ในห้วง 5 ปีที่ผ่านมาเช็กได้รับการจัดอันดับจาก Economist Intelligence Unit ให้อยู่ในอันดับที่ 27 – 30 จากทั้งหมด 82 ประเทศในฐานะประเทศที่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยพิจารณาจากศักยภาพทางนวัตกรรมผ่านตัวชี้วัด ได้แก่ (1) การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนใน 88% ของครัวเรือน เพิ่มขึ้น 27% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2) โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจดิจิทัล (3) E-government (4) ความมั่นคงทางไซเบอร์ และ (5) การเปิดรับนวัตกรรม ซึ่งอยู่ในอันดับสูงที่สุดของประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก และจากสถิติการการลงทุนในปี ค.ศ. 2017 พบว่า 1 ใน 3 ของการลงทุนจำนวน 106 โครงการ เป็นการลงทุนในโครงการ high-tech ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีด้าน IT และกิจกรรมเพื่อการวิจัยและพัฒนา
.
สำหรับด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยี IT และเทคโนโลยีดิจิทัล เช็กมุ่งที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับความปลอดภัยด้านไซเบอร์เพื่อรองรับการพัฒนา เทคโนโลยี IT และเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร โทรคมนาคมและพัฒนาระบบเครือข่าย 5G ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านนวัตกรรม 2019-2030 โดยเช็กต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีความเสถียรและครอบคลุมทุกพื้นที่ และอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบและวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ Big Data AI และ IoT ควบคู่กับการวางระบบความปลอดภัยด้านไซเบอร์แบบครบวงจร ซึ่งได้มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับสหรัฐฯ ด้านความมั่นคง 5G (Joint Declaration on 5G Security between the United States and the Czech Republic) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องเครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ ตลอดจนเตรียมการเพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลควบคู่กับการให้ความคุ้มครองเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค และส่งเสริมให้ ประชาชนสามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากเครือข่าย 5G อย่างทั่วถึง
.
ด้านแหล่งเงินทุนสำคัญของเช็กในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลมาจากทั้งภายในและต่างประเทศ โดยแบ่งเป็น (1) งบประมาณภายใต้ EU มูลค่า 1.8 ล้านล้านยูโร เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการรักษาสิ่งแวดล้อมการพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัล และเสริมสร้างความพร้อมในการปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคตสำหรับประเทศสมาชิก EU ตลอดจนงบประมาณของอียูเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่าง ปี ค.ศ. 2021–2027 จำนวน 1.074 ล้านล้านยูโร เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจยุโรปจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 และงบประมาณภายใต้ NextGenerationEU (NGEU) มูลค่า 750 พันล้านยูโร ในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและ เครือข่าย 5G (2) งบประมาณภายในประเทศ ซึ่งสัดส่วนหลักมาจากงบประมาณของกระทรวงอุตสาหกรรมและ การค้า สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย และภาคเอกชนเช็กที่มีการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบ อัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการ ผลิตอาวุธ และอุตสาหกรรมการผลิตอากาศยานและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งเป้าที่จะจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมและ เทคโนโลยีดิจิทัลให้อยู่ที่ระดับ 2% ของ GDP ในปี ค.ศ. 2022
.
เช็กมีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีด้าน IT และได้จัดให้อุตสาหกรรม IT เป็นสาขา หนึ่งของอุตสาหกรรมการบริการ ในปัจจุบันภาค IT มีการจ้างแรงงานทั้งหมด 316,000 คน ในสาขาย่อยด้าน IT ได้แก่ นวัตกรรม การคลัง ทรัพยากรบุคคล และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ซึ่งในจำนวน ดังกล่าวเป็นแรงงานในภาค robotic software ประมาณ 13,000 คน หรือ 4-5 % ของแรงงานทั้งหมด) โดยทำงานในบริษัทและศูนย์ให้บริการด้าน IT กว่า 350 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงมีบริษัทด้าน IT ชั้นนำตั้งอยู่จำนวนมาก เช่น Accenture J&J Exxon Mobile Red Hut Cisco Microsoft Skype CA Technologies Oracle/IBM นอกจากนั้น ยังมีบริษัทด้าน IT สัญชาติเช็กที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก เช่น AVAST AVG GoodData Socialbakers และ Kiwi.com เป็นต้น
.
ในปัจจุบัน เช็กกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และผู้เชี่ยวชาญในภาค IT ประมาณ 14,000 ตำแหน่ง และกว่า 79% ของบริษัทด้าน IT ประสบปัญหาการไม่สามารถหาผู้เชี่ยวชาญและแรงงานที่เหมาะสมได้ เนื่องจากจำนวนนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยในด้าน IT มีจำนวนลดลง ขณะที่แรงงานและผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มที่มีอายุมาก ไม่พร้อมที่จะเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อ re-train และ upskill ซึ่งเงินเดือนเริ่มต้นของนักศึกษาจบใหม่อยู่ที่ประมาณ 40,000 คอรูน่า หรือประมาณ 60,000 บาท สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานดังกล่าวอาจเป็นโอกาสสำหรับแรงงานและผู้เชี่ยวชาญด้าน IT ของไทยโดยเฉพาะในกลุ่ม startup และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เนื่องจากลักษณะงานด้าน IT สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้ จึงทำให้สามารถรับงานเป็นโครงการ และทำงานจาก ประเทศไทยได้โดยสะดวกกว่างานในประเภทอื่น โดยควรคำนึงถึงความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้จ้างงาน ตลอดจนข้อจำกัดด้านภาษาที่บริษัทขนาดเล็กถึงขนาดกลางของเช็ก อาจยังไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารอย่างกว้างขวาง
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก