กุ้ยโจวเป็นอีกหนึ่งมณฑลที่มีประชากรยากจนจํานวนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของจีน ซึ่งได้มีการแก้ไขปัญหาคนยากจนโดยเริ่มต้นจากการลงทะเบียนคนจน และการสร้างงานเพื่อให้ประชาชนมีรายได้ ส่วนพื้นที่ทุรกันดารจนไม่สามารถปลูกพืชได้ผลหรือทํามาหากินได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทะเลทรายหิน (Stone Desertification) ก็ให้สมัครใจย้ายที่อยู่ออกจากพื้นที่ก่อนแล้วค่อย ๆ ฟื้นฟูพื้นที่ทุรกันดารให้กลายเป็นพื้นที่ป่า[su_spacer size=”20″]
อย่างไรก็ดี กุ้ยโจวก็ยังประสบปัญหาหลายด้าน เนื่องจากคนจนที่มีจํานวนมาก ซึ่งการตรวจสอบต้องใช้เวลาและใช้คนจํานวนมากเช่นกัน กุ้ยโจวจึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาแก้ไขปัญหาความยากจน โดยข้อมูลจากการประชุมสภาผู้แทนประชาชนของกุ้ยโจว เมื่อเดือน ม.ค. 2561 นางเซิ่น หยีฉิน (Shen Yigin) ผู้ว่าการมณฑลกุ้ยโจว กล่าวว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กุ้ยโจวลดจํานวนคนยากจนได้ 6.7 ล้านคน และเคลื่อนย้ายคนยากจนออกจากถิ่นทุรกันดาร 1.7 ล้านคน ซึ่งเป็นสถิติการลดจํานวนคนยากจนและการเคลื่อนย้ายคนยากจนสูงสุดในจีน โดยอัตราคนยากจนลดลงจากร้อยละ 26.8 เหลือเพียงร้อยละ 8 นับเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศในด้านการต่อสู้กับปัญหาความยากจน[su_spacer size=”20″]
ใช้บิ๊กดาต้าเก็บข้อมูลคนจนตัวจริง ตรวจสอบและให้ความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง
รัฐบาลกุ้ยโจวใช้บิ๊กดาต้าและคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) เก็บข้อมูลคนจนผ่านแพลตฟอร์มชื่อว่า “Poverty Alleviation Cloud (精准扶贫云)” ซึ่งได้เริ่มดําเนินการมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2558 และทํางานบนพื้นฐานของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) และยังเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่นในระดับมณฑลที่เกี่ยวข้อง 17 หน่วยงาน อาทิ สํานักงานตํารวจ สาธารณสุข กรมการศึกษา กรมชลประทาน กรมที่ดินและทรัพยากร สํานักงานกิจการพลเรือน สํานักงานอุตสาหกรรมและพาณิชย์ สํานักงานทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคม ผ่านแพลตฟอร์มรัฐบาลกุ้ยโจวที่ชื่อว่า “Guizhou-Cloud” (云上贵州) เพื่อแชร์ข้อมูลและร่วมกันแก้ไขปัญหาความยากจน จึงทําให้สามารถตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของคนจนได้ อาทิ ที่ดินทํากิน ยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย การศึกษาของบุตร และประกันสังคม เพื่อระบุตัวคนจนที่แท้จริงได้อย่างถูกต้อง รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับคนจน เช่น จํานวนและสถานะของคนจน จํานวนครัวเรือนและหมู่บ้านที่ยากจน ไปจนถึงสาเหตุความยากจนและแนวโน้ม การบรรเทาความยากจน เพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง ตัวอย่างเช่น หากคนจนซื้อรถ ระบบจะส่งสัญญาณอัตโนมัติไปยังสํานักงานตํารวจจราจร (ดูแลงานด้านทะเบียนรถ) และหากคนจนซื้อบ้านหรือจดทะเบียนบริษัท ข้อมูลจะถูกส่งไปยังสํานักงานที่อยู่อาศัยและสํานักงานอุตสาหกรรมและพาณิชย์ โดยที่หน่วยงานแก้ไขปัญหาความยากจนก็จะได้รับข้อมูลเหล่านั้นเช่นกัน และจะเข้าจัดการกับกรณีดังกล่าว ในทางตรงข้าม หากคนที่พ้นจากสถานะยากจนไปแล้ว แต่ปรากฏว่ายังมีความไม่เหมาะสมเกิดขึ้น อาทิ การขาดแคลนเครื่องนุ่งห่ม ความไม่สะอาดของน้ำดื่ม ความเดือดร้อนและอันตรายของที่พักอาศัย บุตรไม่มีที่เรียน และการขาดแคลนทางการแพทย์ หน่วยงานแก้ไขความยากจนก็จะรับทราบปัญหาทันทีเช่นกัน และจะเร่งขยายความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ระบบยังสามารถวิเคราะห์ดัชนีพ้นความยากจน ได้แก่ ระดับคะแนนต่ำกว่า 60 คะแนนยังเป็นครัวเรือนยากจน ระดับ 60 – 80 คะแนน เป็นครัวเรือนยากจนที่ใกล้พ้นความยากจน ระดับ 80 คะแนนขึ้นไป เป็นครัวเรือนที่พ้นความยากจน และจนถึงปัจจุบันแพลตฟอร์ม “Poverty Alleviation Cloud” ได้ตรวจสอบและติดตามความเคลื่อนไหวจํานวนคนจนในกุ้ยโจวกว่า 7 ล้านคน จากหมู่บ้านกว่า 9,000 แห่ง 934 ตําบล 66 อําเภอ[su_spacer size=”20″]
ใช้บิ๊กดาต้าเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการศึกษา ช่วยเหลือเด็กยากจนให้ได้เรียนหนังสือ
ที่ผ่านมา มีนักเรียนที่เดือดร้อนทางการเงินสอบชิงทุนนักเรียนยากจนได้ ในระหว่างรอรับทุนต้องใช้เวลานาน 4-6 เดือน ทําให้พ่อแม่ของนักเรียนยากจนต้องไปหยิบยืมจากญาติหรือเพื่อนฝูงมาก่อน หรือบางครอบครัวอาจหมุนเงินไม่ทัน ทําให้นักเรียนต้องสละสิทธิเรียนไป แต่สําหรับที่มณฑลกุ้ยโจวซึ่งใช้บิ๊กดาต้าตรวจสอบว่านักเรียนที่ยื่นขอทุนมีฐานะยากจนจริง ทําให้ได้เรียนหนังสือโดยไม่ต้องชําระค่าเล่าเรียน ตัวอย่างเช่น เด็กยากจนชื่อ หวัง โค่วเหลียน สอบติดภาควิชาพยาบาลของวิทยาลัยเทคนิคอาชีวะชนชาติเขตฯ เฉียนซีหนาน ขณะที่ทางครอบครัวกําลังกลุ้มใจกับการหาเงินค่าเทอมจํานวนกว่า 3,000 หยวน ให้กับบุตรสาว วันหนึ่งพวกเขาได้รับจดหมายจากวิทยาลัยดังกล่าวซึ่งระบุว่า น.ส. หวัง โค่วเหลียน ได้สอบติดภาควิชาพยาบาลของวิทยาลัยฯ และจากข้อมูลบิกดาต้าของมณฑลกุ้ยโจว น.ส. หวัง โค่วเหลียนเป็นนักเรียนยากจนที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้ว จึงมีสิทธิ์เข้าเรียนโดยยกเว้นค่าเล่าเรียน 3,500 หยวน และสามารถรายงานการเข้าเรียนได้โดยตรง (หรือที่คนจีนเรียกว่า “ระบบ Green Chanel” (绿色通道)) และเมื่อเข้าเรียนแล้ว ทางวิทยาลัยฯ ได้รวบรวมเงินทุนเพื่อจัดชุดเครื่องนอนให้กับนักเรียนมูลค่า 560 หยวน ถือเป็นข่าวที่สร้างความดีใจให้กับ น.ส. หวัง โค่วเหลียนและ ครอบครัวอย่างยิ่ง[su_spacer size=”20″]
ใช้คิวอาร์โค้ดตรวจคุณภาพ และใช้อีคอมเมิร์ซเพิ่มยอดขาย
กุ้ยโจวผลักดันให้แต่ละพื้นที่สร้างแบรนด์ “หนึ่งหมู่บ้าน ตําบล อําเภอ หนึ่งผลิตภัณฑ์” เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีรัฐบาลและภาคเอกชนร่วมกันช่วยเหลือ ตัวอย่างเช่น อําเภอซิ่วเหวินในนครกุ้ยหยางมีชื่อเสียงด้านการปลูกผลกีวี ดังนั้น ภาครัฐ เอกชนและเกษตรกรต่างร่วมมือกันทั้งในด้านการเพาะปลูก เมล็ดพันธุ์ การวิจัย และเทคโนโลยี รวมถึงการฝึกอบรมเกษตรกร โดยมีแนวคิด “ขยายพื้นที่เพาะปลูกกีวี สร้างกีวีให้ได้มาตรฐาน และการสร้างแบรนด์” จนถึงปัจจุบัน อําเภอซิ่วเหวินมีพื้นที่เพาะปลูกกีวี 167,000 หมู่ (ประมาณ 6,958 ไร่) ครอบคลุม 113 หมู่บ้าน สร้างรายได้ให้กับประชาชน 6,117 ครัวเรือน และคาดว่าในปี 2561 จะมีผลผลิตกีวีกว่า 80,000 ตัน สร้างมูลค่ากว่า 3,000 ล้านหยวน และยังมีการสร้างเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกีวีขนาด 300 หมู่ (ประมาณ 125 ไร่) ในพื้นที่อีกด้วย รวมถึงการใช้ระบบคิวอาร์โค้ดตรวจสอบย้อนหลังและติดตาม เพื่อดูแลคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตร[su_spacer size=”20″]
ปัจจุบัน มีสินค้าเกษตรในหลายพื้นที่ของกุ้ยโจวติดคิวอาร์โค้ด เพราะเพียงแค่ใช้มือถือสแกนก็ทําให้ทราบข้อมูลของสินค้าเกษตร เช่น เวลาและสถานที่เพาะปลูก เวลาที่บรรจุสินค้า ทําให้ผู้ซื้อออนไลน์วางใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ไม่เพียงเท่านั้น ยังใช้บิ๊กดาต้ารวบรวมยอดขายผลิตภัณฑ์ผ่านระบบสแกนบาร์โค้ด ซึ่งทําให้สามารถวิเคราะห์เส้นทางการขายได้ทันที โดยมีบริษัทผู้ผลิตสินค้าเกษตรของมณฑลกุ้ยโจวเข้าร่วมระบบดังกล่าว 458 ราย โดยเป็นบริษัทผลิตใบชา ผักและผลไม้ เนื้อสุกร สัตว์ปีกและไข่ รวมถึงมีการสนับสนุนการสร้างแบรนด์และจําหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ เช่น กล้วยจากอําเภอเซ่อเหิง เพียงแค่เดือนเดียวสามารถจําหน่ายออนไลน์ได้กว่า100,000 กิโลกรัม ลูกเดือยจากอําเภอชิงเหริน และแก้วมังกรจากอําเภอหลัวเตียน เป็นการเพิ่มช่องทางจําหน่ายสินค้าเกษตรของมณฑลกุ้ยโจวให้กระจายไปทั่วประเทศจีน[su_spacer size=”20″]
จะเห็นได้ว่า มณฑลกุ้ยโจวได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเหลือคนจนที่แท้จริง เปลี่ยนจากการ “เติมเลือด” เป็นการ “สร้างเลือด” เปลี่ยนจากให้ปลาเป็นสอนจับปลา ไปจนถึงการสอนขายปลา สร้างถนนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนแก่ประชาชนและเศรษฐกิจของมณฑลเพื่อเข้าสู่ “สังคมกินดีอยู่ดี” (小康社会 ) ตามนโยบายของจีน[su_spacer size=”20″]
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุณหมิง