สถานการณ์การแข่งขันของทุเรียนไทยในตลาดจีนดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีคู่แข่งสำคัญ คือ ‘เวียดนาม’ และ ‘ฟิลิปปินส์’ ที่ตั้งแต่ปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ได้กลายเป็นประเทศคู่ค้าที่สามารถส่งออกทุเรียนสดไปยังจีนได้เช่นเดียวกับไทย นอกจากนี้ ยังมี ‘มาเลเซีย’ ที่ได้ครองตลาดทุเรียนแช่แข็งพรีเมี่ยมในจีนต่อเนื่องมา และกำลังจะเข้าแข่งขันในตลาดทุเรียนสดของจีนในอนาคตอันใกล้นี้ อย่างไรก็ดี ในบรรดาผู้ผลิตที่กล่าวมานั้น ไทยไม่ควรมองข้าม ‘ทุเรียนจีน’ ทั้งทุเรียนไหหลำและทุเรียนกวางตุ้งที่มีรายงานการปลูกมาตั้งแต่ปี 2562
ภาพรวมสถานการณ์ทุเรียนไทยในจีน
ปัจจุบัน ทุเรียนไทยยังนับว่าเป็นเจ้าตลาดทุเรียนสดในจีน โดยจีนนำเข้าทุเรียนหลายสายพันธุ์มากขึ้น เช่น หมอนทอง พวงมณี ชะนี มูซานคิง ก้านยาว นวลทองจันทร์ หนามดำ เป็นต้น โดยเมื่อปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียนสดมูลค่า 47,232 ล้านหยวน โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นการนำจากไทยมูลค่า 31,999 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.58 เมื่อเทียบกับปี 2565 และในจำนวนนี้ มณฑลกวางตุ้งนำเข้าทุเรียนจากไทยมากที่สุดในจีน มูลค่า 10,559 ล้านหยวน
ทุเรียนไหหลำ
พัฒนาการสำคัญที่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนไทยอาจต้องจับตามอง คงหนีไม่พ้นความสำเร็จในการปลูกทุเรียนหลายสายพันธุ์ในพื้นที่เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน โดยผลิตส่วนใหญ่เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ก้านยาว และมูซันคิง ทั้งนี้ แม้ปริมาณผลผลิตทุเรียนไห่หนานในปัจจุบันอาจน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดของจีนจากไทย แต่ในด้านปริมาณผลผลิตที่เมื่อปี 2565 มีผลผลิตเพียง 50 ตัน กลับเพิ่มเป็น 250 ตันในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า นับเป็นพัฒนาการที่ภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยควรติดตามต่อไปว่า การผลิตทุเรียนไห่หนานจะเติบโตแบบทวีคูณ หรือ exponential growth pattern หรือไม่ รวมถึงผลตอบรับและความนิยมในตลาดจีนจะเป็นไปในทิศทางใด
ปัจจุบัน มณฑลไห่หนานมีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมดกว่า 16,667 ไร่ อย่างไรก็ดี สถิติปี 2566 ระบุว่า พื้นที่เพาะปลูกที่ให้ผลผลิตมีเพียง 583 ไร่ แต่ในปีนี้พื้นที่ที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 1,667 ไร่ ในขณะที่ มณฑลไห่หนานยังมีแผนขยายพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนเป็น 41,250 ไร่ ภายในระยะเวลา 5 ปี
นอกจากนี้ ในการประชุมการพัฒนาตลาดทุเรียนที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2564 เผยว่า ปัจจุบัน เมืองซานย่ากำลังดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานแปรรูปทุเรียนเมืองซานย่า ซึ่งนับว่าเป็นโรงงานแปรรูปทุเรียนแห่งแรกของจีน โดยมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2567 อีกด้วย
R&D และเทคโนโลยีเกษตรคืออนาคต
การปลูกทุเรียนในมณฑลไห่หนานมีการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งมีเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเป็นกุญแจสำคัญ โครงการเพาะปลูกทุเรียนในมณฑลไห่หนานเป็นการปลูกในแปลงยกร่อง โดยผสมหินภูเขาไฟในดินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและปลูกแบบต้นเตี้ยเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดจากพายุไต้ฝุ่นที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในมณฑลไห่หนานประกอบกับการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะควบคุมปริมาณน้ำ และโดรนตรวจสอบและดูแลต้นทุเรียน
รัฐบาลกลางจีนยังกำหนดให้มณฑลไห่หนานเป็นพื้นที่เป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชเขตร้อนที่สำคัญของจีน โดยปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถาบันวิจัยพืชฤดูร้อนเป่าถิง (Baoting Tropical Crops Research Institute) และ สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรมณฑลไห่หนาน (Hainan Academy of Agricultural Sciences) ซึ่งมีส่วนสำคัญในความสำเร็จของโครงการพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนให้เหมาะกับการเพาะปลูกในสภาพอากาศและพื้นที่ในมณฑลไห่หนาน
บริษัท Hainan Youqi Investment จำกัด กล่าวว่า แม้ว่าการผลิตทุเรียนไหหลำจะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าทุเรียนไทยมากนัก แต่เป็นการเพิ่มตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภคในจีนเป็นทุเรียนท้องถิ่นที่สดและมีรสชาติหวานกว่าทุเรียนนำเข้า
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ให้ความเห็นว่า “ในระยะสั้น ทุเรียนไหหลำไม่น่าส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยมากนัก แต่ ‘การอนุญาตนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมถึงการลงนามพิธีสารระหว่างจีนกับมาเลเซียว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกทุเรียนสดมายังประเทศจีน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567’ อาจส่งผลต่อราคาจำหน่ายทุเรียนในตลาดจีนและส่วนแบ่งทางการตลาดของทุเรียนไทยในจีนในอนาคต ดังนั้น เกษตรกรไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนไทยให้สูงขึ้น ตลอดจนนำทุเรียนสายพันธ์ใหม่ ๆ เข้ามาแข่งขันในตลาดพรีเมียมของจีนให้มากขึ้น”
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์