หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของจีน รัฐบาลท้องถิ่นของเมืองใน Greater Bay Area (GBA) ต่างกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการดำเนินโครงการส่งเสริมการบริโภค สนับสนุนการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างเมือง GBA ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น แต่ยังไม่เต็มที่ โดยขนาดเศรษฐกิจของเมืองใน GBA ทั้ง 11 เมือง (รวมฮ่องกงและมาเก๊า) มีมูลค่า 13.89 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 1.92 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวร้อยละ 6.55
โดย 9 เมือง GBA ของมณฑลกวางตุ้ง (นครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น เมืองฝอซาน เมืองตงก่วน เมืองฮุ่ยโจว เมืองจูไห่ เมืองจงซาน เมืองเจียงเหมิน และเมืองจ้าวชิ่ง) มี GDP 11.02 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 1.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งเป็นการขยายตัวได้ในระดับปานกลาง ขณะที่ GDP ของฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 3.2 และมาเก๊า ขยายตัวร้อยละ 80.5 เมื่อเทียบกับปี 2565
ทั้งนี้ การค้าระหว่างประเทศของ 9 เมือง GBA ของมณฑลกวางตุ้งขยายตัวได้น้อย โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 7.95 ล้านล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 0.4 ซึ่งแบ่งเป็นการส่งออก 5.23 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.23 และการนําเข้า 2.71 ล้านล้านหยวน ลดลงร้อยละ 4.3 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น สินค้าส่งออกที่เติบโตสูงที่สุด ได้แก่ ยานยนต์ แบตเตอรี่ลิเทียม และแบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์ โดยเมืองเซินเจิ้นมีบทบาทหลักในด้านการค้าระหว่างประเทศมากที่สุดใน 9 เมือง GBA คิดเป็นร้อยละ 45.8
การดําเนินงานปี 2567
รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งจะยังคงให้ความสำคัญต่อภารกิจเพื่อการเชื่อมโยงกันระหว่าง 3 พื้นที่ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการเชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ (seamless) ของมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า ใน 7 ด้าน ประกอบด้วย
- (1) การไหลเวียนของข้อมูล บุคลากรที่มีศักยภาพ โลจิสติกส์ และเงินทุน (Elements Connect)
- (2) โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลใหม่ (Base Connect)
- (3) ข้อมูลของหน่วยงานด้านการตลาดเพื่อการลงทุนและพัฒนาธุรกิจ (Business Connect)
- (4) ส่งเสริมการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมดิจิทัลเพื่อการพัฒนาร่วมกัน (Industry Connect)
- (5) การบริการและการกำกับดูแลทางสังคม (Governance Connect)
- (6) การบริการสาธารณะ เพื่ออํานวยความสะดวกแก่ประชาชน (Life Connect) และ
- (7) เร่งพัฒนาเมืองที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกของมณฑลกวางตุ้ง (Digital Integration Connect)
ทั้งนี้ มณฑลกวางตุ้งยังได้เผยทิศทางการพัฒนา GBA ในปี 2567 เช่น
(1) การพัฒนาภายใต้แนวทาง ‘การพัฒนาคุณภาพสูง’ โดยจะเร่งพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ GBA บรรลุเป้าหมายการเป็นกลุ่มเมืองระดับโลก (world-class city cluster) โดยมีนครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น ฮ่องกง และมาเก๊าเป็นแกนหลัก อาทิ การจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมนานาชาติ GBA เป็นต้น และ
(2) การยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตให้ทันสมัยโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและสิ่งทอ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เป็นต้น อุตสาหกรรมใหม่ เช่น วงจรรวม การกักเก็บพลังงานรูปแบบใหม่ (ESS) วัสดุใหม่ จอแสดงผลความละเอียดสูง (UHD) การผลิตเชิงชีวภาพ และการบิน เป็นต้น และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น 6G เทคโนโลยีควอนตัม ชีววิทยาศาสตร์ และหุ่นยนต์ เป็นต้น
ความท้าทายและอุปสรรค
(1) เมืองใน GBA ยังคงประสบปัญหาการพัฒนาที่เป็นคอขวดและความเหลื่อมล้ำสูง โดยระดับการพัฒนาระหว่างนครกว่างโจวและเมืองเซินเจิ้นกับเมือง GBA อื่นในมณฑลกวางตุ้งมีระดับการพัฒนาแตกต่างกันค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี ในปี 2567 มณฑลกวางตุ้งมีแผนดำเนินโครงการปัญหาด้านเกษตรกรรม พัฒนาชนบท และช่วยเหลือเกษตรกร ภายใต้ภารกิจ ‘three rural issues’ รวมถึงภารกิจยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยจัดสรรงบประมาณกว่า 1 แสนล้านหยวน (14,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปว่า มณฑลกวางตุ้งจะสามารถลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวนี้ได้อย่างไร
(2) สงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการยกระดับในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของ GBA อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้จัดสรรงบประมาณมหาศาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาโดยหวังว่าจะสามารถลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และก้าวสู่การเป็นผู้นําทางด้านเทคโนโลยีของโลกได้ในอนาคต โดยเมืองเซินเจิ้นจัดสรรงบประมาณมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 5.81 ของ GDP ของเมืองเซินเจิ้น
(3) สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก รวมถึงอุปสงค์ภายในของจีนที่อ่อนแอยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้การค้าระหว่างประเทศของ GBA ยังเติบโตต่ำ ในส่วนของอุปสงค์ภายใน ถึงแม้รัฐบาลท้องถิ่นจะออกมาตรการและกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการส่งเสริมการบริโภคสินค้าที่ส่วนใหญ่ผลิตในจีน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ซึ่งมีนัยให้อุปสงค์ต่อสินค้าจากต่างประเทศลดลง
(4) ปัญหาอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ฟื้นตัว ยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญของ 9 เมือง GBA ของมณฑลกวางตุ้ง ภายหลังการปรับปรุงมาตรการเพื่อเปิดกว้างให้กับชาวฮ่องกงและมาเก๊าสามารถเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ใน 9 เมือง GBA ของมณฑลกวางตุ้งได้ กอปรกับการเร่งแก้ไขปัญหาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่องด้วยการจัดทำ ‘whitelist’ สำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้ได้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้อุปสงค์ของภาคอสังหาริมทรัพย์กลับคืนมาได้หรือไม่
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์