นครฉงชิ่ง เป็นเมืองที่มี GDP ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศจีน โดยไตรมาสที่ 2 ปี 2564 มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ 1,290,341 ล้านหยวน จัดอยู่ในอันดับที่ 16 ของประเทศจีน และเป็นอันดับ 5 ในระดับนคร/เมือง รองจากนครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง เมืองเซินเจิ้น และนครกว่างโจว
.
โดยท่าเรือกว่อหยวนและท่าเรือบก Chongqing ASEAN International Logistics Park นั้นต่างตั้งอยู่ในนครฉงชิ่งเช่นกัน ถือเป็นเส้นทางขนส่งและระบบโลจิสติกส์ที่สำคัญและเป็น “ประตูสู่เศรษฐกิจของจีนตะวันตก” เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการขนส่งสินค้าจากไทยและอาเซียนมายังภาคตะวันตกของจีนโดยไม่ต้องผ่านไปยังภาคตะวันออกของจีน
.
ท่าเรือกว่อหยวน (ทางเรือ)
.
ท่าเรือกว่อหยวน (ทางเรือ) ตั้งอยู่ที่เขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง มุ่งเน้นพัฒนาและดำเนินการตามโครงการเชื่อมเส้นทางระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลจีน (นครฉงชิ่ง) – สิงคโปร์ International Land-Sea Trade Corridor (ILSTC) เริ่มให้บริการในปลายปี 2556 มีพื้นที่ 20 ตารางกิโลเมตร มีท่าเทียบเรือ 16 แห่งแบ่งเป็นท่าเทียบเรือขนาด 5,000 ตัน 10 แห่ง ท่าเรือสินค้าทั่วไปและเทกอง 3 แห่ง และ ท่าเทียบเรือสำหรับขนส่งรถยนต์ 3 แห่ง ท่าเรือแห่งนี้สามารถรองรับการขนส่งสินค้า 30 ล้านตันต่อปี และยังเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมการขนส่งทุกรูปแบบเข้าด้วยกัน ได้แก่ ทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ และระบบขนส่งสาธารณะ ดังนี้
.
(1) ทางด้านทิศตะวันออก ผ่านแม่น้ำแยงซี จากนครฉงชิ่ง – นครเซี่ยงไฮ้ มีความยาว 2,838 กิโลเมตร ผ่านทั้งหมด 11 เมือง ถือเป็นแม่น้ำที่มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 40 ของประเทศจีน
.
(2) ทิศตะวันตก เส้นทางรถไฟจีน – ยุโรป เน้นเชื่อมระหว่างเอเซียกลางและยุโรป โดยมีระยะทางรวม 11,179 กิโลเมตร ผ่าน 14 ประเทศ 30 เมืองใหญ่และ 62 เมืองในประเทศจีน และมีเส้นทางรถไฟมากกว่า 20 เส้นทาง
.
(3) ทิศใต้ เชื่อมเส้นทาง ILSTC สามารถขนส่งไปต่างประเทศได้ถึง 94 ประเทศ มีท่าเรือปลายทาง ที่รองรับถึง 248 แห่ง
.
(4) ทิศเหนือ รถไฟขบวนพิเศษระหว่างประเทศ เส้นทางนครฉงชิ่ง – มองโกเลีย – รัสเซีย เน้นการเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจจีน – มองโกเลีย – รัสเซีย มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 10,755 กิโลเมตร
.
ในปี 2563 ขบวนรถไฟ ฉงชิ่ง – ยุโรป ได้มีการขนส่งผ่านท่าเรือกว่อหยวน 231 เที่ยว ส่วนใหญ่จะเป็น การนำเข้าวัสดุไม้และทองแดง และส่งออกแร่โครเมียม จึงเป็นท่าเรือที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลในภาคตะวันตกของจีน มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าของรถไฟจีน – ยุโรป และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง และในปี 2564 ท่าเรือกว่อหยวนมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเป็น“ศูนย์กลางการขนส่งสีเขียวแห่งชาติ”
.
การขนส่งสินค้าจากอาเซียนมานครฉงชิ่งผ่านเส้นทาง ILSTC มีวิธีการขนส่งทั้งทางเรือเชื่อมราง และเรือเชื่อมเรือ เนื่องจากเส้นทางนี้สามารถขนส่งสินค้ามายังท่าเรือกว่อหยวนได้โดยตรง อย่างไรก็ดี ปริมาณเรือที่ขนส่งโดยไม่ผ่านการเปลี่ยนถ่ายสินค้ายังคงมีปริมาณน้อย เนื่องจากแม่น้ำแยงซีมีระดับความลึกไม่มาก ส่งผลให้การขนส่งสินค้าส่วนใหญ่ต้องผ่านการเปลี่ยนถ่ายที่ท่าเรือชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง หรือท่าเรือที่นครเซี่ยงไฮ้ อย่างไรก็ดี เส้นทางนี้ยังคงเป็นตัวเลือกที่ผู้ประกอบการนิยมเนื่องจากต้นทุนต่ำกว่าทางราง 4 เท่า
.
ท่าเรือบก Chongqing ASEAN International Logistics Park (ทางถนน)
.
“ท่าเรือบก” (Dry Port) หมายถึง ศูนย์โลจิสติกส์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนในของประเทศ ทำหน้าที่เสมือนท่าเรือ แต่ไม่มีกระบวนการขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงเรือ ภายในท่าเรือบกประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนตรวจปล่อยสินค้า และส่วนให้บริการ นอกจากนี้ ยังอาจมีบริการด้านพิธีศุลกากร บริการเก็บพักตู้ เป้าหมายของท่าเรือบกคือ ช่วยแก้ไขปัญหาจราจรแออัดที่เกิดขึ้นตรงท่าเรือ โดยพื้นที่ท่าเรือบกจะต้องมีการเชื่อมโยงระบบการขนส่งตั้งแต่ 2 รูปแบบขึ้นไป อาทิ ระบบขนส่งรางและระบบขนส่งทางถนน โดยจะเน้นใช้ระบบขนส่งทางรางเป็นหลัก
.
ท่าเรือบก Chongqing ASEAN International Logistics Park ตั้งอยู่ในเขตปาหนาน มีพื้นที่ประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร เป็นท่าเรือบกที่สำคัญแห่งหนึ่งในนครฉงชิ่ง มีหน้าที่หลักคือเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางบกระหว่างประเทศที่ครอบคลุมประเทศในอาเซียนและพื้นที่ในภูมิภาคตะวันตกของจีน โดยเน้นการเชื่อมต่อกับเส้นทาง ILSTC ภายในท่าเรือบกแห่งนี้แบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่
.
(1) โซนคลังสินค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วย คลังสินค้าทัณฑ์บน คลังสินค้าอาเซียน รวมทั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ซื้อขายผ่าน cross-border e-commerce ในปี 2563 โซนนี้มีมูลค่าการนำเข้าส่งออก 5,200 ล้านหยวน สามารถเก็บภาษีได้ 130 ล้านหยวน
.
(2) โซนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จะมีคลังสินค้าที่เก็บสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ โดยคลังสินค้าเหล่านี้จะเปิดให้ภาคเอกชน อาทิ JD.com SF เช่า ภายในคลังสินค้าประกอบด้วยสำนักงาน แผนกฝ่ายขาย แผนกบริการหลังการขาย และศูนย์ซ่อมบำรุง กรณีสินค้าเสียหายและถูกส่งคืน ในปี 2563 โซนนี้มีมูลค่าการซื้อขาย 136,030 ล้านหยวน สามารถจัดเก็บภาษีได้ 2,500 ล้านหยวน
.
(3) โซนอุตสาหกรรมและสินค้าเฉพาะทาง ใช้เป็นคลังสินค้าของบริษัทเอกชน เช่น บริษัทอะไหล่ยานยนต์ บริษัทผลิตมอเตอร์ไซค์ ในปี 2563 ภายในโซนมีมูลค่าการซื้อขาย 31,600 ล้านหยวน สามารถจัดเก็บภาษีได้ 1,060 ล้านหยวน
.
(4) โซนโลจิสติกส์ จะมีบริษัทด้านโลจิสติกส์มากมายให้บริการในการจัดส่งสินค้าทั้งภายในประเทศจีนและต่างประเทศ ในปี 2563 มีมูลค่าการใช้บริการรวม 4,300 ล้านหยวน สามารถจัดเก็บภาษีได้ 560 ล้านหยวน ในอนาคตท่าเรือบกนี้มีแผนขยายพื้นที่เพิ่มเพื่อรองรับการใช้บริการที่มากขึ้น
.
โดยปัจจุบัน ท่าเรือบกมีเส้นทางขนส่งทั้งหมด 8 สาย ได้แก่
.
(1) สายตะวันออก เป็นเส้นทางการขนส่งทางถนน เริ่มจากเขตปาหนัน ผ่านผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ผ่านกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และสิ้นสุดที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา) เป็นระยะทาง 3,400กม. ใช้เวลาประมาณ 148 ชม. หรือ 6 วัน
.
(2) สายตะวันออกสายที่สอง เป็นเส้นทางที่ใช้เส้นทางบกและทางเรือ เริ่มจากเขตปาหนัน ผ่านท่าเรือชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และขึ้นเรือขนส่งไปจุดหมายปลายทางที่สิงคโปร์ รวมระยะทาง 4,300 กม. ใช้เวลาขนส่งต่อเที่ยวประมาณ 240 ชม. หรือ 10 วัน
.
(3) สายกลาง เป็นเส้นทางการขนส่งทางถนน เริ่มจากเขตปาหนัน ผ่านบ่อหาน มณฑลยูนนาน ผ่านนครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว และสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ รวมระยะทาง 2,800 กม. ใช้เวลาขนส่งต่อเที่ยวประมาณ 98 ชม. หรือ 4 วัน ในปี 2562 ท่าเรือบกมีปริมาณการขนส่งสินค้าไปประเทศไทย 12 คัน มูลค่า 3.89 ล้านหยวน และในปี 2563 มีการขนส่ง 47 คัน มูลค่า 13.41 ล้านหยวน
.
(4) สายตะวันตก เป็นเส้นทางการขนส่งทางถนน เริ่มจากเขตปาหนัน ผ่านตวนลี่ มณฑลยูนนาน ปลายทางกรุงย่างกุ้ง เมียนมา รวมระยะทาง 2,700 กม. ใช้เวลาขนส่งต่อเที่ยว 79 ชม. หรือ 3 วัน
.
(5) สายเอเชีย เป็นเส้นทางการขนส่งทางรางและทางบก ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อที่ไร้รอยต่อระหว่างรถยนต์ขนส่งข้ามพรมแดนกับรถไฟจีน (ฉงชิ่ง) – ยุโรป เริ่มจากยุโรป ผ่านเขตปาหนัน สิ้นสุดที่เวียดนาม รวมระยะทาง 12,400 กม. ใช้เวลาต่อเที่ยวประมาณ 20 วัน
.
(6) สายปาหนัน เป็นเส้นทางการขนส่งทางถนน เริ่มจากนครฉงชิ่ง ผ่านผิงเสียง ผ่านเวียดนาม สปป. ลาว ไทย มาเลเซีย และสิ้นสุดที่สิงคโปร์ รวมระยะทาง 4,500 กม. ใช้เวลาต่อเที่ยวประมาณ 7 วัน
.
(7) สายนครฉงชิ่ง – อุซเบกิสถาน เป็นเส้นทางการขนส่งทางถนน รวมระยะทาง 5,700 กม. ใช้เวลาขนส่งต่อเที่ยว 13 วัน
.
(8) สายนครฉงชิ่ง – คาซัคสถาน เป็นเส้นทางการขนส่งทางถนน รวมระยะทาง 5,900 กม. ใช้เวลาขนส่งต่อเที่ยว 12 วัน
.
โดยภายในสิ้นปี 2564 ท่าเรือบกแห่งนี้มีแผนเปิดใช้งานระบบราง เพื่อลดระยะเวลาในการขนส่ง สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจใช้บริการท่าเรือบกแห่งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ http://www.56cail.cn และที่ท่าเรือบกนี้มีศูนย์บริการ ONE STOP SERVICE ที่สามารถช่วยให้คำแนะนำต่าง ๆ และยังมีบริการนำสินค้าไปจัดแสดงที่ศูนย์จัดแสดงสินค้าอาเซียน บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลการซื้อขาย บริการ ศูนย์กระจายสินค้า บริการจัดส่ง บริการโฆษณาสินค้า ฯลฯ
.
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งสินค้าไปยังภาคตะวันตกของจีน สามารถพิจารณาเลือกใช้ท่าเรือดังกล่าวในการขนส่งสินค้าได้ แต่ผู้ประกอบการไทยอาจต้องคำนึงว่าผลิตภัณฑ์สินค้าที่จะส่งออกไปจีนตะวันตกนั้นเหมาะสมกับระบบขนส่งทางใด คำนึงถึงความคุ้มค่าเป็นหลัก โดยการขนส่งแบบเรือเชื่อมเรือมีความได้เปรียบเรื่องต้นทุนที่ถูกกว่าการขนส่งทางราง 4 เท่า และเป็นหนึ่งช่องทางในการส่งสินค้าต่อไปยังยุโรปได้ (โดยเปลี่ยนถ่ายสินค้าไปเป็นทางรางและขนส่งผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป) ถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องคำนวณต้นทุนในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือซินโจวหรือท่าเรือที่นครเซี่ยงไฮ้ด้วย ซึ่งจะกระทบต่อราคาและระยะเวลาในการขนส่ง ในส่วนการขนส่งทางถนนผ่านท่าเรือบกฯ ต้นทุนในการขนส่งทางถนนก็จะสูงขึ้น แต่มีข้อได้เปรียบคือเรื่องระยะเวลาและการกระจายสินค้า เพราะเมื่อสินค้าไปถึงท่าเรือบกดังกล่าว สินค้าพร้อมที่จะกระจายสู่ภาคจีนตะวันตกและภาคอื่น ๆ ในรูปแบบค้าปลีกผ่านช่องทาง E-Commerce เพื่อให้ได้ประโยชน์และเกิดความคุ้มค่าสูงสุด ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาเกี่ยวกับประเภทสินค้าที่สามารถขนส่งไปทางเส้นทางดังกล่าว ตลอดจนระเบียบศุลกากร และรายละเอียดต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน นอกจากนี้ ท่าเรือกว่อหยวน กำลังอยู่ในช่วงพิจารณาเชื่อมต่อจีนกับพื้นที่ EEC ของไทย ผ่านเส้นทางรถไฟไทย-จีนในอนาคต และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ เส้นทางรถไฟดังกล่าว จะเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-จีน