ความก้าวหน้าของเศรษฐกิจและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้ความต้องการอาหารและการป้อนผลผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการจะตอบสนองต่อความต้องการนั้น จึงเป็นเหตุให้เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีการเผาไร่นา เนื่องจากรวดเร็วต่อการจัดการพื้นที่เพื่อที่จะเตรียมการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป แม้ว่าจะเป็นวิธีที่ผิดกฎหมาย เป็นการทำการเกษตรแบบไม่ยั่งยืน รวมถึงก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพความเป็นอยู่ในชุมชนก็ตาม
ในปี 2563 มีการเผาพื้นที่การเกษตรมากกว่า 6 แสนเฮกตาร์ ส่งผลให้สภาพอากาศแย่ลง เกิดมลพิษทางอากาศและปัญหาสุขภาพ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิต การเข้าโรงพยาบาล การห้ามบิน ปิดถนน ปิดโรงเรียน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นับเป็นความเสียหายมากกว่า 65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ การเผาไร่นาในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 37% ของปัจจัยที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ
นอกจากนี้ การเผาไร่นายังส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำการเกษตร อาทิ สร้างความเสียหายและทำให้อุณหภูมิของดินเพิ่มสูงขึ้น ท้ายที่สุดเกษตกรจึงต้องเสียเงินเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ทำการเกษตรมากขึ้น อีกทั้งจากข้อมูลของ FAO เผยว่า ดินของโลกเสื่อมโทรมไปแล้วกว่า 33% และมีโอกาสเสื่อมโทรมเพิ่มขึ้นมากกว่า 90% ในปี 2593
แนวทางของ Defire
จากปัญหาข้างต้น Defire สตาร์ทอัพไทยที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ชนบท จึงได้หาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการสร้างรายได้ (green finance) ให้แก่เกษตรกรไทย โดยสร้างแพลตฟอร์มลด “การเผาไร่นา” ด้วยกลไก “คาร์บอนเครดิต” พร้อมทั้งปรับปรุงแนวทางการจัดการด้านการเกษตรที่มีมาตรฐานคาร์บอนตามแบบสากล ซึ่งทาง Defire ได้ร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น รัฐบาล และหุ้นส่วนด้านการพัฒนาคาร์บอน (carbon development partners) เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ทั้งนี้ Defire ได้ใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (remote sensing technology) อากาศยานไร้คนขับ (drone) การเชื่อมโยงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ พร้อมแบ่งปันข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet of Things) และอัลกอริทึมการประมวลผลจากข้อมูล (machine learning algorithms) เพื่อติดตามและตรวจจับการเผาตามขนาดและความเร็ว ซึ่งจะสามารถจำแนกการเผาของเกษตรกรและรายงานผลไปยังแผนคาร์บอนเครดิต (credit carbon schemes) เป็นรายบุคคลได้
นอกจากนี้ ข้อมูลด้านการเกษตรที่ได้จากการใช้เทคโนโลยีข้างต้น ยังสามารถนำไปต่อยอดในองค์กรและบริษัทด้านการเกษตรและอาหาร เพื่อเพิ่มคุณภาพและความแม่นยำทางการเกษตร เช่น การวิเคราะห์คาร์บอนอินทรีย์ในดิน และการคาดการณ์ปริมาณผลผลิต ซึ่งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพสูงและยั่งยืน
ผลลัพธ์จากแนวทางของ DeFire
- เกษตรกรกว่า 477,000 ราย จะสามารถเข้าถึงการเงินสีเขียวและอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี โดยไม่มีปัญหาที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ
- 16 ล้านตันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (C02) จะลดลง ส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นและระบบนิเวศทางธรรมชาติ
- คาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรกว่า 2.3 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปัจจุบัน มีเกษตรกรเข้าร่วมในแพลตฟอร์มของ Defire แล้วมากกว่า 1 หมื่นราย และคาดการณ์ว่า ในปี 2569 จะมีเกษตรกรเข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 387,000 ราย ซึ่งจะช่วยลดปริมาณก๊าซ CO2 จากการเผาไร่นาได้ประมาณ 1 ล้านตัน โดย ณ ราคา 10 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน จะทำให้ Defire สร้างเครดิตได้ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ การใช้แพลตฟอร์มของ Defire จะสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกร อาทิ การขายเศษพืชผล (90 ดอลลาร์/เฮกตาร์) นอกจากนี้ Defire ยังร่วมมือกับ SouthPole บริษัทต่างประเทศที่ให้บริการด้านสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนเครดิตแก่องค์กรขนาดใหญ่ ที่พยายามบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศให้ได้ภายในปี 2573
ก้าวต่อไปของ Defire
Defire ไม่เพียงแต่ใช้วิธีการหรือแนวทางลดการปล่อยคาร์บอนเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ยังตั้งเป้าที่จะขยายวิธีการนี้ไปยังประเทศใกล้เคียงด้วย รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาความแม่นยำของแพลตฟอร์ม และการรักษาความปลอดภัยของโปรแกรมที่จะช่วยให้การดำเนินงาน การตรวจสอบและเก็บข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ การเข้าร่วม TFF Academy เป็นโอกาสให้ Defire สามารถเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการระดมทุน ขณะนี้ Defire กำลังระดมทุนอยู่ที่จำนวน 6 แสนดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการลงทุนนี้จะช่วยให้ Defire สามารถขยายทีมและดำเนินงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้