ประเทศจีนประกอบด้วยมณฑลและเมืองจำนวนมากที่มีฐานะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยหนึ่งในเมืองสำคัญเหล่านั้น คือ นครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑยูนนานและเป็นเมืองสำคัญในฐานะที่เชื่อมโยงภาคตะวันตกของจีนสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์กับไทย โดยมีเส้นทาง R3A เชื่อมโยงไทย ลาว และจีน ซึ่งคุนหมิงถือเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของทางหลวงสายนี้อีกทั้งทิศทางการเติบโตของตลาดในนครคุนหมิงยังมีแนวโน้มที่ดีสำหรับสินค้าที่นำเข้าและบริการจากทั่วโลก โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตโดยผู้ประกอบการจากต่างประเทศ [su_spacer size=”20″]
นครคุนหมิงจึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยในการเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ในตลาดจีนซึ่งขณะนี้ มีผู้ประกอบการไทยหลายรายมองเห็นโอกาสเข้าไปทำตลาดในจีน โดยแต่ละบริษัทต่างมีประสบการณ์จากการดำเนินธุรกิจในพื้นที่และมีข้อควรระวังที่น่าสนใจสำหรับการทำธุรกิจ ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์จึงรวบรวมมาไว้เป็นบทความ “3 ผู้ประกอบการไทยในคุนหมิง บทเรียนที่คุณต้องรู้เมื่อจะค้าขายในจีน” ดังนี้ [su_spacer size=”20″]
บทเรียนที่ 1 บทเรียนจากนมเปรี้ยวบีทาเก้น [su_spacer size=”20″]
ประเทศจีนนับเป็นประเทศที่สองที่บริษัทเข้ามาทำตลาดในต่างประเทศต่อจากเวียดนาม โดยบริษัทฯมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านหยวน ดำเนินธุรกิจหลักด้านการนำเข้านมเปรี้ยวบีทาเก้นจากโรงงานผลิตที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม เข้าไปจำหน่ายในจีน ผ่านเส้นทางคุนหมิง – กรุงเทพฯ (R3A) โดยขนส่งสินค้าเข้าจีนด้วยรถตู้คอนเทนเนอร์เย็นจากนครปฐม – เชียงราย – สปป. ลาว – คุนหมิง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 วัน [su_spacer size=”20″]
นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2560 บริษัทมีศูนย์กระจายสินค้าอยู่ในนครคุนหมิง และมีการวางจำหน่ายนมเปรี้ยวในร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าชั้นนำของคุนหมิง อาทิ Parkson และ Vanguard รวมถึงได้นำนมเปรี้ยวเข้าวางจำหน่ายในห้างไฮเปอร์มาร์เก็ต เช่น Carrefour และ Walmart เมื่อสิ้นปี 2561 [su_spacer size=”20″]
หากพูดถึงบทเรียนจากการทำธุรกิจนมเปรี้ยว บริษัทบีทาเก้นได้ให้แนวปัญหาที่เกิดขึ้นจริงเพื่อเป็นข้อควรระวังไว้ 6 ประการ [su_spacer size=”20″]
ประการแรก คือ การขนส่งสินค้าจากไทยเข้าจีน บริษัทเลือกใช้เส้นทาง R3A เนื่องจากสะดวกและรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางเรือผ่านทางเซินเจิ้น ซึ่งแม้ค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าแต่ใช้เวลานานกว่าซึ่งไม่เหมาะสำหรับสินค้าที่มีอายุสั้น (นมเปรี้ยวมีอายุ 45 วัน) นอกจากนี้ การเดินรถภายในคุนหมิงสำหรับรถขนส่งขนาดใหญ่ (รถตู้คอนเทนเนอร์เย็น) มีการจำกัดเวลา สามารถวิ่งในเมืองได้เฉพาะช่วง 05.00 – 08.00 น. การกระจายสินค้าจึงต้องใช้รถขนาดเล็กส่งในตัวเมืองอีกทอดหนึ่ง [su_spacer size=”20″]
ประการที่สอง คือ แรงงาน สำหรับบริษัทต่างชาติจะจ้างแรงงานชาวต่างชาติได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับทุนจดทะเบียนและต้องเป็นแรงงานทักษะระดับสูง [su_spacer size=”20″]
ประการที่สาม คือ ทุนจดทะเบียน แต่ละพื้นที่มีการกำหนดเพดานขั้นต่ำสำหรับทุนจดทะเบียนบริษัทต่างชาติ เช่น มณฑลยูนนานทุนจดทะเบียนขั้นต่ำอยู่ที่ 1 ล้านหยวน และนครคุนหมิงอยู่ที่ 500,000 หยวน [su_spacer size=”20″]
ประการที่สี่ คือ คู่แข่ง ตลาดนมเปรี้ยวในจีนนับเป็นตลาด “ปราบเซียน” เพราะแม้ว่าจีนจะมีประชากรมากและมีกำลังการบริโภคสูง แต่แบรนด์ท้องถิ่นของจีนในตลาดนมเปรี้ยวก็มีความแข็งแกร่ง เช่น Mengniu และ Yili จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่นมเปรี้ยวต่างชาติจะเจาะตลาดจีน ในขณะที่ขาใหญ่อย่าง Yakult ก็เป็นแบรนด์ต่างประเทศคู่แข่งที่สำคัญ แต่เมื่อวางจำหน่ายในจีน Yakult จะไม่โฆษณาแสดงความเป็นแบรนด์ญี่ปุ่น [su_spacer size=”20″]
ประการที่ห้า คือ การนำเข้า ต้องศึกษากฎหมายของจีนอย่างละเอียด โดยเฉพาะเรื่องของฉลากสินค้าและการนำเข้าสินค้าในแต่ละล็อตต้องขออนุญาตจาก CIQ ทุกครั้ง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ด่านยังคำนวณภาษีนำเข้าโดยใช้ราคาประเมินของจีน ซึ่งมักสูงกว่าราคาที่ปรากฏในใบแจ้งราคา (Invoice) จากประเทศไทยทางบริษัทจึงเปลี่ยนไปใช้บริษัทนำเข้าส่งออกที่มีความเชี่ยวชาญและมีความสัมพันธ์อันดีกับด่านแทน [su_spacer size=”20″]
และสุดท้ายประการที่หก เครื่องหมายการค้า ควรหาที่ปรึกษากฎหมายเพื่อดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบริษัทเอง ไม่ควรมอบอำนาจให้ Partner จีนไปจด เพราะ Partner จีนอาจจะไปจดเป็นชื่อของฝ่ายจีนเองและควรดำเนินการตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันชาวจีน “หัวใส” นำเครื่องหมายการค้าของบริษัทมาแอบอ้างจดทะเบียน “ตัดหน้า” ซึ่งจะทำให้มีอุปสรรคต่อการทำตลาดจีนในอนาคต [su_spacer size=”20″]
ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากทั้ง 6 ข้อนี้ได้ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงเรียนรู้จากบทเรียนและข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการและภาคเอกชนที่ดำเนินการภายในประเทศจีนอยู่ก่อนแล้วเพื่อให้ก้าวแรกของการเริ่มต้นจากการเข้าไปทำตลาดในจีนสามารถเกิดขึ้นได้จริงและทำให้การประกอบธุรกิจดำเนินไปอย่างราบรื่นและยั่งยืน ทั้งนี้ บทความในครั้งถัดไปเตรียมพบกับบทเรียนของบริษัทด้านการนำเข้าอาหารแปรรูปไทย ซึ่งมีประเด็นสำคัญด้านมาตรฐานของสินค้าที่ไม่ควรพลาด [su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง