การคมนาคมขนส่งที่สะดวกและครอบคลุมเป็นปัจจัยสําคัญที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินธุรกิจให้สูงขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมาเขตความร่วมมือกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macao Greater Bay Area) ดําเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อยกระดับการเดินทางทั้งทางบก ทางราง ทางน้ํา และทางอากาศ เพื่อให้เมือง GBA ของมณฑลกวางตุ้งสามารถเชื่อมกับฮ่องกงและมาเก๊าได้อย่างไร้รอยต่อและรวดเร็วยิ่งขึ้น ภายใต้แนวคิด ‘1 hour living circle” และแนวทางการพัฒนา “low altitude economy” หรือ “เศรษฐกิจการบินในระดับต่ํา
นับตั้งแต่เมื่อปี 2564 “เศรษฐกิจการบินในระดับต่ํา” (low altitude economy) ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน ฉบับที่ 14 เป็นครั้งแรก ซึ่งรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง โดยเฉพาะรัฐบาลนครกว่างโจวกับเมืองเซินเจิ้น ต่างกระตือรือร้นในการเดินหน้าพัฒนา “เศรษฐกิจการบินในระดับต่ํา” ทั้งในด้านโลจิสติกส์ สินค้าทั่วไป อาหาร รวมถึงผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลท้องถิ่นได้มีการสนับสนุนด้านนโยบายและการเงิน ทลายอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้การพัฒนา low altitude economy รุดหน้ารวดเร็วยิ่งขึ้น
ล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สํานักงานคมนาคมขนส่งเมืองเซินเจิ้น สํานักงานอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สารสนเทศเมืองเซินเจิ้น และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับ บริษัท Shekou International Cruise Home Port จํากัด บริษัท AutoFlight Aviation Technology (Shenzhen) จํากัด บริษัท HELI-EASTERN จํากัด บริษัท Shenzhen Low Altitude Industrial Development Service จํากัด และสมาคมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจการบินในระดับต่ําเมืองเซินเจิ้น ได้ดําเนินโครงการทดสอบการบินด้วยอากาศยานขึ้นลงแนวดิ่งพลังงานไฟฟ้า (Electric Vertical Take-Off and Landing: eVTOL) เส้นทาง
จูไห่ – เซินเจิ้น โดยใช้เวลาเพียง 20 นาที เร็วกว่าเดินทางโดยรถยนต์ที่ใช้เวลา 3 ชั่วโมง โครงการทดสอบดังกล่าว นับเป็นอีกขั้นของการพัฒนาเศรษฐกิจการบินในระดับต่ําของมณฑลกวางตุ้ง อีกทั้งเป็นการยกระดับการเดินทางใน GBA ให้อยู่ภายในเวลา 1 ชั่วโมงอีกด้วย
กว่างโจวและเซินเจิ้น ผู้นํา “low altitude economy” ของจีน
มีการออกนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจการบินในระดับต่ํา โดยกว่างโจวจัดสรรเงินสนับสนุนสูงสุด 30 ล้านหยวน (4.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้แก่โครงการที่ครอบคลุมด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การจัดตั้งสวนอุตสาหกรรม การให้บริการเที่ยวบินในระดับต่ํา เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัท EHang ซึ่งเป็นบริษัทอากาศยานไร้คนขับ (drone) ที่มีสํานักงานใหญ่อยู่ที่นครกว่างโจวได้เปิดบริการการบินเส้นทางท่องเที่ยว (aerial tourist sightseeing route) โดยใช้โดรนรุ่น EH216-S ซึ่งเป็นโดรนไร้คนขับที่ได้รับ standard airworthiness certificate เป็นครั้งแรกของโลก
ในส่วนของเมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นเมืองต้น ๆ ที่มีอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles :UAVs) และอยู่ในระดับแนวหน้าของจีน ปัจจุบันเซินเจิ้นมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการบินในระดับต่ํา มากกว่า 1,500 แห่ง เมื่อปี 2565 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 75,000 ล้านหยวน (10,600 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ) และเมื่อเดือนธันวาคม 2566 สํานักงานคมนาคมขนส่งเมืองเซินเจิ้นได้ออกมาตรการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพสูง ซึ่งครอบคลุมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจการบินในระดับต่ําด้วย นอกจากนี้ เซินเจิ้นยังได้จัดสรรงบประมาณกว่า 50 ล้านหยวน (7.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อมอบเป็นเงินอุดหนุนให้แก่วิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลเมืองเซินเจิ้นมีเป้าหมายส่งเสริมการจัดตั้งวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการบินในระดับต่ํา มากกว่า 1,700 แห่ง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100,000 ล้านหยวน (14,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2568
การเติบโตรูปแบบใหม่ (new growth)
แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่พึ่งพาการพัฒนาอากาศยานที่มีคนขับและไร้คนขับที่ทําการบินในระดับต่ํา นับเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตรูปแบบใหม่ (new growth) ทางเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้ง โดยมีนครกว่างโจว และเมืองเซินเจิ้นเป็นผู้นํา การเติบโตของเศรษฐกิจการบินในระดับต่ําอาศัยพื้นฐานการพัฒนาของอุตสาหกรรม UAV อุตสาหกรรมสารสนเทศดิจิทัลและการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างแข็งขัน ซึ่งนอกจากจะเป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มพลวัตรให้กับอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมแล้ว ยังเป็นการยกระดับการเดินทางให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเดินทางระหว่าง GBA ภายใน 1 ชั่วโมงอีกด้วย
การกําหนดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งอยู่เดิมจะยิ่งเป็นการสร้างแรงขับเคลื่อนที่แข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ประเทศไทยในฐานะที่มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งน่าจะยิ่งสามารถต่อยอดการเติบโตโดยใช้เทคโนโลยี UAV เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับนักท่องเที่ยว หรือยกระดับการเดินทางในเขตเมืองเพื่อเป็นทางออกสําหรับจราจรที่แออัด เป็นต้น
ทั้งนี้ การนํา เทคโนโลยี UAV มาใช้ในด้านโลจิสติกส์หรือการโดยสารสําหรับประเทศไทย ยังคงต้องมีการดําเนินการด้าน กฎหมายควบคุมและบริหารจัดการ การพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ทางอากาศ (air space) การเสริมสร้างการรับรู้ และการยอมรับของท้องถิ่น การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากร ตลอดจนการคํานึงถึงประเด็นด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง การมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนรัฐและเอกชนที่ครอบคลุม ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานสําคัญสําหรับการใช้เทคโลยี UAV ในเชิงพาณิชย์และเป็นประเด็นที่ไทยน่าจะสามารถศึกษาจากมณฑลกวางตุ้งเพื่อเป็นแนวทางในการประยุกต์และต่อยอดให้เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่นของไทย
ผู้ที่สนใจ สามารถอ่านเกี่ยวกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ ของจีนได้ที่เว็บไซต์ของ https://thaibizchina.com/
ข้อมูล: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว