ธุรกิจเพาะเห็ดเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สามารถทำเงินได้อย่างน่าสนใจ เนื่องจากปัจจุบันความต้องการบริโภคเห็ดในประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นมาก ด้วยปัจจัยทางกายภาพทั้งด้าน ภูมิอากาศ ดิน น้ำ ที่เอื้อต่อการเพาะเห็ด อีกทั้งนโยบายสนับสนุนของภาครัฐที่เปิดรับนักลงทุนจีนและต่างชาติ เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ภาคธุรกิจเข้ามาลงทุนเพื่ออาศัยกว่างซีเป็นฐานการผลิต ทำให้ธุรกิจเพาะเห็ดในกว่างซีกำลังเป็นที่จับตามองและสามารถต่อยอดธุรกิจไปเจาะตลาดเห็ดอาเซียน[su_spacer size=”20″]
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561ภาครัฐกว่างซีได้ร่วมจัดงานประชาสัมพันธ์และเจรจาโครงการความร่วมมือด้านการลงทุนในธุรกิจเห็ดขึ้นที่นครหนานหนิง โดยมีตัวแทนภาครัฐและภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมงาน 159ราย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย มณฑลกวางตุ้ง มณฑลอันฮุย และมณฑลเจียงซู เป็นต้น และมีนักธุรกิจด้านอาหารจากสิงคโปร์เดินทางมาร่วมงานในครั้งนี้ เพื่อต้องการหาพันธมิตรธุรกิจในกว่างซี และเพื่อพัฒนาธุรกิจเพาะและแปรรูปเห็ดร่วมกัน และนำผลผลิตเห็ดจากกว่างซีไปเจาะตลาดอาเซียน [su_spacer size=”20″]
นายเหวิน ซิ่นเหลียน (Wen Xinlian/文信连) รองอธิบดีกรมการเกษตรเขตฯ กว่างซีจ้วง ระบุว่า หลายปีที่ผ่านมาการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกว่างซีกับอาเซียนมีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน มีวิสาหกิจกว่างซีกว่า 80 ราย ไปลงทุนภาคธุรกิจเกษตรในประเทศสมาชิกอาเซียน และ “เห็ด” เป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญของกว่างซี จากข้อมูลของกรมการเกษตรกว่างซีพบว่า ฤดูกาลผลิตปี 2550-2560 กว่างซีผลิตเห็ดได้ 1.2864 ล้านตัน ถือเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตเห็ดที่สำคัญของจีน และเมื่อปี 2560 การส่งออกเห็ดของกว่างซีมีมูลค่ารวม 14.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา เติบโต 3.97 เท่า ซึ่งปัจจุบัน ทางการกว่างซีมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมเห็ดและสนับสนุนให้นักธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในกว่างซี เพื่อร่วมกันพัฒนาแบรนด์ “เห็ดกว่างซี”[su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้ การพัฒนา “เส้นทางมุ่งลงใต้” จีน – สิงคโปร์และการเปิดใช้เส้นทาง “อวี๋กุ้ยซิน” (ฉงชิ่ง-กว่างซี-สิงคโปร์) ที่ให้บริการแบบประจำ ทำให้กว่างซีเป็นจุดเชื่อมเส้นทางการค้าต่างประเทศทางบกกับทางทะเล ช่วยให้การลงทุนด้านการเกษตรระหว่างกว่างซีกับอาเซียนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น นายหลี่ จื้อซิน (Li Zhixin/李志鑫) รองประธานสมาคมธุรกิจไต้หวันในเมืองฝู่โจว (Fuzhou City/抚州市) มณฑลเจียงซี และเป็นผู้คร่ำหวอดในธุรกิจเพาะและจำหน่ายเห็ดมานานหลายปี กล่าวว่า กว่างซีมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและมีโครงสร้างพื้นฐานบริเวณด่านส่งออกที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบต่อการเปิดตลาดเห็ดในประเทศสมาชิกอาเซียน อีกทั้ง สภาพอุณหภูมิที่ค่อนข้างร้อนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ด ทำให้ปริมาณผลผลิตเห็ดค่อนข้างน้อย ราคาจึงค่อนข้างแพง ขณะที่กว่างซีมีสภาพอากาศ ตลอดจนดินและน้ำที่เหมาะกับการเพาะเห็ด และมีความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานด้านการเกษตรสมัยใหม่ ช่วยให้การผลิตเห็ดใช้ต้นทุนต่ำและได้ปริมาณผลผลิตสูง ซึ่งช่วยเติมเต็ม “ส่วนขาด” ของตลาดเห็ดในอาเซียนได้เป็นอย่างดี[su_spacer size=”20″]
นายหวง ฉางอวิ๋น (Huang Changyun/黄长云) ผู้จัดการทั่วไปบริษัท Guangxi Longzhou Beibu Gulf Modern Agriculture จำกัด (广西龙州北部湾现代农业有限公司) กล่าวว่า ปัจจุบันเห็ดหูหนูขาวเป็นที่ต้องการในตลาดอาเซียน เนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยเห็ดหูหนูขาวของบริษัทฯ ที่เพาะบนเนื้อที่ราว 177 ไร่ (426 หมู่จีน) ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ผ่านทางเวียดนาม และเพื่อขยายตลาดเห็ดในอาเซียน ทางบริษัทฯ ได้จัดสรรเงินลงทุนระยะแรก 230 ล้านหยวน เพื่อสร้างโรงเพาะและแปรรูปเห็ดหูหนูขาวในอำเภอหลงโจว เมืองฉงจั่ว (อำเภอชายแดนติดประเทศเวียดนาม) และคาดว่าปีนี้ จะเริ่มผลิตและได้ผลผลิตเห็ดหูหนูขาวสดราว 6-8 พันตัน[su_spacer size=”20″]
ทั้งนี้ บริษัทของนายหวงฯ วางแผนที่จะใช้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาตลาดเห็ดในอาเซียน ปัจจุบันบริษัทได้รับใบสั่งเห็ดหูหนูขาวจำนวนมากจากผู้ซื้อในอาเซียน และเชื่อมั่นว่าตลาดเห็ดในอาเซียนมีอนาคตที่สดใส[su_spacer size=”20″]
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง