กระทรวงพาณิชย์จีนประกาศพัฒนาให้กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครกว่างโจว นครเทียนจิน และนครฉงชิ่งเป็นศูนย์การบริโภคระหว่างประเทศ โดยนายหวัง เหวินเทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีนกล่าวว่า
.
(1) มาตรการดังกล่าวเป็นการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะรัฐมนตรีจีน เพื่อดึงดูดสินค้าและบริการคุณภาพระดับสากลตลอดจนเร่งพัฒนาแบรนด์ท้องถิ่น ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างกระบวนทัศน์การพัฒนาแบบใหม่
.
(2) แผนการพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบริโภคระหว่างประเทศได้รับการระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-2025) และเป้าหมายระยะยาวตลอดปี 2035 ของจีน
.
สื่อจีนรายงานว่ารัฐบาลจีนน่าจะเปิดเผยรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในช่วงปลายปีนี้ โดยแผนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ และส่งเสริมการสร้างศูนย์การค้าระดับนานาชาติขนาดใหญ่ในจีน เพื่อแข่งขันกับเมืองในต่างประเทศ เช่น กรุงโตเกียว เมืองดูไบ กรุงลอนดอน และนครนิวยอร์ก เพื่อที่ผู้บริโภคจีนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปซื้อสินค้าจากต่างประเทศอีกต่อไป ทั้งนี้ จีนในฐานะประเทศที่มี GDP ต่อหัวเกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนการบริโภคใน GDP ซึ่งยั่งยืนกว่าการลงทุน
.
โดยก่อนหน้านี้ เมืองข้างต้นบางแห่งประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว เช่น
.
(1) เมื่อเมษายน 2564 นครเซี่ยงไฮ้ประกาศสนับสนุนแบรนด์ต่างชาติให้เปิดร้าน Flagship store ระดับ High-end เพื่อเปิดประสบการณ์ และยกระดับสำนักงานใหญ่ของแบรนด์ต่างชาติให้เป็นสำนักงานระดับภูมิภาคหรือระดับโลก
.
(2) เมื่อกันยายน 2563 นครกว่างโจวตั้งเป้าดึงดูดแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติมาตั้งร้าน Flagship store เพื่อเพิ่มการนำเข้าแบรนด์ต่างประเทศ 200 แบรนด์ภายใน 3 ปี เร่งการพัฒนาร้านค้าปลอดภาษีบริเวณท่าเรือ และจัดตั้งร้านค้าปลอดภาษีในเขตเมือง
.
(3) เมื่อพฤศจิกายน 2562 นครฉงชิ่งตั้งเป้าดึงดูดแบรนด์ต่างประเทศและสร้างศูนย์แลกเปลี่ยนระหว่างประเทศสำหรับภูมิภาคกลางและตะวันตกของจีน และเพิ่มสัดส่วนการบริโภคใน GDP ให้เกินร้อยละ 55 ภายในปี 2565 และเกินร้อยละ 60 ภายในปี 2568
.
(4) เมื่อ 15 กรกฎาคม 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่าระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2564 ยอดค้าปลีกทั่วจีน มีมูลค่า 21.2 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบเป็นรายปี และเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.4 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้การบริโภคจะมีสัดส่วนใน GDP มากกว่าร้อยละ 61.7
.
สำหรับนครฉงซิ่งซึ่งถือเป็นเมืองที่มีการเติบโตอยู่ในระดับแนวหน้าของจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าการบริโภคจะมีสัดส่วนใน GDP มากกว่าร้อยละ 55 มียอดค้าปลีกทะลุ 1.1 ล้านล้านหยวนภายในปี 2565 และคาดว่าอัตราภาคบริการจะมีสัดส่วนใน GDP มากกว่าร้อยละ 60 ภายในปี 2568
.
ภายใต้ความไม่แน่นอนของบริบทโลกและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จีนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจแบบวงจรคู่ (Dual Circulation) ทั้งนี้ นอกจากการสร้างศูนย์การค้าซึ่งมีสินค้าที่หลากหลายแล้ว หากจีนประสงค์จะแข่งขันกับเมืองในต่างประเทศ จีนยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาคุณภาพของสินค้าและการบริการเพิ่มเติม
.
ในส่วนของผู้ประกอบการไทย ปฎิเสธไม่ได้ว่าสินค้าและบริการจากประเทศไทยยังคงเป็นที่นิยมในด้านคุณภาพ มาตรฐาน และชื่อเสียงจากตลาดในประเทศจีนอยู่มาก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถใช้จุดแข็งและขีดความสามารถในส่วนนี้เพื่อกระตุ้นและพัฒนาสินค้าและการบริการของตนเองเพื่อให้มีพลวัตอยู่เสมอ สำหรับบริบทของโลกใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตอันใกล้
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู