แม้หลายปีที่ผ่านมา มณฑลอานฮุยจะมี GDP น้อยที่สุดในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) รองจากเจียงซู เจ้อเจียง และเซี่ยงไฮ้ ตามลำดับ แต่ GDP ของอานฮุยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 กลับก้าวขึ้นเป็นอันดับที่ 3 ของเขต YRD นําหน้า GDP ของเซี่ยงไฮ้ถึง 1 แสนล้านหยวน โดยมี GDP รวม 4.29 ล้านล้านหยวน และมียอด GDP ต่อหัวประชากรของอานฮุยทะลุ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก ซึ่งห่างจากมาตรฐานของประเทศที่มีรายได้สูงตามที่ธนาคารโลกกำหนดไว้ไม่มากนัก
.
การสร้างสรรค์นวัตกรรมถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยอานฮุยมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมสูงเป็นอันดับที่ 8 ของจีน มีนครเหอเฝยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สำคัญ โดยนครเหอเฝยเป็น 1 ใน 4 ศูนย์กลางวิทยาศาสตร์แห่งชาติครบวงจร (Comprehensive national science center) ของจีน อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งศูนย์วิจัย 12 แห่งของสถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) และเป็นที่ตั้งของโครงการก่อสร้างอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ระดับชาติจีนมากที่สุดถึง 6 โครงการจากทั้งหมด 22 โครงการที่สร้างแล้วเสร็จในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นที่ตั้งของ University of Science and Technology of China (USTC) ที่มีชื่อเสียงระดับโลกและติดอันดับ 2 ของจีนในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมรองจากมหาวิทยาลัยชิงหัวของปักกิ่ง
.
ขณะนี้ อานฮุยยังคงมุ่งสนับสนุนการศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยในห้วงปี 2563 – 2567 จะจัดสรรงบประมาณเฉพาะกิจกว่า 3,000 ล้านหยวน เพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยในมณฑลสร้างศูนย์วิจัยเกี่ยวกับหลักสูตรคณิตศาสตร์ เคมี และชีววิทยา รวมถึงเปิดหลักสูตรใหม่ในสาขาการขนส่งด้วยพลังงานใหม่ เกษตรสมัยใหม่ และสาธารณสุข ตลอดจนสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ วิสาหกิจ และสถาบันวิจัยมากขึ้น
.
จะเห็นได้ว่า อานฮุยในวันนี้ไม่ได้ล้าหลังและไม่ใช่มณฑลที่เน้นด้านการเกษตรดั้งเดิมอีกต่อไป แต่กําลังก้าวหน้าไปพร้อมกับเซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเกษตรกรรมสมัยใหม่ และการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่มีความโดดเด่น ซึ่งไทยก็มุ่งเน้นส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเช่นเดียวกัน อาทิ การพัฒนากําลังคนด้าน AI และด้าน frontier research (Quantum, High Energy Physics, Earth & Space) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคมเรื่องการเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น โดยที่ผ่านมาไทยได้มีความร่วมมือกับอานฮุยด้วยแล้ว อาทิ ความร่วมมือในการพัฒนาห้องปฏิบัติการเพื่อการทำวิจัยด้านพลาสมาและการพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านนิวเคลียร์ฟิวชันระหว่างสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) กับ ASIPP เป็นต้น ทั้งนี้ ในอนาคตหลังจากที่หลายเมืองของอานฮุยจะได้รับอานิสงส์จากยุทธศาสตร์การพัฒนาเขต YRD แบบบูรณาการแล้ว จะส่งผลให้อานฮุยเป็นอีกหนึ่งมณฑลที่ไทยน่าจับตามอง ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ไทยจะสามารถขยายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างรอบด้านต่อไปในอนาคต
.
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์