รัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุยร่วมกับสมาพันธ์อุตสาหกรรมข้าวเขตฯ หนิงเซี่ยและสมาคมอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ ได้จัดงานประชาสัมพันธ์ข้าวหนิงเซี่ย ณ กรุงปักกิ่ง (Ningxia Rice (Beijing) Promotion Conference) เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2561 โดยภายในงานมีการลงนามความร่วมมือในสัญญาซื้อขายข้าวจากเขตฯ หนิงเซี่ยหุย เพื่อจัดจำหน่ายในกรุงปักกิ่งและการลงนามความร่วมมือระหว่าง COFCO GRAINS & CEREALS และรัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุยในโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปข้าวหนิงเซี่ย เพื่อพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกข้าวชั้นดีทั่วทั้งเขตฯ รวมถึงกิจกรรมประชาสัมพันธ์การลงทุนของวิสาหกิจผู้ผลิตและแปรรูปข้าวในเขตฯ หนิงเซี่ยหุยให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น[su_spacer size=”20″]
ปัจจุบัน จีนมีแหล่งปลูกข้าวกระจายในหลายพื้นที่ของประเทศ อาทิ พื้นที่บริเวณตอนเหนือของประเทศ (มณฑลเฮยหลงเจียงและมณฑลจี๋หลิน) และพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงใต้ (มณฑลเจียงซีและมณฑลอันฮุย) โดยทั้ง 2 แห่งเป็นพื้นที่ปลูกและฐานการผลิตข้าวขนาดใหญ่ของจีน ได้รับการสนับสนุนด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากรัฐบาลจีนเพื่อเพิ่มผลผลิต และทางด้านเงินทุนและเทคโนโลยีด้วยการก่อตั้งสถาบันวิจัยข้าวแห่งชาติ (China National Rice Research Institution: CNRRI) เพื่อวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวโดยเฉพาะ อีกทั้งยังมีการกระจายศูนย์วิจัยดังกล่าวไปยังพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย เนื่องด้วยจีนมีความพยายามในการพัฒนาข้าวให้เป็นสินค้าส่งออกของประเทศ และเพื่อให้เพียงพอต่อปริมาณการบริโภคของประชากรในประเทศ ทำให้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เรามักจะพบเห็นข่าวความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าว “ซุปเปอร์ไรซ์” (Super Hybrid Rice) ที่สามารถให้ผลผลิตต่อไร่สูง ทนทานต่อโรคและศัตรูพืชอย่างต่อเนื่อง[su_spacer size=”20″]
นอกจากการให้ความสำคัญต่อการปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวแล้ว ในช่วงปี 2542 รัฐบาลจีนยังได้ประกาศยกเลิกนโยบายประกันราคาและการรับซื้อข้าวคุณภาพต่ำเพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวคุณภาพต่ำของประเทศ และหันมาสนับสนุนการปลูกข้าวคุณภาพดีเพื่อให้สอดคล้องต่อกับตลาดผู้บริโภคของจีนที่มีแนวโน้มนิยมสินค้าคุณภาพดีมากกว่าสินค้าราคาถูกเพียงอย่างเดียว[su_spacer size=”20″]
เขตฯ หนิงเซี่ยหุยกับอุตสาหกรรมข้าว[su_spacer size=”20″]
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้น จีนมีพื้นที่สำหรับการปลูกข้าวกระจายอยู่ในหลายมณฑลทั่วประเทศ รวมถึงพื้นที่ปลูกข้าวในเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ในอดีตเขตฯ หนิงเซี่ยหุยมีการปลูกข้าวเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง (ราวปี พ.ศ. 2187 – 2454) เรียกว่า “เจินจูหมี่ (珍珠米) ” หรือ “ข้าวไข่มุก” ด้วยลักษณะเฉพาะตัวที่กลมและสั้นคล้ายไข่มุก ข้าวที่ปลูกในเขตฯ หนิงเซี่ยหุยส่วนใหญ่มีกลิ่นหอมจากยางข้าวไม่มาก แต่เมื่อหุงแล้วมีกลิ่นที่หอมกว่าข้าวทั่วไปและมีความนุ่มมากกว่าเมื่อข้าวเย็นแล้ว[su_spacer size=”20″]
เขตฯ หนิงเซี่ยหุย มีพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญ ได้แก่ เมืองหลิงหวู่ (灵武市) เมืองชิงถงเสีย (青铜峡市) เมืองอู๋จง (吴忠市) เมืองหย่งหนิง (永宁市) และเมืองผิงหลัว (平罗市) มีพื้นที่ปลูกข้าวรวมกัน 1.1 ล้านหมู่ (ราว 450,819.67 ไร่) ซึ่งลดลงจากปีก่อนราวร้อยละ 16.18 และมีผลผลิตราว 600,000 ตัน/ปี ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 18.92 มีวิสาหกิจแปรรูปข้าวทั้งสิ้น 58 ราย มีกำลังการผลิตรวมกว่า 1.45 ล้านตัน/ปี ซึ่งมากกว่าปริมาณผลผลิตข้าวที่ปลูกได้ทั้งปี จากปัจจัยข้างต้นทำให้วิสาหกิจริเริ่มการนำ “ธาตุซิลีเนียม” มาเพิ่มจุดขายในข้าวที่ผลิตได้เพื่อต่อยอดเป็นสินค้าข้าวพรีเมี่ยมที่ไม่ได้เน้นปริมาณเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ของประเทศขาดแคลนธาตุดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลจาก สนง. ทรัพยากรที่ดินเขตฯ หนิงเซี่ยหุย ที่ระบุว่า พื้นที่ของประเทศจีนกว่าร้อยละ 72 มีธาตุซิลีเนียมปนอยู่น้อย และกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ดังกล่าวขาดแคลนธาตุซิลีเนียมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งตรงข้ามกับเขตฯ หนิงเซี่ยหุยที่มีธาตุซิลีเนียมในดินชนิดดีมาก (优质富硒土地资源) ถึง 4,200 ตร.กม. (คิดเป็นร้อยละ 6.36 ของพื้นที่ทั่วทั้งเขตฯ หนิงเซี่ยหุย) ซึ่งสามารถเพาะปลูกพืชได้มากถึง 2.7 ล้านหมู่ (ราว 1.1 ล้านไร่) และยังเป็นพื้นที่ที่มีแร่ธาตุซิลีเนียมสำหรับการเพาะปลูกมากที่สุดในประเทศอีกด้วย การนำเอา “ซิลีเนียม” มาเป็นจุดขาย สามารถเพิ่มมูลค่าราคาข้าวจากกิโลกรัมละไม่กี่หยวนเป็นหลักร้อยหยวนได้เลยทีเดียว ซึ่ง “ข้าวซิลีเนียม” ที่ผลิตได้มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยคงความยืดหยุ่นอ่อนเยาว์ของเนื้อเยื่อต่างๆ ช่วยป้องกันมะเร็งได้หลายชนิดและต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและภาวะเส้นเลือดในสมองตีบได้ เป็นต้น[su_spacer size=”20″]
ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2561 รัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุยร่วมกับสมาพันธ์อุตสาหกรรมข้าวเขตฯ หนิงเซี่ยและสมาคมอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ จัดงานประชาสัมพันธ์ข้าวหนิงเซี่ย ณ กรุงปักกิ่ง (Ningxia Rice (Beijing) Promotion Conference) ภายในงานมีการลงนามความร่วมมือในสัญญาซื้อขายข้าวจากเขตฯ หนิงเซี่ยหุยมากกว่า 200 ล้านหยวนโดยหนึ่งในนั้นเป็นการลงนามซื้อขายข้าวระหว่าง COFCO (Ningxia) และ COFCO (Beijing) จำนวน 60 ล้านตัน เพื่อจัดจำหน่ายในกรุงปักกิ่ง และการลงนามความร่วมมือระหว่าง COFCO GRAINS & CEREALS และรัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุยในโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปข้าวหนิงเซี่ยจำนวน 230 ล้านหยวน เพื่อพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกข้าวชั้นดีจำนวน 50,000 หมู่ (ราว 20,490 ไร่) ทั่วทั้งเขตฯ รวมถึงแผนการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายของ COFCO และกิจกรรมประชาสัมพันธ์การลงทุนของวิสาหกิจผู้ผลิตและแปรรูปข้าวในเขตฯ หนิงเซี่ยหุยให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น[su_spacer size=”20″]
ข้อมูลเพิ่มเติม[su_spacer size=”20″]
1.ซีลีเนียม (Selenium)เป็นธาตุ/เกลือแร่ที่พบได้ในดินรวมถึงในอาหาร อาทิ อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ เมล็ดธัญพืชทั้งเปลือก ข้าวกล้อง แตงกวา ผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น ซึ่งมีความจำเป็นต่อร่างกาย เป็นส่วนประกอบสำคัญของเอนไซม์ Glutathione peroxidase มีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์สำคัญหลายชนิดและมีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระร่วมกับวิตามินอี
2.แม้รัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุย จะสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวชั้นดีและต่อยอดผลิตภัณฑ์เป็นข้าวซีลีเนียมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า แต่ยังคงมีข้อจำกัดด้วยสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ทำให้พื้นที่การทำนาข้าว และปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากการเพาะปลูกข้าวต้องใช้น้ำปริมาณมากและการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเหลืองจะต้องผ่านความเห็นชอบจาก คกก. จัดสรรทรัพยากรน้ำแม่น้ำเหลือง (Yellow River Conservancy Commission)ก่อน[su_spacer size=”20″]
ข้อมูลอ้างอิง[su_spacer size=”20″]
- http://www.nxnews.net/yc/jrww/201611/t20161128_4176325.html
- https://www.tuliu.com/read-3317.html
- http://www.xinhuanet.com/food/2018-05/26/c_1122891957.html
- http://www.cofco.com/en/BrandProduct/COFCOGrainsCereals/
[su_spacer size=”20″]
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน