เมืองเซี่ยเหมินได้กำหนดให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ของเมืองเซี่ยเหมิน ภายใต้นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ “4+4+6” ซึ่งเป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของเมืองเซี่ยเหมิน ที่สอดรับกับแผนการพัฒนา “สือซื่ออู่ (十四五) ” ของรัฐบาลกลางจีน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสมัยใหม่ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ
การวางนโยบายของเมืองเซี่ยเหมินในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ในปี 2566 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมืองเซี่ยเหมินเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเซี่ยเหมินเป็น 1 ใน 10 อันดับเมืองที่มีวิสาหกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวลงทุนมากที่สุดในจีน มีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมทะลุ 1 ร้อยล้านคน/ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.26 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มีรายได้จากการท่องเที่ยวทะลุ 1.5 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 83.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และจัดอยู่ในอันดับ 1 ของมณฑลฝูเจี้ยน
โดยในปี 2567 เมืองเซี่ยเหมินได้ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (Cultural Industry) มากกว่า 2.5 แสนล้านหยวนและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 2 แสนล้านหยวน โดยเน้นกระตุ้นการใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยว เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศของจีน โดยเมืองเซี่ยเหมินออกนโยบาย แผนปฏิบัติการการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมคุณภาพสูงของเมืองเซี่ยเหมิน (ปี 2566 – 2568) โดยมีมาตรการที่สำคัญ ดังนี้
- ผลักดันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
เมืองเซี่ยเหมินเป็นถิ่นกำเนิดของชาวจีนโพ้นทะเลนับหลายล้านชีวิตที่ย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากอยู่ที่ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมของชาวหมิ่นหนานหรือชาวฮกเกี้ยนใต้ ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ซึ่งเป็นมรดกตกทอดของสมัยการเผยแพร่อาณานิคมของประเทศตะวันตก รัฐบาลเมืองเซี่ยเหมินเล็งเห็นจุดแข็งของการมีวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น จึงได้จัดตั้งเขตคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมขึ้น อาทิ เกาะเปียโน ส่งเสริมสวนพฤกษศาสตร์ (Botanical Garden) เมืองเซี่ยเหมินให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับ 5A (ระดับสูงที่สุดในจีน) และสร้างถนนจงซานให้เป็นย่านแห่งการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมถึงผลักดันการท่องเที่ยวเพื่อการศึกษา/การวิจัยหรือการพักผ่อน
- ยกระดับอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมเเละอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Cultural & Creative Industries)
อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของเมืองเซี่ยเหมิน เน้นการผลักดันห่วงโซ่อุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ โดยส่งเสริมให้เมืองเซี่ยเหมินเป็นเจ้าภาพในการจัดงานเทศกาลภาพยนต์ไก่ทองคำและไป๋ฮวา (Golden Rooster and Hundred Flowers Film Festival) เพื่อช่วยสร้างแบรนด์แก่เมืองเซี่ยเหมินในฐานะ “เมืองแห่งภาพยนตร์ของจีน” ขณะเดียวกันมีการสร้างฐานการถ่ายทำภาพยนตร์และโทรทัศน์และเร่งดึงดูดวิสาหกิจอุตสาหกรรมภาพยนตร์และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมออกมาตรการและสิทธิประโยชน์ในการถ่ายทำ/ผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ในเมืองเซี่ยเหมิน
นอกจากนั้น ยังเร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาอื่น ๆ อาทิ อุตสาหกรรมเกมส์และแอนิเมชัน โดยการสนับสนุนการลงทุนของวิสาหกิจเกมส์และแอนิเมชัน ทั้งจากบริษัทใหญ่ของจีนและต่างประเทศ สร้างเทรนด์การตลาดใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งด้านการศึกษาเมืองเซี่ยเหมินยังส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของเมืองเซี่ยเหมินด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเกมส์และแอนิเมชันของเมืองเซี่ยเหมินทั้งในประเทศและต่างประเทศ
รวมถึงการส่งเสริมการสร้างอุตสาหกรรมดนตรีที่แข็งแกร่งระดับประเทศ โดยเร่งบ่มเพาะนักดนตรีและวงดนตรีท้องถิ่นให้มีชื่อเสียง และสนับสนุนการจัดงานเทศกาลดนตรีระดับสากล รวมถึงนิทรรศการด้านดนตรีระดับสากล โดยในปี 2567 มีการเชิญศิลปินที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศเพื่อส่งเสริมให้เมืองเซี่ยเหมินมีชื่อเสียงในแวดวงดนตรีต่างประเทศ และดึงดูดเม็ดเงินสู่อุตสาหกรรมดนตรีและธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของเมือง
- ส่งเสริมอุปทานการท่องที่ยว
ผลักดันศักยภาพการท่องเที่ยวทางทะเล/พื้นที่ชนบท พัฒนาการบริการการท่องเที่ยวชายฝั่งและพื้นที่ชนบทภายนอกเกาะเซี่ยเหมิน โดยเร่งก่อสร้างโครงการลงทุนเกี่ยวกับการสันทนาการ/กีฬาทางน้ำในอ่าวอู่หยวน หวนตงลั่งม่านเซี่ยน (欢动浪漫线) เขตนิทรรศการกีฬาภาคตะวันออก และอ่าวหม่าหลาน เพื่อสร้างเป็นฐานสำหรับการสันทนาการ/กีฬาทางน้ำระดับชาติ พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์และขยายระบบโลจิสติกส์ไปยังชนบทของเมืองเซี่ยเหมิน และออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายการท่องเที่ยวภายในเมืองเซี่ยเหมิน นอกจากนั้น ยังมุ่งยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในกลุ่มอื่น ๆ อาทิ การท่องเที่ยวสำหรับคู่แต่งงานใหม่ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และการท่องเที่ยวแบบครอบครัวอีกด้วย
ส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับไต้หวันและต่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือภาคการท่องเที่ยวระหว่างช่องแคบไต้หวัน โดยเน้นการสืบทอด/การคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) ผลักดันสินค้าจากเมืองเซี่ยเหมิน (Xiamen Products) แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนั้น ยังสนับสนุนด้านการเงินแก่สายการบินต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม BRI ที่ใช้บริการผ่านสนามบินนานาชาติเซี่ยเหมิน เพื่อยกระดับสภาพแวดล้อมการลงทุน/การคมนาคมและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของเมืองเซี่ยเหมิน
อีกทั้ง เมืองเซี่ยเหมินเน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงกีฬา โดยมีการส่งเสริมการจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ อาทิ การจัดการแข่งขัน 2024 CBA (Chinese Basketball Association) All-Star ที่ศูนย์กีฬาโอลิมปิคในเขตเสียงอันเมืองเซี่ยเหมิน ขณะที่หน่วยงานภาครัฐอย่างกรมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเมืองเซี่ยเหมินก็มีความร่วมมือกับบริษัท CBA ผลักดันกิจกรรม “การท่องเที่ยว + กีฬา หรือ (跟着赛去旅游)” ที่ช่วยดึงดูดการท่องเที่ยวในเมืองเซี่ยเหมินและยังช่วยโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวในเขตเสียงอันด้วย
ล่าสุด เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2567 เขตถงอันยังได้จัดการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีการลงนามโครงการที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ โครงการสันทนาการและกีฬาทางน้ำบริเวณหวนตงล่างม่าน (环东浪漫) โครงการนิทรรศการดนตรี และโครงการนำร่องเส้นทางการบินกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (东南亚国际精品航线) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยด้วย


สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://thaibizchina.com/article/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B9%80/
ข้อมูล : สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน