การจัดตั้ง “เขตนำร่องการเปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์นานาชาติฝางเฉิงก่าง” (Fangchenggang International Medical Opening-up Pilot Zone/防城港国际医学开放试验区) ที่เมืองฝางเฉิงก่างของกว่างซีนั้น เป็นผลสำเร็จของการประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO Summit) ครั้งที่ 19 เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ที่รัฐบาลจีนมุ่งสนับสนุนให้เขตนำร่องดังกล่าวให้เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ช่วยสนับสนุนความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์ระหว่างจีนกับต่างประเทศ และเป็นช่องทางสำคัญที่จีนใช้เพื่อการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนจากอาเซียน
.
เขตนำร่องฯ ได้รับการวางตำแหน่ง (Positioning) ให้เป็นพื้นที่สาธิตความร่วมมือและนวัตกรรมทางการแพทย์นานาชาติกับชาติสมาชิก SCO Summit และอาเซียน เป็นพื้นที่แห่งโอกาสด้านการแพทย์นานาชาติที่เชื่อมประเทศบนข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI) โดยมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมหลัก 3 สาขา คือ อุตสาหกรรมการเพาะและขยายพันธุ์สัตว์ทดลอง อุตสาหกรรมการวิจัยและพัฒนายาระยะ preclinic และอุตสาหกรรมอาหารและการพัฒนาการแพทย์ดั้งเดิม โดยพร้อมเปิดรับนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศสมาชิกอาเซียน
.
โดยรัฐบาลกลางได้ให้นโยบายสนับสนุนการพัฒนาเขตนำร่องฯ ใน 3 ด้าน คือ
.
(1) ส่งเสริมความร่วมมือด้านการแพทย์กับนานาชาติ เช่น สนับสนุนการจัดงานฟอรัมความร่วมมือและนวัตกรรมทางการแพทย์นานาชาติเป็นประจำทุกปี ส่งเสริมให้สถาบันการแพทย์และสถาบันอุดมศึกษาด้านการแพทย์ที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศจัดกิจกรรมร่วมกัน สนับสนุนการจัดตั้งโครงการด้านสาธารณสุข อาทิ ศูนย์การแพทย์และการรักษาพยาบาล คลังสำรองวัสดุทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉิน และศูนย์ช่วยเหลือและรักษาโรคระบาดขั้นรุนแรง สนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและการควบคุมป้องกันโรคทั่วไปและโรคระบาดขั้นรุนแรง สนับสนุนการจดทะเบียนและผลิตยาชื่อสามัญ (Generic drugs) ในกลุ่มยาที่ได้รับอนุญาต
.
(2) ลดระเบียบและขั้นตอนการตรวจสอบอนุมัติการนำเข้าและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมหลัก 3 สาขา คือ (2.1) อุตสาหกรรมการเพาะและขยายพันธุ์สัตว์ทดลอง โดยได้วางแผนก่อสร้างศูนย์คุ้มครองและเพาะเลี้ยงสัตว์ทดลอง (nonhuman primates) บนพื้นที่เกือบ 1,442 ไร่ และมีบริษัทด้านการเพาะขยายพันธุ์สัตว์ทดลองและบริษัทการสร้างแบบจำลองของโรคได้เข้ามาลงทุนแล้ว (2.2) อุตสาหกรรมการวิจัยและพัฒนายาระยะ preclinic โดยมีบริษัทผู้ผลิตยาชั้นนำได้เข้ามาลงทุนแล้ว คาดว่าปลายปีนี้จะสามารถเริ่มเดินสายการผลิตได้ และ สาม อุตสาหกรรมอาหารและการพัฒนาการแพทย์ดั้งเดิม โดยโครงการผลิตสาหร่ายขนาดเล็กที่มีไขมัน EPA ได้เริ่มเดินสายการผลิตแล้ว และบริษัทผลิตเกล็ดยาสมุนไพรรายสำคัญกำลังก่อสร้างโรงงานอยู่เช่นกัน
.
(3) สนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งแพลตฟอร์มความปลอดภัยด้านอาหารและนวัตกรรมโภชนาการ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหาร และผลักดันความร่วมมือในอุตสาหกรรมอาหารกับนานาชาติ การจัดตั้งเขตสินค้าทัณฑ์บนแบบครบวงจรและศูนย์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อส่งเสริมให้เมืองฝางเฉิงก่างเป็นด่านนำเข้ายาและส่งเสริมการค้าด้านเภสัชกรรมกับต่างประเทศ (อยู่ระหว่างการเตรียมขอจัดตั้งแล้ว) และการจัดตั้งเขตนำร่องการปฏิรูปการแพทย์แผนจีนแบบครบวงจร เพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าด้านการแพทย์แผนโบราณของจีน
.
ตลาดการแพทย์และสุขภาพในกว่างซี จึงถือเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะสินค้าประเภท “อาหารเพื่อสุขภาพ” เนื่องจากจะเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง นอกจากนี้ ธุรกิจบริการด้านการดูแลสุขภาพ (Healthcare) ก็ได้รับความนิยมสูงในจีนเช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ภูมิปัญญาไทยที่มีชื่อเสียงอันโด่งดังและเป็นที่ยอมรับ เช่น การนวดแผนไทย การนวดเพื่อสุขภาพ การประคบสมุนไพรไทย การบำบัดด้วยกลิ่น ในตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนทำงานรุ่นใหม่ในจีนที่ต้องการการผ่อนคลายความเครียดและการบรรเทาอาการเหนื่อยเมื่อยล้าได้ ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาและแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุนใน “เขตนำร่องการเปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์นานาชาติฝางเฉิงก่าง” โดยพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ชาวจีนได้ ก็คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเจาะตลาดจีนและได้ผลตอบแทนทางธุรกิจที่ดีจากผู้บริโภคชาวจีน
.
สกญ. ณ นครหนานหนิง