สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊ามีความสำคัญอย่างไร
การสร้างสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าเป็นการยกระดับการคมนาคมที่จะช่วยส่งเสริมโครงการพัฒนาพื้นที่อ่าวกวางตุ้ง–ฮ่องกง–มาเก๊า (Greater Bay Area) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาและสร้างระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจภายในพื้นที่ที่ประกอบไปด้วย ฮ่องกง มาเก๊า และหัวเมืองทั้งหมด 9 แห่งในมณฑลกวางตุ้งที่ถูกจัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง (Pearl River Delta) ซึ่งได้แก่ กว่างโจว เซินเจิ้น จูไห่ ฝอซาน ตงก่วน หุ้ยโจว จงซาน เจียงเหมิน และจ้าวซิ่ง โดยสะพานแห่งนี้จะช่วยร่นระยะเวลาในการเดินทางทางบกภายในพื้นที่ Greater Bay Area ได้ เช่น จากเดิมที่ต้องใช้ระยะเวลาเดินทางกว่า 4 ชั่วโมงจากฮ่องกงไปเมืองจูไห่ก็ลดลงเหลือเพียงแค่ 45 นาทีด้วยการใช้สะพานฯ ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าระหว่างฮ่องกง มาเก๊า และเมืองต่าง ๆ ทางตอนใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในพื้นที่ดังกล่าว [su_spacer size=”20″]
การเดินทาง
ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจราจรบนสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า
ในขณะที่ฮ่องกงและมาเก๊ามีระบบการจราจรที่ชิดทางด้านซ้ายมือ (Left-Hand Traffic – LHT) สะพานฮ่องกง-จู่ไห่-มาเก๊าจะใช้ระบบการจราจรที่ชิดทางด้านขวามือ (Right-Hand Traffic – RHT) ตามระบบของเมืองจู่ไห่และเมืองอื่น ๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากการจราจรของเมืองทั้งสามเมืองนั้นมีความแออัดมาก ทำให้แต่ละเมืองไม่ต้องการให้มีจำนวนยานพาหนะเพิ่มขึ้น สะพานแห่งนี้จึงมีข้อจำกัดให้ยานพาหนะที่มีทะเบียนข้ามเขตแดนที่กำหนดเท่านั้นจึงจะสามารถผ่านขึ้นสะพานได้ ผู้คนส่วนใหญ่จึงเดินทางข้ามสะพานแห่งนี้ด้วยรถโดยสารประจำทางหรือรถรับจ้างข้ามเขตแดน [su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้ ยานพาหนะที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและมณฑลกวางตุ้งด้วยสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า จะต้องมีประกันยานยนต์ของทั้งฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนยานพาหนะที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและมาเก๊าด้วยสะพานฯ ก็จะต้องมีประกันยานยนต์ของทั้งฮ่องกง มาเก๊า และจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากส่วนของสะพานหลักนั้นถือว่าตั้งอยู่บนน่านน้ำของจีนแผ่นดินใหญ่ จึงต้องทำตามระเบียบของจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย รายละเอียดเกี่ยวกับประกันสามารถดูได้ที่ http://www.hkfi.org.hk/hzmb/index.html [su_spacer size=”20″]
วีซ่า
ผู้ที่เดินทางข้ามสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าจะต้องผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองขาออก (Departure) ในอาคารผู้โดยสารของ Hong Kong Port, Zhuhai Port หรือ Macao Port ที่ต้นทางก่อนข้ามสะพาน และผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองขาเข้า (Arrival) ในอาคารผู้โดยสารที่ Port ปลายทางอีกครั้งหลังข้ามสะพาน [su_spacer size=”20″]
จากฮ่องกงไปมาเก๊า / จากมาเก๊าไปฮ่องกง
ผู้ที่ถือหนังสือเดินทางไทยสามารถเดินทางระหว่างฮ่องกงและมาเก๊าด้วยสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า และสามารถพำนักอยู่ในแต่ละที่ได้ 30 วัน [su_spacer size=”20″]
จากฮ่องกงไปจูไห่ / จากมาเก๊าไปจูไห่
เนื่องจากจูไห่เป็นพื้นที่ของจีนแผ่นดินใหญ่ ผู้ที่ถือหนังสือเดินทางไทยจะต้องมีวีซ่าจีนหากจะเดินทางจากฮ่องกงหรือมาเก๊าไปยังเมืองจูไห่ด้วยสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า [su_spacer size=”20″]
จากจูไห่ไปมาเก๊า / จากจูไห่ไปฮ่องกง
ผู้ที่ถือหนังสือเดินทางไทยที่มีวีซ่าเข้าจีนและเดินทางอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่อยู่แล้วสามารถเดินทางจากเมืองจูไห่ไปยังฮ่องกงหรือมาเก๊าด้วยสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าได้เลยโดยไม่ต้องขอวีซ่าอื่นเพิ่มอีก [su_spacer size=”20″]
รถโดยสารประจำทาง
รถโดยสารประจำทางที่มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ Shuttle Bus และ Cross-Boundary Coach [su_spacer size=”20″]
Shuttle Bus ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Golden Bus จะให้บริการเฉพาะบริเวณสะพาน โดยมี 2 เส้นทางคือ
(1) Hong Kong Port ↔ Zhuhai Port และ
(2) Hong Kong Port ↔ Macao Port
แต่ละเส้นทางจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที มีบริการตลอด 24 ชั่วโมง และมีเที่ยวรถทุก ๆ 10-15 นาทีในเวลาปกติ ทุก ๆ 5-10 นาทีในชั่วโมงเร่งด่วน และทุก ๆ 15-30 นาทีในช่วงกลางคืน
ผู้โดยสารสามารถซื้อตั๋วโดยสารได้ที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วและตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติที่อยู่ในอาคารผู้โดยสารของ Hong Kong Port, Zhuhai Port หรือ Macao Port หลังจากที่ผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองแล้วหรือซื้อตั๋วออนไลน์ได้ผ่านบัญชี Wechat สาธารณะชื่อ “hzmbus” และผ่านเว็บไซต์ (เป็นภาษาจีน) ของบริษัทรถ Shuttle Bus ที่ http://www.hzmbus.com/
ทั้งนี้ เนื่องจาก Shuttle Bus จะให้บริการเฉพาะบริเวณสะพานจาก Port หนึ่งไปอีก Port หนึ่งเท่านั้น ดังนั้นผู้โดยสารจะต้องเดินทางไปยัง Hong Kong Port, Zhuhai Port หรือ Macao Port ด้วยรถโดยสารสาธารณะอื่น ๆ เอง ก่อนจะผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองขาออกในอาคารผู้โดยสารของ Port ต้นทาง แล้วจึงซื้อตั๋วและขึ้นรถ Shuttle Bus ไปยัง Port ปลายทาง และเมื่อถึง Port ปลายทางและผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองขาเข้าเรียบร้อยแล้วก็ต้องเดินทางเข้าเมืองด้วยรถโดยสารสาธารณะอื่น ๆ เอาเอง [su_spacer size=”20″]
Cross-Boundary Coach ให้บริการจากตัวเมืองหนึ่งข้ามสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าไปยังอีกตัวเมืองหนึ่ง โดยเมื่อเดินทางมาถึง Port ต้นทาง รถก็จะจอดให้ผู้โดยสารลงไปผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองขาออกก่อนแล้วค่อยกลับขึ้นมาบนรถคันเดิมเพื่อเดินทางข้ามสะพานฯ และเมื่อถึง Port ปลายทางก็จะจอดให้ผู้โดยสารลงไปผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองขาเข้าอีกครั้งก่อนจะกลับขึ้นมาบนรถแล้วจึงเดินทางต่อไปยังตัวเมืองจุดหมายปลายทาง [su_spacer size=”20″]
รถรับจ้างข้ามเขตแดน
ผู้ที่ไม่ต้องการเดินทางโดยสารไปกับกลุ่มคนเยอะ ๆ หรือไม่ต้องการต่อคิวรอรถโดยสารประจำทางเป็นเวลานานก็สามารถเลือกใช้รถรับจ้างข้ามเขตแดนได้ โดยจะให้บริการเสมือนรถแท็กซี่ที่ข้ามสะพานได้ สามารถรับส่งตามจุดที่ลูกค้าต้องการ โดยลูกค้าจะต้องจองรถล่วงหน้าก่อน [su_spacer size=”20″]
รถยนต์ส่วนตัวสำหรับบริษัทและบุคคลทั่วไป
ผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนตัวจากฮ่องกงที่ไม่ได้ต้องการขับรถข้ามสะพานสามารถจอดรถที่ลานจอดรถ Car Park 1 ถึง 5 ใน Hong Kong Port ได้ โดยลานจอดรถดังกล่าวสามารถจอดรถได้มากกว่า 600 คัน หลังจากจอดรถแล้วก็สามารถไปยังอาคารผู้โดยสารเพื่อผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองขาออกของฮ่องกงแล้วจึงต่อรถ Shuttle Bus เพื่อข้ามสะพานฯ ไปอีกฝั่งหนึ่งได้ การจอดรถใน Hong Kong Port ควรทำการจองล่วงหน้า โดยจะสามารถจองล่วงหน้าได้ 24 ชั่วโมงถึง 7 วันก่อนการเดินทาง ท่านสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับการจองและทำการจองล่วงหน้าได้ที่ http://www.hzmbparking.com.hk/
ส่วนรถยนต์ส่วนตัวที่จะผ่านขึ้นสะพานฯ จะต้องเสียค่าผ่านทาง (ต่อคันต่อเที่ยว) จำนวน 150 หยวน และจะต้องได้รับอนุญาตให้ข้ามสะพานตามข้อกำหนดและโควตาต่าง ๆ ดังนี้:
เดินทางระหว่างฮ่องกง – มณฑลกวางตุ้ง
ปัจจุบันรัฐบาลฮ่องกงร่วมกับรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้ประกาศโควตาออกมาให้รถยนต์ส่วนตัวที่มีทะเบียนข้ามเขตแดน (cross-boundary private cars/ dual-plate private cars) ที่มีคุณสมบัติตามที่รัฐบาลกำหนดสามารถข้ามสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าเพื่อเดินทางระหว่างฮ่องกงและมณฑลกวางตุ้งได้ โดยมีโควตาจำนวน 10,000 คันสำหรับรถยนต์ข้ามเขตแดนที่จดทะเบียนในฮ่องกงซึ่งเจ้าของรถยนต์จะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ (1) เป็นบริษัทของฮ่องกงที่จ่ายภาษีให้กับรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งมากกว่า 100,000 หยวนภายในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา (2) เป็นบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงของฮ่องกงที่เป็นที่รู้จักระดับชาติ (3) เป็นพลเมืองฮ่องกงที่บริจาคเงินให้กับมูลนิธิต่าง ๆ ในมณฑลกวางตุ้งมากกว่า 5 ล้านหยวน หรือ (4) เป็นพลเมืองฮ่องกงที่เป็นสมาชิกสภาทางด้านกฎหมายหรือทางด้านการเมืองของมณฑลกวางตุ้ง ผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจะสามารถสมัครขอรับใบอนุญาตในการใช้สะพานฯ ได้ที่ Guangdong Public Security Department (GDPSD) หรือ Kowloon Bay Entry Permit Service Centre และ Shatin Entry Permit Service Centre ของ China Travel Service (Hong Kong) Limited โดยใบอนุญาตจะมีอายุการใช้งาน 5 ปี ซึ่งก็จะสามารถต่ออายุได้ตามเงื่อนไขและโควตาต่าง ๆ ที่มีอยู่เมื่อถึงเวลานั้น [su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้รถยนต์ข้ามเขตแดนที่จดทะเบียนในฮ่องกงที่ปัจจุบันสามารถข้ามเขตแดนอื่น ๆ ระหว่างฮ่องกงและมณฑลกวางตุ้งได้อยู่แล้ว จะได้รับอนุญาตให้ใช้สะพานฯ ได้ในช่วงระยะเวลาทดลองที่จำกัดไว้ 2 ปี โดยรถยนต์ที่สามารถข้ามเขตแดน Lok Ma Chau (Huanggang), Man Kam To และ Sha Tau Kok ได้อยู่แล้วจะสามารถใช้สะพานฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 จนถึง 24 กุมภาพันธ์ 2564 ในขณะที่รถยนต์ที่สามารถข้ามเขตแดน Shenzhen Bay Port ได้อยู่แล้วจะสามารถใช้สะพานฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2562 จนถึง 28 เมษายน 2564 [su_spacer size=”20″]
เดินทางระหว่างฮ่องกง – มาเก๊า
รัฐบาลมีโควตาให้รถยนต์ข้ามเขตแดนที่จดทะเบียนในฮ่องกงสามารถใช้สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าเพื่อเดินทางระหว่างฮ่องกงและมาเก๊าได้จำนวน 300 คัน โดยแบ่งเป็น 150 คันสำหรับบริษัท และ 150 คันสำหรับบุคคลทั่วไป โดยบริษัทจะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนทั้งในฮ่องกงและมาเก๊า หรือจดทะเบียนบริษัทในฮ่องกงและเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทที่จดทะเบียนในมาเก๊า ส่วนบุคคลทั่วไปจะต้องเป็นพลเมืองถาวรของฮ่องกงที่ได้รับการจ้างงานและได้รับเงินเดือนในมาเก๊า หรือเป็นพลเมืองถาวรของฮ่องกงที่จัดตั้งบริษัทที่จดทะเบียนในมาเก๊า ใบอนุญาตข้ามสะพานฯ นี้มีอายุการใช้งาน 3 ปี [su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้รัฐบาลยังมีโครงการ HZMB Macao Port Park-and-Ride Scheme ให้รถยนต์ทั่วไปจากฮ่องกงสามารถเดินทางข้ามสะพานฯ แล้วไปจอดที่อาคารจอดรถ East Car Park ที่ Frontier Post ใน Macao Port เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ได้ ซึ่งอาคารจอดรถดังกล่าวสามารถจอดรถยนต์ได้ประมาณ 3,000 คัน โดยหลังจากจอดรถแล้วผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารก็สามารถเข้าไปยังอาคารผู้โดยสารเพื่อผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของมาเก๊าแล้วจึงต่อรถโดยสารสาธารณะเข้าไปในตัวเมืองมาเก๊าได้ ผู้ขับขี่รถยนต์ที่สนใจสามารถสมัครโครงการดังกล่าวได้ที่กรมการขนส่งของฮ่องกง (Transport Department) ซึ่งกรมการขนส่งของฮ่องกงก็จะส่งเรื่องไปขอใบอนุญาตจากมาเก๊าและจีนแผ่นดินใหญ่ให้ และผู้ขับขี่จะต้องทำการจองที่จอดรถล่วงหน้าก่อนเดินทางด้วย [su_spacer size=”20″]
รถบรรทุกสินค้า
ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดออกมาค่อนข้างมากสำหรับรถยนต์ส่วนตัว แต่สำหรับรถบรรทุกสินค้าต่าง ๆ จะไม่มีข้อจำกัดมากเนื่องจากรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าหันมาใช้สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊ามากขึ้น รถขนส่งสินค้า (goods vehicles) และรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ (container trucks) ที่มีทะเบียนข้ามเขตแดนอยู่แล้วจะสามารถข้ามสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าได้เลยโดยไม่ต้องทำเรื่องสมัครขอใบอนุญาตอื่น ๆ อีก อย่างไรก็ตามรถดังกล่าวจะต้องมีความสูงและบรรทุกน้ำหนักไม่เกินขีดจำกัดที่กำหนดไว้ในเมืองที่อยู่บนเส้นทางขับขี่ ซึ่งแต่ละเมืองก็จะกำหนดขีดจำกัดไว้แตกต่างกันออกไป เช่น จีนแผ่นดินใหญ่อนุญาตให้รถขนส่งสินค้าบรรทุกได้สูงสุด 49 ตัน ในขณะที่ฮ่องกงอนุญาตให้สูงสุด 44 ตัน และมาเก๊าอนุญาตให้สูงสุด 38 ตัน ดังนั้นผู้ประกอบการที่ต้องการใช้สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าในการขนส่งสินค้าจึงควรศึกษากฎระเบียบ ข้อกำหนด รวมถึงพิธีการศุลกากรทางบกของด่านที่จะต้องผ่านให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจใช้เส้นทางดังกล่าว ในส่วนของค่าผ่านทางสำหรับข้ามสะพาน (ต่อคันต่อเที่ยว) รถขนส่งสินค้าจะต้องเสียค่าผ่านทาง 60 หยวน ในขณะที่รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์จะต้องเสียค่าผ่านทาง 115 หยวน [su_spacer size=”20″]
ในบทความครั้งต่อไปซึ่งจะเป็นตอบจบ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง ได้เตรียมบทวิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยมาบอกเล่าให้ทุกท่านได้ทราบ โดยจะรวมถึงการขนส่งสินค้าประเภทต่าง ๆ การใช้ประโยชน์จากสนามบินและเส้นทางคมนาคมรอบข้าง รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการเข้าไปตั้งสำนักงานและพื้นที่การผลิตสินค้าของคนไทย [su_spacer size=”20″]
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง