เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 มณฑลกวางตุ้งได้จัดงานแถลงข่าวสถานการณ์คุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในมณฑลกวางตุ้ง (2023 Press Conference on Intellectual Property Right Protection in Guangdong) โดยสรุปรายละเอียดได้ ดังนี้
ในช่วงที่ผ่านมา มณฑลกวางตุ้งให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยเมื่อปี 2565 รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้ออกแผนการดําเนินงานด้านการประยุกต์ใช้สิทธิบัตร (พ.ศ. 2564-2566) โดยส่งเสริมให้วิสาหกิจสามารถนําทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าไปขอสินเชื่อจากธนาคาร ต่อมาในปี 2566 มีวิสาหกิจที่ได้รับสินเชื่อจากกลไกดังกล่าว 230,671 ล้านหยวน (ประมาณ 32,734 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ มณฑลกวางตุ้งยังมีสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการอนุมัติคุ้มครองจำนวน 703,700 ฉบับ มีการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ระหว่างประเทศ (PCT) จำนวน 281,300 ฉบับ และมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 8.43 ล้านรายการ ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 1 ของจีน
กลไกการสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของมณฑลกวางตุ้ง
อีกทั้งสถานะในปัจจุบัน เมืองในมณฑลกวางตุ้งจำนวน 10 เมือง ได้รับอนุมัติให้เป็นเมืองสาธิตนําร่องการส่งเสริมความสามารถด้านทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติจีน ซึ่งเมืองในมณฑลกวางตุ้ง 2 เมือง คือ นครกว่างโจวและเมืองเซินเจิ้น ยังได้รับเลือกให้เป็นเมืองสาธิตนําร่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติจีน และเมืองนําร่องการบริการสาธารณะด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้มาตรฐานของจีนด้วย ทั้งนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ของมณฑลกวางตุ้งยังได้มีการดำเนินงานสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เช่น
(1) กรมศุลกากร ได้เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบการส่งออกหรือนําเข้าสินค้าที่ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอย่างแข็งขัน โดยเมื่อปี 2566 กรมศุลกากรสามารถยึดสินค้าละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้ 15,766 รายการ จำนวนกว่า 33.14 ล้านชิ้น มูลค่ากว่า 200 ล้านหยวน และ
(2) กรมความมั่นคงสาธารณะ ได้กวดขันเกี่ยวกับคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิทางปัญญา เช่น การปลอมแปลงเครื่องหมายการค้า การละเมิดลิขสิทธิ์ และการละเมิดความลับทางการค้า เป็นต้น โดยเมื่อปี 2566 สามารถปิดคดีที่เกี่ยวข้อง 1,678 คดี โดยมีอัตราการปราบปรามอยู่ในอันดับต้นของจีน
จากการที่มณฑลกวางตุ้งได้สนับสนุนการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงผู้บริโภคจีนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญต่อการซื้อ-ขายที่มีลิขสิทธิ์มากขึ้น โดยสะท้อนจากจำนวนผู้ประกอบการจีนที่ซื้อ-ขายลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ เพื่อนํามาผลิตสินค้ามีจำนวนสูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ ถือเป็นโอกาสของไทย โดยเฉพาะในส่วนของการออกแบบ IP Character ที่สามารถต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ เช่น pop toy ที่กําลังมีกระแสความนิยมในขณะนี้ ทั้งนี้ ทางสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวได้เตรียมผลักดันโครงการ Creative Thailand 2024 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความเข้าใจและพัฒนาการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของไทยให้แสวงหาประโยชน์จากตลาดจีนต่อไป
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์