‘โครงการสาธิตเมืองไร้ขยะ’ เป็นการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ของจีน ภายใต้แนวคิด 5 ประการ ได้แก่ (1) การพัฒนานวัตกรรมใหม่ (2) การพัฒนาภายใต้กลไกความร่วมมือ (3) การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (4) การพัฒนาที่เปิดกว้าง (5) การพัฒนาด้วยการแบ่งปัน โดยส่งเสริมการลดปริมาณขยะและการใช้ทรัพยากรขยะแบบหมุนเวียนและฝังกลบขยะให้น้อยที่สุด เป็นแบบจําลองการพัฒนาเมืองที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นแนวคิดการบริหารจัดการเมืองขั้นสูงของจีน
เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2561 สภาแห่งรัฐจีนได้ออก ‘แผนงานสําหรับการก่อสร้างเขตสาธิตเมืองไร้ขยะ’ และเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีนได้ประกาศโครงการสาธิตเมืองไร้ขยะ 11 เมืองแรกของจีน ได้แก่ (1) เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง (2) เมืองเป่าโถว เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน (3) เมืองถงหลิง มณฑลอานฮุย (4) เมืองเวยไร่ มณฑลซานตง (5) นครฉงชิ่ง (6) เมืองเส้าชิง มณฑลเจ้อเจียง (7) เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน (8) เมืองสวีชาง มณฑลเหอหนาน (9) เมืองซวีโจว มณฑลเจียงซู (10) เมืองผานจิน มณฑลเหลียวหนิง และ (11) นครซีหนิง มณฑลชิงไห่ แม้ว่ามณฑลเสฉวนจะยังไม่ได้รับเลือกเป็นเมืองสาธิตเมืองไร้ขยะกลุ่มแรก แต่รัฐบาลเสฉวนเล็งเห็นถึงความสําคัญของโครงการดังกล่าว จึงได้นําแนวคิดการพัฒนา 5 ประการจากโครงการสาธิตเมืองไร้ขยะมาใช้กับการจัดการขยะและลดมลพิษในมณฑลเสฉวน ทั้งนี้ เมืองไร้ขยะของมณฑลเสฉวน ไม่ได้มีความหมายตามตัวว่า ‘เมืองปลอดขยะ’ เหมือนเมืองอื่น ๆ จากทั่วโลก แต่หมายถึงการลดมลพิษที่เกิดจากขยะ และการนําขยะหมุนเวียนกลับไปใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รัฐบาลมณฑลเสฉวนได้เลือกนครเฉิงตู เมืองจื้อก้ง เมืองหลูโจว เมืองเต๋อหยาง เมืองเหมียนหยาง เมืองเล่อซาน เมืองเหมียชาน และเมืองอี้ปิน ให้เป็น 8 เมืองกลุ่มแรกในโครงการเมืองไร้ขยะของมณฑลเสฉวน และพยายามผลักดันและเสนอชื่อให้อยู่ในโครงการสาธิตเมืองไร้ขยะของจีน
ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณขยะในมณฑลเสฉวนเพิ่มขึ้นทุกปี และสูง เป็นอันดับต้น ๆ ของจีน มณฑลเสฉวนสร้างขยะจากอุตสาหกรรมทั่วไปประมาณ 160 ล้านตันต่อปี ขยะทางการเกษตร ประมาณ 240 ล้านตันต่อปี ขยะอันตรายจากอุตสาหกรรมประมาณ 5 ล้านตันต่อปี ขยะทางการแพทย์ประมาณ 6 หมื่นตันต่อปี ขยะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจําวันในเมืองขนาดกลางและเมืองขนาดใหญ่ประมาณ 16 ล้านตันต่อปี และภายในช่วง ระยะเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีฉบับที่ 13 มีปริมาณขยะจากการก่อสร้างประมาณ 210 ล้านตัน
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม รองผู้อํานวยการกรมนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมมณฑลเสฉวนเปิดเผยว่า มณฑลเสฉวนกําลังมุ่งเน้นไปที่การแสดงบทบาทอย่างเต็มที่ในการป้องกันและควบคุมมลพิษที่เกิดขึ้นจากขยะมูลฝอยประเภทต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนี้
- ขยะจากอุตสาหกรรม กากถลุง (Stag) และเถ้าลอย (Flyash) ถูกนํากลับมาใช้ใหม่กว่าร้อยละ 85 และ เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างรุนแรงของฟอสโฟยิปซัม (Phosphogypsum) ในมณฑลเสฉวน รัฐบาลจึงเข้ามาควบคุมและกํากับดูแล ปัจจุบันอัตราการผลิตและใช้ประโยชน์ของฟอสโฟยิปซัมในมณฑลเสฉวนอยู่ใน ภาวะสมดุล สามารถนํากลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ทั้งหมด
- ขยะมูลทางการเกษตรและปศุสัตว์ ฟาร์มปศุสัตว์กว่า 100 แห่งในมณฑลเสฉวน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน โดยการนํามูลสัตว์ไปใช้ในการเกษตร ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรร้อยละ 70 และพื้นที่ปศุสัตว์ร้อยละ 80 นอกจากนี้ ยังมีการลงทุน 461 ล้านหยวน ในโครงการใช้ฟางเป็นทรัพยากรหมุนเวียน ครอบคลุม 70 อําเภอในมณฑลเสฉวน
