กระทรวงพาณิชย์จีน เผยว่า ในช่วง 10 เดือนแรก ของปี 2564 จีนดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) มูลค่า 943,150 ล้านหยวน เติบโตร้อยละ 17.8 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว การลงทุนของประเทศตามเส้นทาง BRI ในจีนเติบโตร้อยละ 30.7 และการลงทุนของอาเซียนในจีนเติบโตร้อยละ 29.5 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 หากแบ่งตามสาขาธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติลงทุนด้านภาคบริการและด้านการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 และร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ตามลําดับ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จีนคาดว่า มูลค่า FDI ของจีนจะทะลุ 1 ล้านล้านหยวนในปี 2564
.
ด้านอุตสาหกรรม สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เผยว่า เดือนตุลาคม 2564 มูลค่าเพิ่มของบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของจีนที่มีรายได้มากกว่า 20 ล้านหยวนต่อปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2564 ยังนับว่ามีค่าต่ำสุดเป็นลําดับที่ 2 นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 จากดัชนีข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมของจีนยังคงได้รับผลกระทบจากนโยบายควบคุมการใช้พลังงานและการปล่อยคาร์บอนในช่วงที่ผ่านมา โดยสังเกตได้จาก
.
- ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ เหล็กกล้า น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้า ขยายตัวลดลงจากเดือนกันยายน 2564
- ปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงร้อยละ 8.3 จากช่วงเดียวกันของปี 2563
- ปริมาณการผลิตถ่านหินกลับมาเติบโตเชิงบวกที่ร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ตามมาตรการเพิ่มอุปทานถ่านหินที่มีคุณภาพของจีน
- อุตสาหกรรมการผลิตยาและคอมพิวเตอร์มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าระดับเฉลี่ยในภาพรวมอย่างชัดเจน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 16.3 และร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ตามลําดับ
.
ภาคการบริโภคในจีนในเดือนตุลาคม 2564 พบว่า ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.5 จุด จากเดือนกันยายน 2564 นับเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 2 โดยเฉพาะยอดค้าปลีกอุปกรณ์การสื่อสาร เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และเครื่องสําอาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8 ร้อยละ 9.5 และร้อยละ 7.2 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ตามลําดับ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคการบริโภคของจีนในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ยังคงเผชิญความท้าทายด้านความไม่แน่นอนของการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 และการเพิ่มขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่ง
.
จากข้อมูลข้างต้น สังเกตได้ว่าภาคการผลิตที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง มักเป็นธุรกิจประเภทอุปกรณ์การสื่อสาร เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และเครื่องสําอาง ถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยด้านเทคโนโลยี และความงาม ในการพัฒนาสินค้าของไทยให้ได้มาตรฐานเพื่อพร้อมต่อการส่งออกไปยังประเทศจีน ทั้งนี้ เส้นทางการขนส่งระหว่างไทย – จีน ที่มีอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ทำให้ไทยได้เปรียบคู่ค้าประเทศอื่น ๆ อยู่พอสมควร ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาเลือกใช้วิธีการขนส่งให้เหมาะสม เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าก่อนถึงมือผู้บริโภคชาวจีน
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง