1. สถานการณ์ E-Commerce ของเช็กในปี 2563 และแนวโน้มในปี 2564
.
1.1 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเช็กระบุว่า เช็กนับเป็นประเทศที่มีสัดส่วนของร้านค้าออนไลน์ (e-shop) ต่อจํานวนประชากรสูง โดยในปี 2562 มี e-shop ประมาณ 40,000 ร้าน (เฉลี่ย 4 ร้านต่อ ประชากร 1,000 คน) และมีจํานวนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.5% ต่อปี โดยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.55 แสนล้านคอรูน่าต่อปี (2.17 แสนล้านบาท) และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 15% ต่อปีในอนาคต อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตลอดจนการบังคับใช้มาตรการปิดร้านค้า ร้านอาหาร และ สถานบันเทิงระหว่างเดือน มีนาคม – พฤษภาคม 2563 ส่งผลให้ธุรกิจขายสินค้าออนไลน์เพิ่มจํานวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากการมีจํานวน e-shop เปิดใหม่ถึง 270 ร้าน ระหว่างวันที่ 14 – 21 มีนาคม 2563 (สัปดาห์แรกของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน) จากปกติมี e-shop เปิดใหม่เฉลี่ยสัปดาห์ละ 130 ร้าน และส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในสาขา อาหารสําเร็จรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ของใช้จําเป็นในชีวิตประจําวัน และเวชภัณฑ์ทั่วไป
.
1.2 จนถึงสิ้นปี 2563 เช็กมี e-shop เปิดใหม่เพิ่มขึ้น 2,900 ร้านเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมี e-shop ทั้งหมด 49,500 ร้าน ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 กลุ่มสินค้าที่มียอดจําหน่ายเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ อาหาร หนังสือ ภาพยนตร์ และเกมส์ ในขณะเดียวกันมี e-shop มากกว่า 30% ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ ทั้งนี้ ความรุนแรงของผลกระทบขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าที่จําหน่าย ส่วนร้านค้าที่ได้รับประโยชน์สูงสุดคือกลุ่ม e-shop ที่มีช่องทางจําหน่ายสินค้าทั้งแบบ online และ offline เนื่องจากผู้บริโภคชาวเช็กยังคงมีพฤติกรรมการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยแบบ “conservative” โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งนิยมซื้อสินค้าจาก e-shop ที่มีหน้าร้านเพื่อสามารถรับสินค้าและชําระเงิน ณ จุดรับสินค้าได้ด้วยเงินสดหรือบัตรชําระเงิน
.
1.3 ข้อมูลจากสมาคม e-commerce ของเช็กระบุว่า สินค้ากลุ่มอาหาร ยารักษาโรค และ เวชภัณฑ์เป็นที่ต้องการสูงและเป็นสาขาที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสําหรับกลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง ซึ่งการเติบโตของ e-shop เป็นปัจจัยสําคัญที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวของธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจการบรรจุหีบห่อ ธุรกิจการขนส่งสินค้า และธุรกิจ digital marketing โดยในปี 2563 เช็กมีมูลค่าการซื้อสินค้าออนไลน์ 1.96 แสนล้านคอรูน่า (2.744 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 26.5% จากปี 2562 และคาดว่าในปี 2564 มูลค่าการซื้อสินค้าจะเพิ่มขึ้นมาแตะที่ 2 แสนล้านคอรูน่า (2.8 แสนล้านบาท)
.
2. การเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce
.
2.1 ธุรกิจบริการจัดส่งพัสดุ มีการเปิดเผยจาก บริษัท Zasilkova ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งพัสดุและจัดส่งสินค้าของเช็กภายใต้กลุ่มธุรกิจ Group Packeta ว่า ในปี 2563 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า มาอยู่ที่ 2.5 พันล้าน คอรูน่า (3.5 พันล้านบาท) โดยมีจํานวนการขนส่งพัสดุเพิ่มขึ้น 114% หรือเท่ากับ 40.5 ล้านเที่ยว ซึ่งบริษัทคาดการณ์ว่าในปี 2564 จะมีรายได้อยู่ที่ 5.2 พันล้านคอรูน่า (7.28 พันล้านบาท) และมีจํานวนการขนส่งพัสดุทั้งหมด 70 ล้านเที่ยว มูลค่าสินค้าที่มีการจัดส่งทั้งหมดจะเพิ่มขึ้น 71% มาอยู่ที่ 4.9 หมื่นล้านคอรูน่า (6.86 หมื่นล้านบาท) ทั้งนี้ ในปี 2563 บริษัทมีจุดรับสินค้า 5,834 จุด ซึ่งในจํานวนดังกล่าวเป็นจุดรับสินค้าที่ตั้งอยู่ในเช็ก 4,022 จุด (ส่วนที่เหลือตั้งอยู่ในประเทศใกล้เคียง) และ บริษัทตั้งเป้าที่จะเปิดจุดรับสินค้าเพิ่มให้ถึง 9,000 จุด (ตั้งอยู่ในเช็ก 5,000 จุด) ภายในปี 2564 นอกจากนั้น บริษัทยังได้ลงทุนด้านนวัตกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งสินค้าโดยเปิดศูนย์ Z-Boxes ซึ่งเป็นจุดจ่ายสินค้าอัตโนมัติที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานหลักของศูนย์ฯ และควบคุมการทํางานของศูนย์ฯ ผ่าน application บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในปัจจุบันมี Z-Boxes ทั้งหมด 102 จุดในเช็ก และอีก 5 จุดในสโลวาเกีย
.
2.2 ธุรกิจให้บริการบัตรชําระเงินสมาคมบัตรชําระเงินของธนาคาร (Bank Card Association) ในเช็กเปิดเผยว่า จํานวนการออกบัตรเครดิตหรือเดบิตในเช็กเพิ่มขึ้นเป็น 13.5 ล้านใบในปี 2563 โดยในปี 2563 เพียงปีเดียวเพิ่มขึ้น 800,000 ใบ ซึ่งในจํานวนดังกล่าวเป็นบัตรประเภท contactless 12.9 ล้านใบ และมีจํานวนการชําระเงินด้วยบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 194 ล้านครั้ง จํานวนการชําระทั้งหมด 1.516 พันล้านครั้ง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่าการชําระเงินเพิ่มขึ้น 1.5 หมื่นล้านคอรูน่า (2.1 หมื่นล้านบาท) มาอยู่ที่ 9.59 แสนล้านคอรูน่า (1.3426 ล้านล้านบาท) และจนถึงสิ้นปี 2563 มีช่องทางการชําระเงินด้วยบัตรเพิ่มขึ้น 46,000 จุด (มีจํานวนจุดชําระเงินทั้งหมด 276,000 จุด) และช่องทางการชําระเงินด้วยบัตรประเภท contactless เพิ่มขึ้น 43,000 จุด (มีจํานวนจุดชําระเงินทั้งหมด 257,000 จุด) ส่วนจํานวน e-shop ที่รับการชําระเงินด้วยบัตรเพิ่มขึ้น เกือบ 1,000 ร้าน (มีจํานวนทั้งหมด 12,325 ร้าน) ในขณะเดียวกันจํานวนตู้ ATMs ลดลง 93 ตู้ (เหลือ 5,551 ตู้) และ จํานวนการถอนเงินจากตู้ ATM ลดลง 36.5 ล้านครั้ง (มาอยู่ที่ 143.2 ล้านครั้ง โดยมูลค่าการถอนเงินลดลง 8.67 หมื่น ล้านคอรูน่าหรือ 1.2138 แสนล้านบาท มาอยู่ที่ 7.351 แสนล้านคอรูน่า หรือ 1.02914 ล้านล้านบาท)
.
การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยสําคัญที่ส่งผลให้ตลาด e-Commerce ของเช็กเติบโตอย่างรวดเร็วและมีส่วนสําคัญในการเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นเร็วกว่าที่รัฐบาลเช็กเคยกําหนดไว้ ซึ่งที่ผ่านมาพฤติกรรมของผู้บริโภคเช็กมีลักษณะ “conservative” สูง นิยมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศหรือภายในภูมิภาคยุโรป ให้ความสําคัญกับสินค้าที่จําเป็นต่อชีวิตประจําวัน ไม่นิยมสินค้าฟุ่มเฟือย และมีปัจจัยด้านราคาเป็นองค์ประกอบสําคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า จึงทําให้สินค้าจากนอกภูมิภาคยุโรปเข้าสู่ตลาดเช็ก ได้จํากัด
.
อย่างไรก็ดี กระแสการเติบโตของ e-commerce และความนิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ของชาวเช็กที่เกิดขึ้น จากความจําเป็นที่ต้องปรับตัวตามวิถี “new normal” ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา น่าจะเป็นโอกาสของผู้ส่งออกและผู้ค้าปลีกของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารและสินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นที่นิยมและได้รับความเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพสินค้าในหมู่ชาวเช็กเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ที่จะสามารถเจาะตลาดเช็กผ่าน platform ของ e-shop ต่าง ๆ ของเช็กและของประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกได้มากยิ่งขึ้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก