เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 องค์กร Food Nation Denmark ได้จัดการอภิปรายเรื่อง “Global Food Talk” ซึ่งมีทั้งผู้แทนจากทั้งภาครัฐและเอกชน มากกว่า 110 เข้าร่วม ซึ่งได้มีการอภิปรายและเสนอแนวทางในการพัฒนาและผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว (green transition) วิธีการทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ และการทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์มีความยั่งยืนในระดับโลก
.
ทั้งนี้ การทำเกษตรอินทรีย์และการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในช่วง 2 – 3 ทศวรรษที่ผ่านมาได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งได้ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่พัฒนาการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ความเสื่อมโทรมของดิน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษทางดินและน้ำ และการเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น จึงจำเป็นต้องจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ โดยมีการทำเกษตรอินทรีย์และการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการแก้ไข ซึ่งประเทศต่าง ๆ ได้ตั้งเป้าหมายการแปลงพื้นที่เพาะปลูกให้เป็นแบบเกษตรอินทรีย์และกระตุ้นให้ผู้บริโภคนิยมสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
.
ประเด็นตรงนี้สอดคล้องกับนโยบาย European Green Deal ของสหภาพยุโรป ซึ่งนาย Henri Delanghe Deputy Head of Unit (Organic) ของ European Commission ได้นำเสนอว่าทางสหภาพยุโรปได้ตั้งเป้าหมายขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 ภายในปี 2573 และมียุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ ‘Farm to Fork’ มุ่งเน้นการทำให้เกิดระบบอาหารที่ยุติธรรม ดีต่อสุขภาพ มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ (2) ยุทธศาสตร์ความหลากหลายทางชีวภาพ มุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมและพลิกฟื้นความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ตลอดจนวางแผนพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสมดุลประโยชน์ทั้งต่อเกษตร ชุมชน สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายเรื่องความสามารถในการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของแต่ละประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่แตกต่างกัน เช่น ออสเตรียสามารถขยายพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ได้ร้อยละ 25 ในขณะที่เดนมาร์กและมอลตาขยายได้เพียงร้อยละ 11.5 และร้อยละ 0.5 ตามลำดับ เป็นต้น
.
ภายในงาน นาย Rasmus Prehn รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาหารและเกษตรกรรมของเดนมาร์ก ได้เน้นย้ำถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคในเดนมาร์กหันมาบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เนื่องจากการสนับสนุนทางการเมืองและการเงินจากภาครัฐ การสร้างโลโก้ให้เป็นตัวแทนของสินค้าเกษตรอินทรีย์ การเผยแพร่ประโยชน์ของการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของสัตว์ และการใช้สินค้าเกษตรอินทรีย์ในโรงอาหารของหน่วยงานภาครัฐในเดนมาร์ก จนทำให้เกิดความต้องการที่จะบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในครัวเรือนด้วยเช่นกัน
.
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า เดนมาร์กได้ให้ความสำคัญเรื่องการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ และการกระตุ้นการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างมาก ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในตลาดโลกที่มีผลต่อกิจกรรมทางการเกษตรและอาหารของไทยในทุกภาคส่วนของห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งผู้ประกอบการและภาคธุรกิจไทยควรติดตามและปรับตัวเพื่อให้ผู้บริโภคหันมาสนใจสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
.
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์