- ขยะอันตราย มณฑลเสฉวนกําลังส่งเสริมการก่อสร้างโครงการสาธิตการจัดการขยะอันตราย 58 โครงการ เช่น สารกําจัดศัตรูพืช และขยะบรรจุภัณฑ์อันตราย เพื่อปรับปรุงข้อบกพร่องและพัฒนาประสิทธิภาพของการกําจัดขยะอันตราย และปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีการกําจัดขยะที่ทันสมัย ปัจจุบันมณฑลเสฉวนมีความสามารถในการกำจัดขยะอันตราย 3.89 ล้านตันต่อปี และมีความสามารถในการกําจัดขยะทางการแพทย์ 1.31 แสนตันต่อปี
- ขยะในชีวิตประจําวัน มีการตั้งถังขยะสําหรับคัดแยกขยะและใช้การรวบรวมขนส่ง และกําจัดแบบจําแนกประเภทของขยะ ปัจจุบันมณฑลเสฉวนมีความสามารถในการกําจัดขยะในชีวิตประจําวันแบบปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6 หมื่นตันต่อวัน ซึ่งสามารถกําจัดขยะในชีวิตประจําวันในเขตเมืองกว่าร้อยละ 99.5 ปัจจุบัน นครเฉิงตู เมืองจื้อกุ้ง เมืองพานจือฮวา เมืองหลูโจว เมืองหนานชาง ฯลฯ ไม่ใช้วิธีการกําจัดขยะด้วยการกลบฝังอีกต่อไป
นอกจากนี้ มณฑลเสฉวนมีการปราบปรามการกระทําผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความเกรงกลัวต่อกฎหมายดังกล่าว ในช่วงสองปีที่ผ่านมามณฑลเสฉวนได้ดําเนินคดีเกี่ยวกับขยะแบตเตอรี่ตะกั่วกรดที่ผิดกฎหมายไปแล้ว 36 คดี ซึ่งเป็นจํานวน 304 ตัน และคดีความเกี่ยวกับขยะมูลฝอยที่ผิดกฎหมาย 855 คดี เป็นเงินปรับทั้งหมด 73.95 ล้านหยวน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้จัดตั้งกลไกการป้องกันการกระทําผิดกฎหมาย เช่น แพลตฟอร์มตรวจสอบขยะ อันตรายและขยะทางการแพทย์ในรูปแบบออนไลน์ กําหนดให้แยกการจัดเก็บขยะอันตรายแต่ละชนิด รวมถึงการระดมตรวจสอบสถานประกอบการในมณฑลเสฉวน 1,837 แห่ง ในด้านการจัดการขยะ การปล่อยมลพิษและการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบเจอปัญหา 1,899 รายการ และดําเนินการแก้ไขไปแล้วกว่าร้อยละ 92
ด้านสถานการณ์ขยะมูลฝอยของไทย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยจํานวน 24.98 ล้านตัน ลดลงจากปี 2563 ประมาณร้อยละ 1 แม้ว่าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีการจํากัดการเดินทางของนักท่องเที่ยว แต่มาตรการ Work From Home ทําให้มีการสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นจากจํานวนขยะมูลฝอยข้างต้น แบ่งเป็นขยะมูลฝอยที่มีการคัดแยก ณ ต้นทางและนํากลับไปใช้ประโยชน์เพียง 1 ใน 3 คิดเป็นจํานวน 8.61 ล้านตัน (ร้อยละ 34.47) มีการกําจัดอย่างถูกต้อง 9.68 ล้านตัน (ร้อยละ 38.75) และกําจัดไม่ถูกต้องประมาณ 6.69 ล้านตัน (ร้อยละ 26.78)
ในส่วนของขยะมูลฝอยติดเชื้อ ปี 2564 มีปริมาณสูงกว่า 9 หมื่นตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึงร้อยละ 87 สำหรับขยะติดเชื้อที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น เกิดจากโรงพยาบาล คลินิกเอกชน สถานพยาบาลสัตว์ ห้องปฏิบัติการเชื้อ อันตราย รวมไปถึงขยะมูลฝอยติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากโรงพยาบาลสนาม สถานกักกัน ศูนย์แยกกักในชุมชน (CI) การแยกกักตัวที่บ้าน (HI) ฯลฯ โดยได้รับการจัดการอย่างถูกต้องร้อยละ 90.85 โดยไทยมีการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ มีการพัฒนางานวิชาการมาตรฐาน และงานวิจัยด้านการจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ และได้แนะนําให้มีถังขยะแยกสําหรับทิ้งขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ยังระบุด้วยว่า ไทยมีอัตราการกําจัดขยะมูลฝอยอย่างไม่ถูกวิธีน้อยลงถึงร้อยละ 15 จากปี 2563 แต่ยังคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 (ร้อยละ 26.78) ของขยะมูลฝอยทั้งหมด เห็นได้ว่า แม้ไทยมีความสามารถและประสิทธิภาพในการกําจัดขยะมากขึ้น แต่ยังมีช่องว่างอีกมากที่รอการพัฒนาและปรับปรุงให้ดี ยิ่งขึ้น ในอนาคตหากไทยต้องการที่จะพัฒนาไปเป็นเมืองไร้ขยะ อาจพิจารณารูปแบบแนวทางกฎระเบียบข้อบังคับ และเทคโนโลยีจากเมืองไร้ขยะของประเทศจีนประกอบ
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู