เช่นเดียวกับในหลายๆ เมืองใหญ่ของจีน นครกุ้ยหยาง (เมืองเอกของมณฑลกุ้ยโจว) กำลังประสบกับปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) และการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้สูงอายุ โดยในปี 2560 กุ้ยหยางมีจำนวนผู้สูงอายุ (ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป) 660,200 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.24 ของจำนวนประชากรในนครกุ้ยหยาง และสัดส่วนผู้สูงอายุก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2563 (ปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 ของจีน) ผู้สูงอายุในนครกุ้ยหยางจะเพิ่มเป็นกว่า 700,000 คน [su_spacer size=”20″]
ในความเป็นจริง มณฑลกุ้ยโจวก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยตั้งแต่ปี 2546 แล้ว และมีสัดส่วนประชากรในวัยแรงงานเพียง 3 คนต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน สาเหตุสำคัญที่ทำให้โครงสร้างประชากรเป็นเช่นนี้ เกิดจากผลของ “นโยบายลูกคนเดียว” หรือนโยบายการวางแผนครอบครัวอันเข้มข้นของรัฐบาลจีนตั้งแต่ปี 2505 ซึ่งผลจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้มีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลงเป็นอย่างมาก ประกอบกับประชากรจีนมีอายุยืนยาวมากขึ้น เนื่องจากจีนมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจึงมีคุณภาพชีวิตและการรักษาพยาบาลดีขึ้น [su_spacer size=”20″]
แม้สังคมจีนจะยังให้ความเคารพผู้สูงอายุและยึดถือเรื่องความกตัญญู แต่ก็มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยต้องอยู่ลำพัง ไม่มีคนดูแล เพราะลูกหลานต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว จากสถิติจำนวนผู้สูงอายุในนครกุ้ยหยาง 660,200 คน พบว่า เป็นผู้สูงอายุที่อยู่โดดเดี่ยว ลูกหลานไม่มีเวลามาดูแล และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หรือต้องการความดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 21.7 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดในนครกุ้ยหยาง กิจการดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์ในการลดภาระของกำลังแรงงานในครอบครัว [su_spacer size=”20″]
ไม่กี่ปีมานี้ นอกจากเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ เช่น ประกันสังคม-เงินสงเคราะห์ชราภาพ และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแล้ว (กุ้ยหยางให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 80-89 ปี เดือนละ 60 หยวน ผู้ที่มีอายุ 90-99 ปี เดือนละ 100 หยวน และผู้ที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป เดือนละ 200 หยวน) รัฐบาลกุ้ยหยางยังได้เร่งพัฒนากิจการดูแลผู้สูงอายุให้มีความครอบคลุมหรือเพียงพอต่อความต้องการของสังคม การบริการมีความหลากหลาย และตอบสนองผู้สูงอายุหลายระดับ โดยพัฒนาทั้งบ้านพักคนชรา (Residential Home Care) สถานสงเคราะห์คนชราแบบไปกลับ (Day Care Center) และกิจการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน (Aged Care Community Service) ให้ตอบโจทย์ “ยุคสังคมผู้สูงวัย” อยู่ดีมีสุข [su_spacer size=”20″]
ในช่วงปี 2559-2560 กุ้ยหยางดึงดูดการลงทุนด้านกิจการดูแลผู้สูงอายุจำนวน 9 โครงการ มูลค่าการลงทุน 801 ล้านหยวน และอยู่ระหว่างการเจรจาอีกกว่า 60 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 33,000 ล้านหยวน โดยเน้นการพัฒนากิจการดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบ Combination of Medical and Health Care คือ การผสมผสานระหว่างการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเข้าไว้ด้วยกัน [su_spacer size=”20″]
แต่เดิม บ้านพักคนชราของจีนจะเน้นการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแต่ไม่มีการรักษาพยาบาล ขณะที่โรงพยาบาลให้การรักษาแต่ไม่มีการดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุต้องเดินทางไปมาระหว่างบ้านพักคนชรากับโรงพยาบาล สร้างภาระให้กับคนในครอบครัว บางครั้งผู้สูงอายุก็ยึดเตียงของโรงพยาบาลเป็น “บ้านพักคนชรา” กันไปเลย เกิดสภาวะที่เรียกว่า “เตียงคนไข้ไม่พอ” ให้กับโรงพยาบาล และด้วยแนวคิด Combination of Medical and Health Care จึงสร้างความสะดวกสบายให้กับตัวผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัวได้เป็นอย่างดี [su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้ กุ้ยหยางยังเน้นการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนในรูปแบบ Community elderly day care center ซึ่งจะบริการสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร คนดูแล การตรวจสุขภาพเบื้องต้น (เช่น การวัดน้ำตาลในเลือด และความดันเลือด) การฟื้นฟูสุขภาพ สันทนาการและกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ ในชุมชนใกล้บ้านแบบเช้าไปเย็นกลับ โดยตอนกลางวันผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลและเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนวัยเดียวกันที่คุ้นเคย เช่น เล่นไพ่นกกระจอก หมากรุก ตกปลา เต้นรำ และสปาเท้า ทำให้ได้รับความสบายใจและไม่เหงา ตอนกลางคืนก็กลับบ้านมาอยู่กับลูกหลานในครอบครัว และหากล้มป่วยกะทันหันก็จะได้รับความช่วยเหลือฉุกเฉินแบบทันท่วงที [su_spacer size=”20″]
ขอยกตัวอย่างการก่อตั้งกิจการดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบ Combination of Medical and Health Care ในเขตต่าง ๆ ของนครกุ้ยหยาง ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ชุมชนของเขตหนานหมิงและเขตหยุนเอี๋ยน ซึ่งเป็นเขตที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในนครกุ้ยหยาง ได้ก่อตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุรูปแบบ Combination of Medical and Health Care ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชน (Public Private Partnership) โดยรัฐบาลเป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเอกชนลงทุนด้านอุปกรณ์และการบริหารงาน สำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในเขตหนานหมิงมีพื้นที่ 6,100 ตร.ม. เป็นอาคาร 5 ชั้น โดยชั้น 1 และ 2 เป็นสถานพยาบาล ซึ่งมีโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนมณฑลกุ้ยโจว โรงพยาบาลประชาชนนครกุ้ยหยาง และโรงพยาบาลช่องปากนครกุ้ยหยาง เป็นผู้ดูแล ส่วนชั้น 3 เป็นการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนรูปแบบ Community elderly day care center ส่วนชั้น 4 และ 5 เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หรือต้องการการดูแลพิเศษ สำหรับในเขตหยุนเอี๋ยนมีพื้นที่ 30 หมู่ (12.5 ไร่) โดยเฟสแรกมีพื้นที่สิ่งก่อสร้าง 13,000 ตร.ม. เป็นอาคาร 7 ชั้น ที่มีเตียงให้บริการถึง 320 เตียง [su_spacer size=”20″]
อีกหนึ่งตัวอย่างคือ ชุมชนในเขตอูตังได้มีการก่อตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเย้าหยาง ซึ่งมีบริการมากมายที่นอกเหนือไปจากการดูแลผู้สูงอายุผนวกกับการรักษาพยาบาลแล้ว เช่น การแพทย์แผนจีนและชนกลุ่มน้อย บริการพาไปท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กิจกรรมสันทนาการ ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ลดราคาพิเศษสำหรับสมาชิก อาหารเพื่อสุขภาพ และการฟื้นฟูสุขภาพ โดยในปี 2560 ศูนย์ฯ แห่งนี้ได้รับเลือกให้เป็น “ต้นแบบการพัฒนากิจการดูแลผู้สูงอายุ 1 ใน 75 แห่งของจีน” จากคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ร่วมกับศูนย์วิจัยนโยบายผู้สูงอายุของจีน และกองส่งเสริมสวัสดิการสังคมและกิจการการกุศล นอกจากนี้ เขตอูตังยังมีแผนก่อสร้างโครงการ Combination of Medical and Health Care ครบวงจรขนาดใหญ่ ที่คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนถึง 10,000 ล้านหยวน ครบครันไปด้วยสถานพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ น้ำพุร้อนและสปา การฟื้นฟูสุขภาพ การค้าและธุรกิจ แหล่งพักผ่อนและท่องเที่ยว อยู่ในพื้นที่เดียวกัน [su_spacer size=”20″]
ด้วยความที่กุ้ยหยางมีความได้เปรียบด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ เช่น อากาศ แหล่งท่องเที่ยว และนิเวศวิทยา พร้อมกับความมุ่งมั่นในการพัฒนาและปรับปรุงกิจการดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ในปี 2557 นครกุ้ยหยางได้รับเลือกให้เป็น “เมืองนำร่องปฏิรูปกิจการดูแลผู้สูงอายุของจีน” จากคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ในปี 2559 ได้รับเลือกเป็น “เมืองนำร่อง Combination of Medical and Health Care ระดับประเทศ” จากคณะกรรมการด้านการสาธารณสุขและการวางแผนครอบครัวแห่งชาติจีน และในปี 2561 ได้รับการสนับสนุนจากการคลังแห่งชาติสำหรับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่นำร่องปฏิรูปบ้านพักคนชราและกิจการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน [su_spacer size=”20″]
ในส่วนของการฝึกบุคลากรเพื่อรองรับการดูแลผู้สูงอายุ นครกุ้ยหยางมีวิทยาลัยอาชีวศึกษาการพยาบาลนครกุ้ยหยางเปิดสอนวิชาการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ผลิตผู้เชี่ยวชาญปีละกว่า 200 คน และมหาวิทยาลัยการแพทย์มณฑลกุ้ยโจวผลิตนักศึกษาที่มีความรู้ด้านการดูแลสุขภาพปีละเกือบ 1,500 คน นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรมอาสาสมัครเพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง [su_spacer size=”20″]
ปัจจุบัน นครกุ้ยหยางมีหน่วยงานดูแลผู้สูงอายุ 128 แห่ง มีจำนวนเตียงสำหรับผู้สูงอายุรวม 21,699 เตียง คิดเป็นสัดส่วนจำนวนเตียง 33 เตียงต่อผู้สูงอายุ 1,000 คน ซึ่งกุ้ยหยางยังต้องเร่งพัฒนากิจการดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนระยะสั้นจะเพิ่มสัดส่วนจำนวนเตียงเป็น 35-40 เตียงต่อผู้สูงอายุ 1,000 คน ภายในปี 2563 [su_spacer size=”20″]
จะเห็นได้ว่า นครกุ้ยหยางไม่เพียงพัฒนาการลงทุนด้านกิจการดูแลผู้สูงอายุให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ยังให้ความสำคัญกับรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุกลายเป็นบ้านอีกหลังที่น่าอยู่ พร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และมีกิจกรรมปฎิสัมพันธ์กับสังคมและชุมชนที่คุ้นเคย นอกจากนี้ ยังให้ความสนใจกับเทรนด์การดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้สูงวัย [su_spacer size=”20″]
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง