1. เศรษฐกิจมหภาค
1.1 แผนงานการผลักดันการพัฒนาด้วยมาตรฐานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 คณะกรรมการกลางและคณะรัฐมนตรี จีน ประกาศแผนงานการผลักดันการพัฒนาด้วยมาตรฐานแห่งชาติ โดยระบุว่า (1) การจัดทำมาตรฐานในด้านต่าง ๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเป็นส่วนประกอบสำคัญของนโยบายพื้นฐานของประเทศ (2) ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดทำมาตรฐานระดับชาติของจีนจะลดลงเหลือภายใน 18 เดือนภายในปี 2568 (3) ผลักดันการจัดทำมาตรฐานของสาขาธุรกิจต่าง ๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง เรืออัจฉริยะ รถยนต์พลังงานใหม่ หุ่นยนต์ และ e-commerce (4) ผลักดันการจัดทำมาตรฐานด้าน carbon emission peak และ carbon neutral และ (5) ผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการจัดทำมาตรฐานระดับสากลในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศตามเส้นทาง BRI ประเทศกลุ่ม BRICS และประเทศสมาชิก APEC
.
1.2 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2564 สำนักงานการค้าการศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) เผยว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 มีมูลค่า 28.33 ล้านล้านหยวน เติบโตร้อยละ 22.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และเติบโตร้อยละ 23.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี โดย (1) มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 15.55 ล้านล้านหยวน เติบโตร้อยละ 22.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และเติบโตร้อยละ 24.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 (2) มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 12.78 ล้านล้านหยวน เติบโตร้อยละ 22.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และเติบโตร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 (3) จีนมีคู่ค้าสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน เติบโตร้อยละ 21.1 สหภาพยุโรป เติบโตร้อยละ 20.5 และสหรัฐอเมริกา เติบโตร้อยละ 24.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (4) มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนกับประเทศตามเส้นทาง BR และประเทศสมาชิก RCEP เติบโตร้อยละ 23.4 และ 19.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามลำดับ และ (5) มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของบริษัททุนต่างชาติในจีนมีมูลค่า 10.22 ล้านล้านหยวน เติบโตร้อยละ 14.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ GACC คาดว่า สำหรับไตรมาสที่ 4 ปี 2564 อัตราการเติบโตของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนจะชะลอตัวลง เนื่องจากฐานมูลค่าการค้าสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
.
2. กฎระเบียบ มาตรการ และนโยบาย
2.1 จีนเดินหน้าปฏิรูปราคาไฟฟ้า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ออกนโยบายปฏิรูปราคาไฟฟ้า โดยมีมาตรการสำคัญ เช่น (1) ขยายขอบเขตการปรับขึ้นและปรับลดของราคาไฟฟ้า โดยการปรับขึ้นและปรับลดของราคาไฟฟ้าจะไม่เกินร้อยละ 20 โดยเดิมการปรับขึ้นของราคาไฟฟ้าจะไม่เกินร้อย 10 และการปรับลดของราคาไฟฟ้าจะไม่เกินร้อยละ 15 (2) ไม่กำหนดเพดานการปรับขึ้นของราคาไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมและบริษัทที่ต้องใช้พลังงานสูง (3) ราคาไฟฟ้าของธุรกิจการเกษตรและราคาไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือนไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยนโยบายดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป
.
3. ธุรกิจ การค้า และการลงทุน
3.1 ธุรกิจด้าน cloud computing ของจีน ข้อมูลจาก Tanyancha.com ซึ่งเป็นฐานข้อมูลตรวจสอบข้อมูลจดทะเบียนบริษัทในจีนและได้รับการสนับสนุนโดยภาครัฐจีน ชี้ว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 จีนมีบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้าน cloud computing จำนวนประมาณ 213,000 แห่ง โดยร้อยละ 30 เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา และกรุงปักกิ่งมีบริษัท cloud computing จำนวนมากกว่า 80,000 แห่ง ซึ่งมากเป็นอันดับหนึ่งของจีน และคิดเป็นร้อยละ 44 ของจำนวนบริษัท cloud computing ทั้งหมดของจีน นอกจากนี้ ข้อมูลจากสมาคมอินเทอร์เน็ตจีน (ISC) ชี้ว่า ปี 2563 ตลาด cloud computing ของจีนมีมูลค่า 1.8 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.6 จากปี 2562 โดยในตลาดจีนมีผู้ให้บริการ public cloud ขนาดใหญ่จำนวน 5 ราย ได้แก่ (1) Alibaba Cloud Computing (2) Tencent Cloud (3) Huawei Cloud (4) e Cloud ของ China Telecom และ (5) Amazon Web Services (AWS)
.
3.2 ยอดผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) เติบโตเป็นประวัติการณ์ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 สมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศจีน (CAAM) เผยว่า เดือนกันยายน 2564 จีนผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานใหม่จำนวนกว่า 353,000 คัน และ 357,000 คัน ตามลำดับ ซึ่งต่างเพิ่มขึ้นร้อยละ 150 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยในเดือนกันยายน 2564 อัตราการเข้าถึง (penetration rate) ของตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ของจีนอยู่ที่ร้อยละ 17.3 ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2564 จีนจำหน่ายรถยนต์พลังงานใหม่จำนวนรวมกว่า 2.16 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 190 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
.
4. การบริโภค
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 นายอี้ กาง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) ระบุว่า ปัจจุบันการชำระเงินออนไลน์ของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้นจากการเติบโตของ (1) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) (2) big data (3) cloud computing และ (4) e-commerce โดยจากข้อมูล ณ สิ้นปี 2562 พบว่า ร้อยละ 87 ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจีนมีการใช้บริการการชำระเงินออนไลน์ ทั้งนี้ ปัจจุบันจีนมีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในจีนกว่า 1,000 ล้านร้าย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินของจีนนำมาซึ่งความท้าทายต่อหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของจีน ทั้งปัญหาการประกอบธุรกิจทางการเงินโดยไม่มีใบอนุญาต และปัญหาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล
.
5. สิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 ประธานาธิบดีจีน กล่าวใน การประชุมสุดยอดความหลากหลายทางชีวภาพโลก (COP15) ว่า จีนจะสนับสนุนการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญ เช่น (1) จีนจะจัดตั้ง “กองทุนความหลากหลายทางชีวภาพคุนหมิง (Kunming Biodiversity Fund)” มูลค่า 1,500 ล้านหยวน เพื่อช่วยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ (2) เร่งการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยผลักดันการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในเขตทะเลทรายและพื้นที่อื่น ๆ และ (3) ออกมาตรการ “1+N” สำหรับปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย “carbon emission peak และ carbon neutral”
.
6. การคมนาคมและโลจิสติกส์
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ประธานาธิบดีจีน กล่าวสุนทรพจน์ผ่านวิดีทัศน์ในพิธีเปิดงาน United Nations Global Sustainable Transport Conference ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 16 ตุลาคม 2564 ณ กรุงปักกิ่ง โดยมีสาระสำคัญ เช่น (1) โลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในรอบ 100 ปี ผนวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อการพัฒนาของเศรษฐกิจโลก และการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน (2) ควรร่วมกันผลักดันการเชื่อมโยงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (hard connectivity) และการเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ (soft connectivity) รวมทั้งส่งเสริม connectivity ในรูปแบบ “ทางบก+ทางน้ำ+ทางอากาศ+ทางอินเทอร์เน็ต” (3) จีนมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความสะดวกและส่งเสริมการเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุน (4) จีนจะผลักดันและร่วมกันสร้าง BRI ที่มีคุณภาพสูงต่อไป รวมทั้งเร่งพัฒนา “เส้นทางสายไหมสีเขียว” และ “เส้นทางสายไหมดิจิทัล” และ (5) จีนจะจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและความรู้ด้านการคมนาคมอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นกำลังสนับสนุนการพัฒนาการคมนาคมของโลก
.
จะเห็นได้ว่า การที่รัฐบาลจีนเร่งพัฒนาโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะในด้านของกฎระเบียบ มาตรการ และนโยบาย หรือรวมไปถึงด้านการพัฒนาธุรกิจการค้าและการลงทุน อีกทั้งยังมีการหันมาให้ความสนใจในอุตสาหกรรมสาขาใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น พลังงานสีเขียว พลังงานสะอาด และพลังงานชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และอุดมการณ์ของประเทศจีนในการเร่งพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2060 ดังนั้น จึงถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยที่วางแผนจะไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจด้าน cloud computing ธุรกิจในอุตสาหกรรมคมนาคมและโลจิสติกส์ ธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยผู้ประกอบการไทยสามารถที่จะพิจารณาเข้าไปร่วมธุรกิจ หรือถ่ายทอดศักยภาพในอุตสาหกรรมที่ไทยมีจุดแข็งเพื่อต่อยอดไปสู่การฟื้นฟูอย่างยั่งยืนในอนาคตยุคหลัง COVID-19 ต่อไปได้อย่างสมดุล
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง