หลังจากที่อินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อมนุษย์ การติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล การค้นหาข้อมูล หรือแม้กระทั่งการชำระเงิน ที่เคยทำในแบบดั้งเดิมก็ได้เปลี่ยนรูปแบบไป อินเทอร์เน็ตสามารถทำให้ผู้คนเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง จึงไม่แปลกนักที่เราจะเห็นสินค้าหลากหลายชนิดย้ายฐานการซื้อขายสินค้าจากตลาดที่ต้องตั้งอยู่บนสถานที่จริงไปสู่พื้นที่บนโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น[su_spacer size=”20″]
จากการเคลื่อนย้ายสินค้าไปสู่โลกอินเทอร์เน็ตนี้ ส่งผลให้การซื้อขายสินค้าออนไลน์ หรือ E-Commerce เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ด้วยสามารถอำนวยความสะดวกสบายได้หลายอย่าง เช่น ในมุมของผู้ซื้อ ผู้ซื้อจะมีตัวเลือกในการแสวงหาสินค้ามากขึ้น สามารถหาข้อมูลเปรียบเทียบสินค้าได้อย่างรวดเร็ว และลดขั้นตอนการส่งสินค้าผ่านคนกลาง ในขณะเดียวกันนั้น ผู้ขายก็มีโอกาสในการแสดงสินค้าไปถึงผู้คนได้กว้างขวางมากขึ้น สามารถเสนอขายสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา และลดภาระการเก็บตุนสินค้าในคลังสินค้าได้ส่วนหนึ่ง เราจึงได้เห็นผู้ประกอบการหลายรายเริ่มผันตัวไปอยู่บนสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ดังจะเห็นได้จากธุรกิจหลายประเภทที่เน้นการโฆษณาผ่านเว็บไซต์ YouTube Facebook และแอปพลิเคชัน Line ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศไทย[su_spacer size=”20″]
นอกเหนือจากเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่ได้กล่าวไปข้างต้น ยังมีอีกแอปพลิเคชันหนึ่งที่กำลังมีอิทธิพลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นั้นคือ แอปพลิเคชัน Wechat ที่พัฒนาโดยบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีน Tencent Holdings Ltd. โดยในปัจจุบัน บริษัท Tencent มีมูลค่ากิจการสูงถึง 5.23 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่า Facebook ที่มีมูลค่ากิจการ 5.22 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Alibaba ที่มีมูลค่ากิจการ 4.74 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าก้าวขึ้นสู่การเป็น 1 ใน 5 ของบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลกไปโดยปริยาย แต่ยังคงตามหลัง Apple Alphabet Microsoft และ Amazon ตามลำดับ[su_spacer size=”20″]
จากการสำรวจข้อมูลเมื่อเดือนกันยายน 2560 บริษัท Tencent ระบุว่า แอปพลิเคชัน Wechat มีตัวเลขผู้ลงชื่อเข้าสู่ระบบ (Log-in) มากถึง 902 ล้านคนทั่วโลกต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน บริษัทวิจัยทางการตลาดบนโลกดิจิตอล eMarketer ก็คาดการณ์ว่า ในปีนี้จำนวนผู้ใช้ Wechat ในจีนจะมีมากถึง 494.3 ล้านคน ซึ่งถือว่ามีความนิยมสูงเป็นอันดับ 1 ของแอปพลิเคชันรับส่งข้อความที่ใช้ในจีน แอปพลิเคชันนี้จึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีน และเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยที่จะใช้เครื่องมือดังกล่าวในการโฆษณาสินค้าที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวจีนผ่านแอปพลิเคชันนี้[su_spacer size=”20″]
ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตสินค้าและบริการได้ในเกือบทุกสาขาอุตสาหกรรม ตั้งแต่อุตสาหกรรมเบา เช่น เกษตรกรรม อาหาร สุขภาพและความงาม แฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนอุตสาหกรรมหนัก แต่เมื่อพิจารณาจากความเหมาะสมที่จะโฆษณาสินค้าและบริการผ่านแอปพลิเคชัน Wechat นั้น ผู้ประกอบการไทยต้องเน้นโฆษณาสินค้าที่พร้อมสำหรับการบริโภคได้ในทันที ได้แก่ สินค้าและบริการประเภทอาหารสำเร็จรูป เครื่องประดับ บริการทางสุขภาพและความงาม สปา ร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้ของไทยได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภคชาวจีน ทั้งนี้ สินค้าไทยที่เข้าข่ายเหมาะกับการโฆษณาผ่านแอปพลิเคชัน Wechat และมีมูลค่าส่งออกไปยังจีนสูงในลำดับต้น ๆ ได้แก่ สินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับ ผักผลไม้และถั่วที่ปรุงสำเร็จ และอาหารปรุงสำเร็จ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันถึง 12,719 ล้านบาท[su_spacer size=”20″]
การโฆษณาสินค้าให้ตรงกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจนั้นมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการโฆษณาก็คือการเลือกใช้ช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสม หากผู้ประกอบการไทยได้เรียนรู้วิธีการโฆษณาผ่านแอปพลิเคชัน Wechat ควบคู่ไปกับแอปพลิเคชันอื่นแล้ว ก็ย่อมสามารถขยายโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าชาวจีนได้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเรื่องระบบการขนส่งสินค้าภายในจีนด้วย ซึ่งทั้งหมดสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน www.thaibizchina.com[su_spacer size=”20″]
โดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว