาหกรรมการผลิตได้รับผลกระทบอย่างค่อยเป็นค่อยไป และภาคการก่อสร้างมีการจ้างงานสูงกว่าช่วงก่อน สถานการณ์ COVID-19 อย่างไรก็ดี การจ้างงานที่ลดลงในภาพรวมชะลออัตราการเติบโตของค่าแรง ยกเว้นในภาคการ ก่อสร้างที่ค่าแรงมีอัตราการเติบโตสูงและมีแรงงานไม่เพียงพอ
.
ด้านอสังหาริมทรัพย์ มีการซื้อขายในตลาดอสังหาริมทรัพย์สูง และราคาพุ่งสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3/2563 ร้อยละ 4.3 สําหรับบ้านเดี่ยว และร้อยละ 5.5 สําหรับห้องชุด เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นเพราะครัวเรือนที่เป็น “typical home buyers” ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อสถานะทางการเงินแม้ว่าจะเกิดวิกฤต COVID-19 เนื่องจากรายได้ของครัวเรือนได้รับการชดเชยจากรัฐบาลรวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยที่ลดลงเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2562 นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทาง พฤติกรรมในช่วงสถานการณ์ COVID-19 มีผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นและกดดันให้ราคาในตลาดสูงขึ้น
.
และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation ไม่รวมสินค้าหมวดอาหารสดและพลังงาน) ในปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ EU (ร้อยละ 9.0) และ Euro Area (ร้อยละ 0.4) โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ซึ่งธนาคารกลางเดนมาร์กคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะค่อย ๆ สูงขึ้นในช่วงหลายปีข้างหน้า แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสินค้านําเข้าที่ต่ำและการเติบโตของค่าจ้างในระดับปานกลาง
.
ขณะที่ แนวโน้มเศรษฐกิจเดนมาร์กปี 2564 ธนาคารกลางเดนมาร์กคาดว่า GDP เดนมาร์กในปี 2564 และปี 2565 จะขยายตัวร้อยละ 2.9 และ 3.3 ตามลําดับ โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับสู่ระดับเดียวกับก่อนวิกฤต COVID-19 ภายในสิ้นปี 2564 และกลับสู่แนวโน้มการเติบโตเดิมเต็มศักยภาพภายในครึ่งปีแรกของปี 2565
.
ปัจจัยความเสี่ยงสําคัญที่สุดยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งรวมถึงการฉีดวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศซึ่งจะมีผลต่อภาคการส่งออกเดนมาร์ก นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง EU กับสหราชอาณาจักร และบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศหลัง Brexit ที่อาจนําไปสู่ กระแส protectionism หรือการกีดกัดทางการค้าซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสําคัญสําหรับแนวโน้มเศรษฐกิจเดนมาร์กในปี 2564 ทั้งนี้ ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศจากประสบการณ์ช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาพบว่า เมื่อมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับสู่ระดับเกือบปกติ ยกเว้นในบางภาคธุรกิจบริการ ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและโครงสร้างเศรษฐกิจและเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social safety net) ที่เข้มแข็ง
.
นอกจากนี้ แผนความช่วยเหลือและเงินชดเชยผลกระทบจากมาตรการควบคุม COVID-19 ในปี 2563 และต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2564 ทําให้รัฐบาลเดนมาร์กขาดดุลงบประมาณ ในปี 2563 ร้อยละ 3.4 ของ GDP และคาดว่าจะขาดดุลงบประมาณต่อไปอีกร้อยละ 2.0 ในปี 2564 และร้อยละ 1.9 ในปี 2565 ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงในระยะยาวต่อสถานะการคลัง และหนี้สาธารณะ รวมทั้งความจําเป็นในการอนาคตที่รัฐบาลจะต้องใช้นโยบายการคลังแบบหดตัวเพื่อปรับสมดุลทางการคลัง อย่างไรก็ดี เดนมาร์กยังมีระดับหนี้สาธารณะต่ำอยู่ และคาดว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในระยะสั้นและรักษาวินัยด้านการคลังอย่างเคร่งครัดเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง
.
สำหรับนโยบายด้านเศรษฐกิจที่สําคัญในปี 2564 คาดว่าในไตรมาสแรกจะยังคงมุ่งเน้นการให้ความ ช่วยเหลือและชดเชยภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักจากมาตรการล็อกดาวน์ ตั้งแต่ช่วงก่อนวันหยุดเทศกาลคริสต์มาส โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่ามาตรการล็อกดาวน์อย่างน้อยบางส่วนน่าจะยังคงอยู่ไปจนถึงช่วงเทศกาลอีสเตอร์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเดนมาร์กได้กล่าวในสุนทรพจน์โอกาสขึ้นปีใหม่ 2564 ว่าจะเป็นจุดเปลี่ยน (turning point) ของสถานการณ์ COVID-19 ในเดนมาร์ก หลังจากนั้น คาดว่าจะเห็นนโยบายและมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลเดนมาร์กจะผลักดัน green agenda ไปพร้อมกับการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตาม Climate Act รวมทั้งการสนับสนุนภาคเอกชนในการส่งออก green technology/green solutions ทั้งนี้ เมื่อกลางปี 2563 รัฐบาลเดนมาร์กได้กําหนดให้การส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศจะเป็นลำดับความสำคัญสัมบูรณ์ (absolute priority) ของกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์กในปี 2563 และ 2564
.
ทั้งนี้ การจัดอันดับเกี่ยวกับศักยภาพทางเศรษฐกิจของเดนมาร์กในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ได้แก่
.
1. Ease of Doing Business 2020 ของ World Bank เดนมาร์กยังเป็นอันดับ 1 ในยุโรป โดยใน ภาพรวมเลื่อนลงจากอันดับ 3 เป็นอันดับ 4 (รองจากนิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และฮ่องกง)
.
2. IMD’s World Competitiveness Ranking 2020 เดนมาร์กขยับจากอันดับที่ 8 เป็นอันดับที่ 2 ในปี 2563 (รองจากสิงคโปร์) อันเป็นผลจากความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน และระบบสาธารณสุขและการศึกษา
.
3. Global Competitiveness Report Special Edition 2020: How Countries are Performing on the Road to Recovery ของ WEF เดนมาร์ก (ร่วมกับฟินแลนด์และสวีเดน) เป็นประเทศที่ได้คะแนนสูงในเกือบทั้ง 11 หมวดที่ WEF จัดให้เป็นความสำคัญ (priorities) สําหรับการฟื้นตัวหลังวิกฤต COVID-19 เช่น อันดับ 1 ด้านกฎหมาย แรงงาน และ social protection สําหรับเศรษฐกิจใหม่และความต้องการแรงงานแบบใหม่ อันดับ 2 ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และนวัตกรรมสําหรับการดูแลเด็กและผู้สูงอายุ และด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (energy transition) และเพิ่มการเข้าถึงไฟฟ้าและ ICT อันดับ 3 ด้านหลักสูตรการศึกษาและการลงทุนในทักษะสําหรับอาชีพในอนาคต
.
4. Global Innovation Index 2020 ของ WIPO เดนมาร์กขยับขึ้นจากอันดับที่ 7 เป็นอันดับที่ 5 ของโลก โดยได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1 ในตัวชี้วัดด้าน ICT use e-Govemment และ Environmental performance
.
5. e-Government Development Index (EGDI) 2020 ของ UN เดนมาร์กได้อันดับ 1 ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2
.
6. Environmental Performance Index (EPI) 2020 ของมหาวิทยาลัย Yale และ Columbia เดนมาร์กเป็นอันดับ 1 ขยับขึ้นจากอันดับที่ 3 ใน EPI 2018 โดยได้คะแนนสูงในเกือบทุกหมวดที่มีการจัดอันดับ โดยเฉพาะนโยบายและความมุ่งมั่นของรัฐบาลต่อประเด็นเรื่อง climate change นอกจากนี้ เดนมาร์กเป็นอันดับ 2 (รองจากสวีเดน) ใน SDG Index 2020
.
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเดนมาร์ก ในปี 2563 ที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทยกับเดนมาร์กระหว่างเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2563 หดตัวลงร้อยละ 18.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการนําเข้าหดตัวลงมากกว่าการส่งออก มูลค่าการค้าอยู่ที่ 695 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 321 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 14) และนําเข้า 374 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 22) ไทยเสียเปรียบดุลการค้ามูลค่า 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกหลังจากมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สินค้าส่งออกอันดับต้นยังคงเป็นสินค้าเดนมาร์กที่ผลิตในประเทศไทยและส่งกลับมาขายที่เดนมาร์ก อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและชิ้นส่วน แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ในขณะที่ สินค้านําเข้าจากเดนมาร์กที่มีมูลค่าสูงสุดยังคงประกอบด้วย สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกหลังของเดนมาร์ก
.
ด้านการลงทุนระหว่างไทยกับเดนมาร์กในปี 2563 นั้นใน (1 มกราคม – 30 กันยายน 2563) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับ BOI จาก เดนมาร์ก 1 โครงการ มูลค่า 708 ล้านบาท เป็นโครงการลงทุนใหม่ของบริษัท ดานอน สเปเชียลไลซ์ นิวทริชั่น (ประเทศไทย) จํากัด เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม UHT และนมจากพืช (Plant-based) ทั้งนี้ โครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากเดนมาร์ก มูลค่ารวมสูงเป็นลําดับที่ 13 จากคําขอรวมทั้งหมด หรือลําดับที่ 4 ของประเทศกลุ่มยุโรป
.
นอกจากนี้ ในปี 2563 มีบริษัทเดนมาร์กลงทุนใน EEC 2 บริษัท (เป็นการยื่นขอรับการ ส่งเสริมการลงทุนในปี 2563) มูลค่าการลงทุนรวม 685 ล้านบาท ได้แก่ บริษัท เมาน์เทน ท็อป (ประเทศไทย) จํากัด ผู้ผลิต Aluminium Roll Cover สําหรับรถกระบะ โดยตั้งโรงงานผลิตในนิคมอุตสาหกรรมอมตะที่จังหวัดชลบุรี เพื่อป้อนให้แก่ automotive industry และบริษัท ลินัก เอแพค จํากัด ผู้ผลิต electric linear actuator Solutions สําหรับการใช้งานใน อุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ healthcare ไปยังเกษตรกรรม ได้ซื้อพื้นที่ขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะเพื่อสร้างโรงงานผลิต
.
การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤต COVID-19 และมาตรการจํากัดการเดินทาง ของทั้งเดนมาร์กและไทย โดยระหว่างมกราคม – พฤศจิกายน 2563 มีนักท่องเที่ยวเดนมาร์กเดินทางมายังประเทศ จํานวน 66,740 คน ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งจาก 143,247 คน ในช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลงร้อยละ 53.41) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวในช่วง ไตรมาสแรกก่อนทางการไทยเริ่มใช้มาตราการจํากัดการเดินทางเข้าประเทศ และการกักตัวในสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine – ASQ)
.
แนวโน้มในปี 2564 การค้าทั้งสองประเทศยังคงต้องเผชิญกับวิกฤต COVID-19 ต่อไปในปี 2564 อย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งจะส่งผลต่อกําลังซื้อของทั้งสองฝ่าย จึงคาดว่ามูลค่าการค้าจะยังคงติดลบอยู่แต่อาจไม่มากเท่ากับในปี 2563 เนื่องจากมีฐานมูลค่าการค้าที่ต่ำลง (low base efect) การลงทุน สภาวะเศรษฐกิจในเดนมาร์กและส่วน ใหญ่ในยุโรปคาดว่าจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนวิกฤต COVID-19 ในช่วงสิ้นปี 2564 ดังนั้นจึงอาจยังไม่เห็นการขยายการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จากเดนมาร์กในประเทศไทยในช่วงปี 2564 แต่อาจเห็นการขยายการส่งออกของสินค้ากลุ่มใหม่ไปยังตลาดอาเซียนและไทยมากขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวของชาวเดนมาร์กกลุ่มหนึ่งที่มีกําลังซื้อสูงและไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากวิกฤต COVID-19 อาจจะยังคงประสงค์เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยอยู่ แต่จํานวนนักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้มากเพียงใดขึ้นอยู่กับมาตรการจํากัดการเดินทางและข้อกําหนดการกักตัวของทางการไทยในปี 2564
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน