ประเทศจีนเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญต่อผู้ประกอบการไทย ด้วยประชากรที่มากกว่า 1,400 ล้านคน จีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และกำลังซื้อที่มากกว่าไทยหลายเท่าตัว โอกาสที่ผู้ประกอบการและนักธุรกิจไทยจะเติบโตในตลาดจีนจึงมีค่อนข้างสูง ประกอบกับปัจจัยที่เกื้อหนุนอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรม พฤติกรรมผู้บริโภค พร้อมทั้งปัจจัยเกื้อหนุนอย่างเส้นทางขนส่งที่เชื่อมถึงกัน และความสัมพันธ์ทั้งทางด้านเชื้อชาติ การทูต รวมถึงการค้าและการลงทุนที่มีต่อกันมาอย่างยาวนาน [su_spacer size=”20″]
แต่เนื่องจากจีนเป็นประเทศใหญ่และมีความหลากหลายในหลาย ๆ ด้าน ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศจีนควรหาข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อศึกษายุทธศาสตร์ต่าง ๆ สำหรับเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มต้น โดยในบทความนี้ ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์จะแนะนำต่อถึงบทเรียนมาตรฐานของสินค้าอาหารไทย ดังนี้ [su_spacer size=”20″]
บทเรียนที่ 2 บทเรียนจากบริษัทนำเข้าอาหารแปรรูปไทยกินรี
บริษัท Yunnan Kuntai Guangda Trading จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทไทย 100% ที่ดำเนินกิจการนำเข้าและจัดจำหน่ายอาหารไทยแปรรูปเป็นหลัก เช่น น้ำผลไม้กระป๋อง กาแฟสำเร็จรูป ผลไม้อบแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวเกรียบ ข้าวสาร เครื่องปรุง ขนมขบเคี้ยว โดยบริษัทใช้ชื่อแบรนด์ของตนเองว่า “กินรี (KINNAREE)” หรืออ่านออกเสียงเป็นภาษาจีนว่า “จินลาหลี่ (金啦哩)” [su_spacer size=”20″]
บริษัทฯ ได้ให้ข้อสังเกตสำหรับปัญหาและข้อควรระวังสำหรับผู้ประกอบการไทยมา 5 ประการ [su_spacer size=”20″]
ประการแรก ได้แก่ การผลิตสินค้าของไทยขาดความต่อเนื่องและมาตรฐาน โดยเฉพาะสินค้าบางชนิดที่มียอดจำหน่ายสูง เช่น มะพร้าวอบแห้ง โดยผู้ประกอบการ SME ซึ่งเป็นผู้ผลิตจำเป็นที่จะต้องใช้โรงงานที่มีกำลังการผลิตสูงและต่อเนื่องเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดจีน หรือในกรณีกล้วยอบแห้งที่จำเป็นต้องใช้โรงงานผลิตที่ได้มาตรฐาน เพราะเคยมีประสบการณ์ที่การผลิตแต่ละล็อตได้สีของกล้วยอบแห้งไม่เท่ากัน ทำให้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าโดยรวม [su_spacer size=”20″]
ประการที่สอง คือ ปัญหาการนำเข้าและจำหน่ายสินค้า แต่เดิม บริษัทขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง R3A แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มักมีอุปสรรคด้านการกักกันสินค้าที่ด่านบ่อหานมากขึ้น โดยเกิดขึ้นในลักษณะ เช่น การปล่อยสินค้าใช้ระยะเวลานาน เจ้าหน้าที่ด่านคำนวณภาษีนำเข้าโดยใช้ราคาประเมินของจีนซึ่งสูงกว่าราคาที่ปรากฏในใบแจ้งราคาจากประเทศไทย การใช้พิกัดศุลกากร (HS Code) ระหว่างไทยและจีนบางรหัสก็แตกต่างกัน ทำให้การประเมินภาษีนำเข้าต่างกัน ในระยะหลังบริษัทจึงนำเข้าสินค้าทางเรือผ่านท่าเรือกว่างโจวมากขึ้น ขณะเดียวกัน การนำเข้าสินค้าต้องแสดงฉลากสินค้าเป็นภาษาจีนที่ชัดเจนและมีรายละเอียดค่อนข้างมาก สินค้าบางตัวที่มียอดจำหน่ายไม่สูง ไม่คุ้มค่ากับการทำฉลากเอง บริษัทจึงไปซื้อสินค้าต่อจากผู้นำเข้ารายใหญ่ในมณฑลอื่น เช่น มณฑลกวางตุ้งที่นำเข้าสินค้าจำนวนมาก ๆ แทน นอกจากนี้ สินค้าบางชนิดได้อยู่ในความต้องการของตลาดยูนนาน แต่ยังไม่สามารถนำเข้าจีนได้ เช่น ใบมะกรูด ตะไคร้ และใบกะเพรา ซึ่งต้องรอให้มีการผลักดันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยต่อไป [su_spacer size=”20″]
ประการที่สาม การลอกเลียนแบบสินค้าไทย เพราะเนื่องจากชาวจีนค่อนข้างมั่นใจในคุณภาพสินค้าของไทย บ่อยครั้งจึงมีผู้ค้าจีนลอกเลียนแบบสินค้าไทย เช่น การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตัดหน้า หรือผลิตสินค้าในจีนแต่ทำฉลากภาษาไทย รวมถึงการใช้ตัวหนังสือหรือรูปภาพที่แสดงถึงประเทศไทย ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าไทยเพื่อให้ขายสินค้าได้ราคา ทั้งนี้ สินค้าแบรนด์กินรีเคยถูกลอกเลียนแบบสินค้าบนเว็บไซต์ออนไลน์ชื่อดังของจีน จึงแจ้งผู้ดูแลเว็บไซต์ให้ดำเนินการเอาผิด และมอบรางวัลจูงใจแก่ผู้พบเห็นเพื่อให้แจ้งมายังบริษัท นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ร้านอาหารไทยเคยพบสินค้าปลอมแปลงอย่าง เช่น กะทิปลอม โดยใช้ฉลากคล้ายสินค้าชื่อดังของไทยอีกด้วย [su_spacer size=”20″]
ประการที่สี่ การจ้างแรงงานคนจีน จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานของจีนอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นจะมีโทษปรับในอัตราที่สูงมาก [su_spacer size=”20″]
และประการที่ห้า การโอนเงิน แต่เดิมบริษัทโอนเงินผ่านธนาคารจีน ซึ่งใช้เวลาโอนเงิน 15 – 20 วัน ปัจจุบัน สามารถใช้บริการของธนาคารกรุงไทยในนครคุนหมิง ซึ่งสามารถทำธุรกรรมโอนเงินหยวนได้ ทำให้การโอนเงินรวดเร็วขึ้น โดยใช้เวลาเพียง 1 วัน ซึ่งในจุดนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ประกอบการไทยที่มีการทำตลาดในจีน [su_spacer size=”20″]
บทความในครั้งถัดไปเตรียมพบกับบทเรียนของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสุราและโรงแรมไทย ซึ่งมีบทเรียนสำคัญในด้านการขายตัดราคามาเตือนผู้ประกอบการไทยทุกท่าน [su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง