อีกหนึ่งปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของระบบงานขนส่งในการอำนวยความสะดวกด้านการค้าต่างประเทศของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง หลังจากที่รถไฟขนส่งสินค้าจีน-เวียดนามได้เคลื่อนขบวนออกจาก “ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” (Nanning international railway port) เพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงฮานอยของประเทศเวียดนาม โดยมีสินค้าจำนวน 12 โบกี้ รวม 24 TEUs ประกอบด้วยอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ อะไหล่เครื่องจักร ผ้า และกระดาษม้วน ซึ่งใช้เวลาขนส่งราว 24 ชั่วโมง มีนัยสำคัญว่า ได้เปิดบริการท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิงอย่างเป็นทางการแล้ว
.
เขตปฏิบัติการควบคุมตรวจสอบทางศุลกากรในท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ตั้งอยู่บริเวณชานเมืองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของนครหนานหนิง เพื่อให้บริการด้านพิธีการศุลกากรขาเข้า-ขาออกแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว สำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออกที่ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง มีเนื้อที่ราว 70.4 ไร่ ประตูไม้กั้น 12 ช่องจราจร (เข้า 6 ช่องทาง และออก 6 ช่องทาง) ลานตรวจสินค้ามีช่องรถบรรทุก 30 ช่องทาง มีอาคารโดมอเนกประสงค์ 3,060 ตารางเมตร มีพื้นที่ลานตู้สินค้าและโกดังอุปกรณ์ตรวจกักกันโรค โดยได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้ปีละ 6 แสน TEUs และมีศักยภาพในตรวจสอบสินค้าได้ปีละ 65,000 ตู้
.
ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน (นครหนานหนิง) – เวียดนาม (กรุงฮานอย) นี้ช่วยให้ ผู้นำเข้า-ส่งออก สามารถรวมตู้สินค้าขึ้นโบกี้รถไฟและสามารถดำเนินพิธีการศุลกากรเบ็ดเสร็จ (ทั้งการยื่นสำแดงเอกสารและตรวจปล่อยสินค้า) ที่ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง จากเดิมที่การขนส่งสินค้าด้วยรถไฟ ตู้สินค้าจะต้องไปดำเนินพิธีการศุลกากรที่ด่านรถไฟผิงเสียงในอำเภอระดับเมืองผิงเสียง เมืองชายแดนที่อยู่ห่างจากนครหนานหนิงราว 200 กิโลเมตร
.
ในภาพรวม กระบวนการนำเข้า-ส่งออกที่ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง ช่วยประหยัดเวลาได้ 3 วัน ยกระดับประสิทธิภาพงานขนส่งทางรถไฟ ทั้งประสิทธิภาพการทำงาน เวลา ต้นทุน และบริการที่ครบวงจร ช่วยแบ่งเบาภาระของการขนส่งทางถนนได้อีกขั้น รวมทั้งอำนวยความสะดวกและเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับผู้ค้าในพื้นที่ภาคตะวันตกของจีนในการทำการค้ากับอาเซียนได้เพิ่มมากขึ้น
.
ตามรายงาน ตลอดระยะเวลา 3 ปีมานี้ ขบวนรถไฟจีน-เวียดนามที่ให้บริการขนส่งสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจาก 59 เที่ยวในปี 2561 เป็น 166 เที่ยวในปี 2563 และ คาดว่าจะทะลุ 300 เที่ยวในปีนี้ และสินค้ามีความหลากหลายมากกว่า 20 ชนิด อาทิ สังกะสีออกไซด์ ปุ๋ยเคมี เครื่องจักรกล อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุก่อสร้าง เหล็กกล้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไม้ซุง เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ในชีวิตประจำวัน และผลไม้ (ที่ด่านรถไฟผิงเสียง)
.
ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง ในการเป็นจุดนำเข้า-ส่งออกผลไม้ไทยได้ เนื่องจากใช้เวลาขนส่งเพียง 1 วันเท่านั้น เหมาะแก่การส่งออกผลไม้ที่ต้องใช้เวลาขนส่งที่รวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถช่วยลดอุปสรรคในการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนได้มากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการจราจรแออัดบริเวณด่านทางบกโหย่วอี้กวานในช่วงที่มีผลไม้ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ท่าสถานีรถไฟดังกล่าว จึงจะเป็นอีกช่องทางในการขยายตลาดส่งออกสินค้าทั่วไปจากไทยไปจีนได้ในอนาคต โดยขนส่งด้วยรถบรรทุกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และเปลี่ยนถ่ายขึ้นรถไฟที่สถานี Yên Viên ในกรุงฮานอย เพื่อลำเลียงผ่านด่านรถไฟผิงเสียงไปที่นครหนานหนิง และใช้ประโยชน์จากโครงข่ายรถไฟในการกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคอื่นของประเทศจีนได้อีกด้วย