ภาพรวมสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเช็ก
.
สถานะทางการคลังของเช็กในช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2564 มีการขาดดุลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.263 แสนล้านคอรูน่า เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งอยู่ที่ 2.651 แสนล้านคอรูน่า ซึ่งเป็นการขาดดุลที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์เช็ก โดยรายรับภาครัฐเพิ่มขึ้นจำนวน 2.08 หมื่นล้านคอรูน่า มาอยู่ที่ 1.080 ล้านล้านคอรูน่า ส่วนรายได้จากภาษี (รวมรายได้จากการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม) เพิ่มขึ้นจำนวน 3.57 หมื่นล้านคอรูน่า มาอยู่ที่ 9.439 แสนล้านคอรูน่า ในขณะที่รายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ลดลงจำนวน 1.16 หมื่นล้านคอรูน่า มาอยู่ที่ 5.038 แสนล้านคอรูน่า ส่วนรายจ่ายภาครัฐ
.
เพิ่มขึ้นจำนวน 9.44 หมื่นล้านคอรูน่า มาอยู่ที่ 1.41 ล้านล้านคอรูน่า โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้รายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลงนี้ มีสาเหตุจากการประกาศใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564
.
นอกจากนี้ ในช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2564 หนี้ภาครัฐยังได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.842 แสนล้านคอรูน่า มาอยู่ที่ 2.334 ล้านล้านคอรูน่า โดยคิดเป็นอัตรา 218,000 คอรูน่า/หัวประชากร และตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลเช็กเสนอขายพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งมีอายุครบกำหนดเกินกว่า 1 ปี ทั้งหมด 4.857 แสนล้านคอรูน่า สำหรับตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศ ซึ่งจำนวนดังกล่าว ครอบคลุมมูลค่าหนี้ที่รัฐบาลเช็กจะต้องชำระในปี 2564 แล้ว ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เช็กมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 39.1% ซึ่งนับว่าสถานการณ์หนี้ภาครัฐของเช็กในขณะนี้ ดีกว่าเมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่เช็กประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเช็กคาดการณ์ว่า ตามสถิติของ Eurostat ที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลอัตราหนี้ต่อ GDP ภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2564 เช็กจะมีหนี้สาธารณะต่อ GDP ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอียู
.
ด้านอัตราเงินเฟ้อ
.
เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติเช็ก เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายน 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.9% จาก 4.1% ในเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 โดยปัจจัยสำคัญมาจากราคาที่พักอาศัยและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสินค้าสำคัญที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ เพิ่มขึ้น 12.3% การคมนาคมขนส่ง เพิ่มขึ้น 9.6% เสื้อผ้าและรองเท้า เพิ่มขึ้น 10% ค่าสาธารณูปโภค เพิ่มขึ้น 5.5% อาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มี แอลกอฮอล์ และนมสด เพิ่มขึ้น 7.3% น้ำมันและไขมันสัตว์ เพิ่มขึ้น 14% และผัก เพิ่มขึ้น 7% โดยนักวิเคราะห์จากสำนักงานสถิติแห่งชาติเช็กคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้ออาจขยับไปแตะที่ระดับ 5% ในช่วงสิ้นปี 2564 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเกินกว่าระดับที่ธนาคารกลางเช็กคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 3% ในการประเมินเมื่อช่วงต้นปี 2564
.
อัตราการว่างงาน
.
สำนักงานการจ้างงาน กระทรวงแรงงานของเช็ก เปิดเผยข้อมูลว่า อัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2564 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.5% จาก 3.6% ในเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องและอยู่ในระดับต่ำที่สุด นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 โดยมีจำนวนคนหางานลดลงจาก 5,700 คน มาอยู่ที่ 262,142 คน เมื่ิอเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ตลาดแรงงานเช็กเริ่มเข้าสู่ภาวะการฟื้นตัวในปัจจุบัน โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างกลับมาเร่งดำเนินการผลิต แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความผันผวนของห่วงโซ่อุปทาน การขาดแคลนวัตถุดิบ และส่วนประกอบสำคัญ ตลอดจนการจ้างแรงงานต่างชาติที่ได้เริ่มกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ เมื่อเริ่มเปิดการเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างเช็กกับประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 กอปรกับมาตรการรักษาการจ้างงานของรัฐบาลผ่าน Antivirus Job Retention Programme ซึ่งเป็นมาตรการที่สนับสนุนค่าจ้างแรงงานให้กับนายจ้าง เพื่อลดการปลด และเลิกจ้างงาน ส่งผลให้อัตราการว่างงานของเช็กปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
.
ด้านการค้ากับต่างประเทศ
.
สถานการณ์การค้าต่างประเทศจนถึงเดือนสิงหาคม 2564 ของเช็กมีมูลค่าการขาดดุลที่ 2.81 หมื่นล้านคอรูน่า จากที่ได้ดุลเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ 6.3 พันล้านคอรูน่า อันเป็นผลมาจากการส่งออกยานยนต์ที่หดตัวลงต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์การขาดแคลนชิปในห่วงโซ่อุปทานโลก และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น โดยการขาดดุลในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เป็นการขาดดุลอย่างต่อเนื่อง โดยขาดดุลที่ -7.3 พันล้านคอรูน่า ในเดือนมิถุนายน และขาดดุลที่ -8.2 พันล้านคอรูน่า ในเดือนกรกฎาคม ส่วนภาพรวมการส่งออก มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่ 2.775 แสนล้านคอรูน่า และการนำเข้ามีมูลค่าอยู่ที่ 3.055 แสนล้านคอรูน่า เพิ่มขึ้น 22.7% โดยได้ดุลจากการค้ากับประเททศอียู 3.7 หมื่นล้านคอรูน่า (ลดลง 3.5 พันล้านคอรูน่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ในขณะที่การค้ากับประเทศนอกอียู มีคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ซึ่งขาดดุลกว่า 6.3 หมื่นล้านคอรูน่า (เพิ่มขึ้น 3.71 หมื่นล้านคอรูน่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเริ่มที่จะขาดดุลกับรัสเซีย
.
มูลค่าการค้าระหว่างไทย-เช็ก
.
มูลค่าการค้าไทย-เช็ก ระหว่างเดือน มกราคม – สิงหาคม 2564 อยู่ที่ 1.4323 พันล้านคอรูน่า หรือ 2.1484 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกของไทยเท่ากับ 1.0195 หมื่นล้านคอรูน่า หรือ 1.5292 หมื่นล้านบาท และมูลค่าการนำเข้า เท่ากับ 4.1273 พันล้านคอรูน่า หรือ 6.191 พันล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าถึง 6.0667 พันล้านคอรูน่า หรือ 9.1 พันล้านบาท ซึ่งสินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทย ประกอบด้วย (1) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (2) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ (3) แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า (4) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และ (5) หม้อแปลงไฟฟ้า และ ส่วนประกอบ ซึ่งอันดับ 1 – 4 ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าเดียวกับช่วงครึ่งแรกของปี 2564 โดยมีหม้อแปลงไฟฟ้า และส่วนประกอบขยับขึ้นมาแทนที่ทองแดงและสินค้าทำด้วยทองแดง ส่วนสินค้านำเข้า 5 อันดับแรกจากเช็ก ประกอบด้วย (1) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (2) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ (3) เครื่องจักรและส่วนประกอบ (4) ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก และ (5) เครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งสินค้าในอันดับที่ 5 ขยับขึ้นมาแทนที่ยุทธปัจจัย
.
แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเช็ก จะผ่อนคลายมากขึ้น แต่ยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะในเดือนตุลาคมนี้ จึงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับมาดำเนินได้ตามปกติ และยังคงเผชิญกับความผันผวนของห่วงโซ่อุปทาน และการขาดแคลนวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังสามารถเติมเต็มอุปสงค์ตลาดของเช็ก โดยเฉพาะอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบรถยนต์ ที่เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย และจำเป็นต่อภาคอุตสาหกรรมของเช็ก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยด้านการส่งออกสินค้าอื่น ๆ ไปยังเช็ก ยังควรติดตามเทรนด์การใช้จ่ายในกลุ่มอาหาร และสินค้าเพื่อสุขภาพที่มากขึ้น โดยสังเกตพฤติกรรมการใช้จ่ายแบบดิจิทัล และการสั่งซื้อสินค้าแบบ E-Shop ดังนั้น นักลงทุนไทยจึงปรับตัว เพื่อขยายโอกาสในการส่งออกกับเช็คได้มากยิ่งขึ้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก